เครือข่ายสุขภาพฯปักหลักหนุนแพทย์ชนบท ต้านนโยบาย รมว.สธ.

สังคม
22 เม.ย. 56
09:13
59
Logo Thai PBS
เครือข่ายสุขภาพฯปักหลักหนุนแพทย์ชนบท ต้านนโยบาย รมว.สธ.

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแถลงการณ์หนุนการต่อสู้แพทย์ชนบท ซัดรัฐบาลไม่จริงใจ กดดันหมอไปเอกชนทิ้งชนบทมีปัญหา

 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2556 นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้ออกแถลงการณ์มีจุดยืนสนับสนุนการต่อสู้ของชมรมแพทย์ชนบทคัดค้านการนำระบบพีฟอร์พีมาใช้ในรพ.ชุมชน และเห็นว่าการะกระทำของรัฐบาลเพื่อไทยที่ผ่านมาสวนทางกับคำพุดสวยหรูที่บอกว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพให้ประชาชน แต่การกระทำกลับตรงกันข้าม สิ่งที่เกิดขึ้นคือในกระทรวงสาธารณสุขกำลังสร้างความแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลในเมืองกับชนบท ทำให้หมอที่มีจิตใจเพื่อคนชนบทท้อแท้ หมดกำลังใจและส่งผลต่อคุณภาพการรักษาของประชาชนคนชนบท

 
“กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ ระดมกันป้ายในจังหวัดต่างๆ เพื่อแสดงความต้องการให้รัฐบาลประกันว่าคนชนบทจะมีหมออย่างเพียงพอและเป็นหมอมีอุดมการณ์ไม่ใช่หมอในธุรกิจโรงพยาบาล ขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกมารับผิดชอบเหตุการณ์นี้ด้วย ไม่ใช่ปล่อย รมว.สธ. กับหมอบางกลุ่มว่ากันไปโดยไม่สนใจชาวบ้านต่อไป” นางสาวสุรีรัตน์ กล่าว
 
 ทั้งนี้ ในแถลงการณ์กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ตั้งคำถามถึงความจริงใจรัฐบาล เรื่องการรักษาประชาชน โดยระบุว่า.....
 
ความเป็นธรรมในระบบหลักประกันสุขภาพคือประชาชนทุกคนได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตด้วยมาตรฐานและคุณภาพเดียวกัน ซึ่งเป็นจุดยืนของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มีนายกยิ่งลักษณ์นำทีมบริหาร และได้รับคะแนนเสียงจากพี่น้องในชนบทอย่างท่วมท้น แต่เหตุการณ์ในแวดวงสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพในช่วงเดือนที่ผ่านมานั้น เริ่มเผยให้เห็นธาตุแท้ของนักการเมืองในคราบนักธุรกิจ ที่ทำให้บริการสุขภาพเป็นสินค้า เพื่อกำไรสูงสุด และส่งผลต่อชีวิตของคนชนบททั้งมวล การที่ รมว.สธ. ประดิษฐ์ นำเรื่องเบี้ยขยัน P4P มาใช้กับแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และบุคคลากรอื่นในโรงพยาบาลชุมชนนั้นเป็นการกระทำที่เอื้อต่อการทำลายล้างอุดมการณ์ของหมอพยาบาลในต่างจังหวัดโดยสิ้นเชิง บีบคั้นให้บุคคลากรต้องออกจากระบบรัฐ ไปสู่ระบบรพ.เอกชน ที่เป็นเสือนอนกิน ปัญหานี้ดำเนินมาเนิ่นนาน
 
ประชาชนเสียภาษีให้รัฐนำไปจ่ายค่าเล่าเรียนหมอปีหนึ่งเป็นพันคน ผลิตหมอออกมาจนถึงปัจจุบันกว่า๔ หมื่นคน แต่มีเหลือหมอปฏิบัติการในชนบทเพียง ๓ พันคน ที่ยังยืนหยัดอยู่ได้เพราะมีเบี้ยเหมาจ่ายตามวิชาชีพและการยอมอยู่ในโรงพยาบาลที่ไม่ใช่เขตเมือง การเปลี่ยนจากเบี้ยเหมาจ่ายที่ช่วยทำให้หมอชนบทมีค่าตอบแทนใกล้เคียงกับหมอในเมืองไปเป็นเบี้ยขยัน ทำงานมากได้เงินมากซึ่งเหมาะกับหมอในโรงพยาบาลในเมืองมากกว่าเป็นการสร้างความแตกต่างระหว่างหมอด้วยกัน แต่กระทรวงกลับนำมาใช้ทั้งระบบถือเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมต่อประชาชนคนชนบทที่จะได้รับผลกระทบแน่นอน เป็นที่น่าสงสัยว่าเบื้องหลังคือรัฐบาลไม่ได้เห็นใจประชาชนอย่างแท้จริง ปากพูดว่าทำโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความปรองดอง โดยเฉพาะขัดแย้งกับสิ่งที่สัญญากับประชาชนเมื่อตอนเลือกตั้งว่าจะเข้ามา “แก้ปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหา”
 
สิ่งที่เกิดขึ้นคือในกระทรวงสาธารณสุขกำลังสร้างความแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลในเมืองกับชนบท ทำให้หมอที่มีจิตใจเพื่อคนชนบทท้อแท้ หมดกำลังใจและส่งผลต่อคุณภาพการรักษาของประชาชนคนชนบท
 
สิ่งที่น่ากังขาอีกเรื่องหนึ่ง คือการยื่นเรื่องให้ดีเอสไอ ดำเนินการสอบสวนองค์การเภสัชกรรม  ทั้งที่องค์การเภสัชกรรมถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้กระทรวงสธ.เอง เป็นฐานความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของประเทศการกระทำนี้เหมือนกับจะทำลายชื่อเสียงขององค์การฯทั้งที่เป็นเรื่องที่สามารถจัดการภายในได้ หากองค์การเภสัชจะถูกแทรกแซง โดยเบียดเอาผู้บริหารเดิมออก เพื่อจะสอดแทรกคนของตนเข้ามา จะมั่นใจได้เพียงใดว่าองค์การเภสัชจะยังบริหารงานเพื่อประชาชนมากกว่าบริหารแบบธุรกิจตามถนัด
 
 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จึงสนับสนุนการต่อสู้ของชมรมแพทย์ชนบท กลุ่มผู้ป่วยและบุคลากรในชนบท เพื่อหลักประกันว่าคนชนบทจะมีหมออย่างเพียงพอ คัดค้านคำพูดของหมอโรงพยาบาลจังหวัดที่บอกว่า ไม่ต้องกลัวว่าหมอชนบทจะลาออก เพราะมีหมอจบใหม่ไปทำงานให้รพ.ชุมชนอยู่แล้ว หมุนเวียนเปลี่ยนไป การพูดเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าหมอในเมืองสบายแล้ว หมอชนบทประชาชนชนบทจะเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไปตามสภาพ  กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจะระดมกันขึ้นป้ายในจังหวัดต่างๆ เพื่อแสดงความต้องการให้รัฐบาลประกันว่าคนชนบทจะมีหมออย่างเพียงพอและเป็นหมอมีอุดมการณ์ไม่ใช่หมอในธุรกิจโรงพยาบาล ขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกมารับผิดชอบเหตุการณ์นี้ด้วย ไม่ใช่ปล่อย รมว.สธ. กับหมอบางกลุ่มว่ากันไปโดยไม่สนใจชาวบ้านต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง