เปิดงานวิจัย "ภาวะสมาธิสั้น" พบด.ช.บกพร่องการเรียนรู้มากกว่า ด.ญ.

สังคม
26 เม.ย. 56
08:57
981
Logo Thai PBS
 เปิดงานวิจัย "ภาวะสมาธิสั้น" พบด.ช.บกพร่องการเรียนรู้มากกว่า ด.ญ.

มศว เผย สพฐ.ของานวิจัยเป็นข้อมูลเพื่อหนุนนโยบาย ศธ. ด้านนักวิจัยชวนผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมวิชาการ พ.ค.นี้

 รศ.ดารณี ศักดิ์ศิริผล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาพิเศษ (RISE) เปิดเผยว่า มศว ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ (Learning Disabilities) หรือเรียกว่าเด็กแอลดีมาอย่างต่อเนื่อง เด็กจะมีปัญหาทางการเรียนรู้ ซึ่งได้แก่การอ่าน การเขียน การฟังและการคิดตลอดถึงการคำนวณ เด็กจะคิดช้า อ่านช้าเขียนหนังสือผิดสะกดคำผิด จนทำให้ไม่ชอบและไม่สนใจในการเรียน เบื่อหน่ายโรงเรียน หากครูไม่เข้าใจก็จะมองเด็กกลุ่มนี้ว่าเป็นเด็กมีปัญหาและทอดทิ้งเด็ก 

 
จากผลงานวิจัยยังพบว่า นอกจากจะมีความบกพร่องทางการเรียนรู้แล้ว เด็กกลุ่มนี้ยังมีโอกาสอยู่ในภาวะสมาธิสั้นด้วย ซึ่งจากการศึกษาโรงเรียนในเขตกทม.พบว่า เด็กที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ป.1-3 เป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ 3.57% และส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงประมาณ 3 :1 % คือถ้าพบเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ที่เป็นผู้ชาย 3 คน จะพบเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ที่เป็นผู้หญิง 1 คน และจะพบในเด็กชั้นประถมปีที่ 2 มากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นนักเรียที่มีความบกพร่องด้านการอ่านและการเขียนมากที่สุด 
 
นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่าในจำนวนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ยังมีภาวะสมาธิสั้นร่วมด้วยถึง 23.76% ซึ่งภาวะสมาธิเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของสมองบางส่วน ส่งผลกระทบต่อการเรียน พฤติกรรม อารมณ์และการเข้าสังคมกับผู้อื่น เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นจะไม่สามารถควบคุมตัวเองให้มีความสนใจหรือมีสมาธิในสิ่งที่กำลังกระทำภายในระยะเวลาที่กำหนด และมีพฤติกรรมที่อยู่ไม่นิ่ง กลุ่มอาการสมาธิสั้นประกอบด้วย 3 กลุ่มอาการใหญ่ๆ ได้แก่ ขาดสมาธิ (Attention deficit) หุนหันพลันแล่น/วู่วาม (Hyperactivity) และซน/ไม่อยู่นิ่ง (Impulsivity) 
 
กลุ่มอาการสมาธิสั้นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กก่อนอายุ 7 ปี เด็กที่อยู่ในกลุ่มอาการขาดสมาธิจะมีลักษณะวอกแวกง่าย ขาดความตั้งใจในการทำงาน มีอาการเหม่อลอย ฝันกลางวัน ทำงานไม่เสร็จ ผลงานไม่เรียบร้อย ขี้ลืมทำของใช้ส่วนตัวหายบ่อยๆ มีการเหมือนไม่สนใจฟังเวลาคนอื่นพูด เมื่อสั่งให้ทำงานอะไรมักจะลืมหรือทำครึ่งๆ กลางๆสำหรับเด็กที่มีอาการหุนหันพลันแล่น มีลักษณะวู่วามใจร้อน ลงมืvทำอะไรก่อนที่จะคิดตรึกตรองเสมอ ไม่คิดถึงผลที่จะตามมา ขาดความระมัดระวัง ซุ่มซ่าม รอคอยไม่ได้ พูดโพล่ง พูดแทรก มักตอบคำถามที่ยังถามไม่จบ 
 
ส่วนเดHกที่มีอาการซนจะมีลักษณะอยู่ไม่นิ่ง ยุกยิกตลอดเวลานั่งนิ่งไม่ค่อยได้ ต้องลุกเดินหรือขยับตัวไม่มา เล่นเสียงดัง พูดไม่หยุด ชอบเล่นหรือแหย่ผู้อื่น ชอบเล่นผาดโผน และมักประสบอุบัติเหตุบ่อยๆ จากความไม่ระมัดระวัง ที่น่าสังเกตว่าพบเด็กชั้นป.2 มากที่สุดก็เพราะตอนนักเรียนอยู่ชั้นอนุบาล –ป.1 ครูยังไม่ค่อยได้สนใจการอ่านการเขียน การคิดและการพูดของนักเรียนมากนัก แต่พอผ่านชั้นป.1 ขึ้นป.2 ครูเริ่มอยู่กับเด็ก คุ้นเคยและใส่ใจเด็กมากขึ้นจึงเห็นปัญหาด้านความบกพร่องทางการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้นๆ 
 
สำหรับชั้นป.3 เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้มีจำนวนน้อยลง เพราะได้รับการแก้ไขเมื่อครูมองเห็นปัญหาและข้อบกพร่องของเด็กนักเรียน ทั้งนี้งานวิจัยยังพบอีกว่าเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้จำนวนหนึ่งมีระดับสติปัญญาอยู่ในระดับสูงกว่าปานกลางจนถึงขั้นเฉลียวฉลาดด้วย
 
“การคัดกรองเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการคัดกรองเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับปฐมวัย เพื่อป้องกันปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ คิดคำนวณไม่เป็นตั้งแต่แรกเริ่ม จากการศึกษาข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาในเรื่องการช่วยเหลือเด็กนั้นยังระบุ หากผู้เกี่ยวข้องช่วยเหลือเด็กที่มีความยากลำบากในการอ่าน ก่อนที่เด็กจะมีอายุ 9 ปี หรือเด็กกำลังเรียนอยู่ชั้นป.3 เด็กจำนวนร้อยละ 90 ที่มีปัญหาด้านการอ่าน จะมีความสามารถอ่านออกเขียนได้เช่นเดียวกับเด็กปกติ”
 
รศ.ดารณี กล่าวว่า เห็นด้วยที่สพฐ.ให้ความสำคัญกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หากแต่ต้องมีข้อมูลและมีงานวิจัยสนับสนุนในการทำงาน มีโอกาสได้ไปพูดบรรยายเรื่องเด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยเฉพาะเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ทำให้สพฐ.เห็นว่ามศว มีงานวิจัยด้านนี้และมศวทำงานด้านนี้มานาน จึงขอผลงานวิจัยเรื่องนี้เพื่อจะนำเป็นข้อมูลในดำเนินนโบยายการทำงานและสนับสนุนพร้อมแก้ไขปัญหาของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทาง มศว ยินดีมอบงานวิจัยชิ้นนี้ให้เพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษา การจะแก้ปัญหาการศึกษานั้น ควรจะมีฐานข้อมูลที่มากเพียงพอ และต้องทำงานให้เป็นระบบด้วย 
 
ในวันที่ 9-10 พ.ค.2556 มศว มีโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง งานวิจัยทางการศึกษาพิเศษ ครั้งที่ 3 มิติใหม่การวิจัยทางการศึกษาพิเศษในศตวรรษที่ 21: Mixed Method ณ อาคารนวัตกรรม ศ.ดร.สาโรช บัวศรี มศว ขึ้น โดยเปิดให้ ครู อาจารย์ ครูการศึกษาพิเศษและผู้สนใจได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอดถึงงานวิจัยชิ้นนี้ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง