เครือข่ายประชาสังคมฯ แนะกระจายอำนาจการศึกษาไปชุมชนท้องถิ่น แทนการยุบรวมโรงเรียน

สังคม
11 พ.ค. 56
07:41
98
Logo Thai PBS
เครือข่ายประชาสังคมฯ แนะกระจายอำนาจการศึกษาไปชุมชนท้องถิ่น แทนการยุบรวมโรงเรียน

เครือข่ายประชาสังคมด้านการศึกษาที่ออกแฉลงการณ์คัดค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการผูกขาดอำนาจการจัดการศึกษาไว้กับกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งกระจายอำนาจไปที่ชุมชนท้องถิ่น แทนการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เหมือนกับ ชุมชนท่าสะท้อน จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ดำเนินการไว้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

นโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน มีอยู่ประมาณ 6,000 แห่งทั่วประเทศ กำลังถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ในสื่อสังคมออนไลน์ และกระแสจากผู้ปกครองในหลายพื้นที่ที่โรงเรียนเข้าข่ายจะถูกยุบ มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชี้แจงว่า นโยบายนี้มีเป้าหมายให้สำรวจคุณภาพ การยุบ หรือ ควบรวมต้องทำอย่างรอบคอบ

โรงเรียนบ้านตาชู อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันมีนักเรียน 3 คน กับ ครูอีก 1 คน สภาพในโรงเรียน ยังมีอาคารเรียน 1 หลัง 4 ห้องเรียน และ 1 ห้องอนุบาลบนเนื้อที่ 3 ไร่

ก่อนหน้านี้โรงเรียนบ้านตาชู มีนักเรียน 150 คน แต่ระยหลังผู้ปกครอง ส่งบุตรหลานไปเรียนที่อื่น ชาวบ้านส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับการยุบโรงเรียนบ้านตาชู เพราะโรงเรียนที่จะย้าย ห่างไปเพียงแค่ 3 กิโลเมตร

โรงเรียนมาลาศีตะจิตต์ ตำบลธารน้ำทิพย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีนักเรียนน้อยกว่า ต่ำกว่า 60 คน คือ มีนักเรียน 22 คน ครู 3 คน และมีกำหนดยุบรวมกับโรงเรียนธารน้ำทิพย์ ที่มีนักเรียนอยู่ 50 คน และครู 4 คน ในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2556 นี้ แต่ผู้ปกครองนักเรียน ไม่เห็นด้วยกับการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะเกรงว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

คณะกรรมการชุมชน และผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนบ้านคลองประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ กังวลว่า โรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบอาจกลายเป็นแหล่งมั่วสุม และบางพื้นที่อาจขัดวัตถุประสงค์ที่มีผู้บริจาคที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียน สำหรับจังหวัดกระบี่ ในปีการศึกษา 2556 นี้ มีโรงเรียนขนาดเล็กที่จะถูกยุบจำนวน 14 โรงเรียน

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชี้แจง ว่า ไม่ได้ตั้งเป้าหมายยุบโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด เพราะการ ยุบหรือควบรวมโรงเรียน ทำให้นักเรียนไม่มีที่เรียนนั้น ทำไม่ได้

แต่เป็นหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่งต้องสำรวจจัดทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนเหล่านั้นให้มีคุณภาพ  และยึดประโยชน์ผู้เรียน รวมทั้งพิจารณาอย่างรอบคอบให้ชุมชนรับรู้ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาด้านคุณภาพ การขาดแคลนทรัพยากร ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง