ปัญหานักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนในเอเชีย

ต่างประเทศ
19 มิ.ย. 56
15:39
124
Logo Thai PBS
ปัญหานักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนในเอเชีย

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเวียดนามได้รับการจับตามากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนให้หลังที่มีการตัดสินจำคุกบล็อกเกอร์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไปแล้ว 3 คน ในกระบวนการยุติธรรมที่รวบรัด ขณะเดียวกัน มีรายงานว่านักกฎหมายของเวียดนามที่ถูกตัดสินจำคุกเมื่อ 2 ปีก่อน ยังคงอดอาหารประท้วงต่อเนื่องเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 ซึ่งสร้างความกังวลแก่ครอบครัวว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

ภรรยาของนายกู ฮุย หา หวู นักกฎหมายที่ถูกติดสินจำคุกเมื่อ 2 ปีก่อน เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม แสดงความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของนายหา หวู เนื่องจากเขาอดอาหารประท้วงรัฐบาลมา 22 วันแล้ว ซึ่งอาจส่งผลต่ออาการของโรคหัวใจ และอาจเสี่ยงจะทำให้เกิดอาการหลอดเลือดในสมองได้ การอดอาหารประท้วงของนายหา หวู เกิดจากความไม่พอใจสภาพ และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เรือนจำ ที่เขาอ้างว่ากระทำการทรมานสภาพจิตใจผู้ต้องขัง เช่น เปิด - ปิดประตูห้องขังของเขาอยู่บ่อยๆ ไม่ยอมให้อยู่ลำพังกับภรรยาขณะที่เข้ามาเยี่ยมในห้องเยี่ยม

รวมทั้งฉีกหน้าหนังสือที่ภรรยาเอามาฝากให้อ่าน รวมทั้งมีรายงานว่าบ้านพักของเขา ก็มีเจ้าหน้าที่คอยสอดส่องอยู่ตลอดเวลา และเมื่อยื่นข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ กลับไม่ได้รับการตอบสนอง ทั้งที่ตามกฎหมายบังคับให้เรียนจำต้องตอบข้อร้องเรียนของนักโทษภายใน 2 สัปดาห์ เขาจึงอดอาหารประท้วง

การอดอาหารประท้วงของนายหา หวู เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เพิ่มความเข้มงวดปราบปรามกลุ่มผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอีกครั้ง โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม ศาลเพิ่งตัดสินลงโทษบล็อกเกอร์ 3 คน ในคดีใช้เสรีภาพประชาธิปไตยเกินขอบเขต ซึ่งได้รับการจับตาว่าเป็นความพยายามของรัฐ เพื่อลดกระแสวิจารณ์ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจประเทศ และความโปร่งใสในการบริหารวิสาหกิจขนาดใหญ่ของรัฐที่กลายเป็นประเด็นอื้อฉาว

ส่วนกรณีของนายเฉิน กวง เฉิง นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนตาบอด ชาวจีน ที่ต้องออกจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยอ้างว่าให้ทุนการศึกษาเพียง 1 ปี กำลังกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงเสรีภาพทางการศึกษาในสหรัฐอเมริกา เพราะนายเฉินออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกรณีนี้ว่าเป็นเพราะมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ซึ่งกำลังจะเปิดสาขาในนครเซี่ยงไฮ้ของจีนในเดือนกันยายนนี้ ถูกรัฐบาลจีนกดดันอย่างหนักเกี่ยวกับเรื่องของเขา จึงตัดทุนการศึกษา เพื่อให้เขาต้องหางานทำ จะได้ไม่มีเวลาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน

แม้มหาวิทยาลัยนิวยอร์คจะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ และระบุว่ามหาวิทยาลัยแจ้งนายเฉินตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะให้ทุนการศึกษาเป็นเวลา 1 ปี เพื่อช่วยให้นายเฉินได้เริ่มต้นชีวิตใหม่กับครอบครัวที่สหรัฐอเมริกาได้อย่างรวดเร็ว แต่ ส.ส. ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ระบุชัดเจน ว่าก่อนหน้านี้ ทางมหาวิทยาลัยก็พยายามจำกัดความเคลื่อนไหวของนายเฉิน รวมทั้งจับตาบทสนทนาระหว่างตัวแทนของคณะอนุกรรมาธิการกับนายเฉินด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่สถานบันการศึกษาจะเป็นผู้จำกัดเสรีภาพของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเสียเอง เพื่อแลกกับการสร้างสัมพันธ์ทางการศึกษาระดับสูงกับจีน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง