"ตู้เย็นผีสิง" ในละครเวทีลัดดาแลนด์

Logo Thai PBS
"ตู้เย็นผีสิง" ในละครเวทีลัดดาแลนด์

การนำภาพยนตร์ที่เป็นที่รู้จักมาดัดแปลงใหม่ในรูปแบบละครเวที เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ผู้ผลิตละครเวทีเลือกใช้เพื่อดึงดูดผู้ชม ซึ่งเสน่ห์ของละครเวทีที่ต่างจากแผ่นฟิล์ม โดยเฉพาะการใช้เทคนิคพิเศษและการแสดงสดอยู่ตรงหน้า อาจเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ละครเวทีสามารถแข่งขันกับสื่อบันเทิงประเภทอื่นได้

จากที่เป็นตู้เย็นว่างเปล่า แต่เมื่อเปิดออกมาอีกครั้งกลับพบร่างไร้วิญญาณของหญิงสาวนอนขดอยู่ข้างใน นี่คือตู้เย็นผีสิงหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่ใช้เล่าเรื่องราวของละครเวทีเรื่องลัดดาแลนด์ ที่ถูกออกแบบพิเศษให้ด้านที่ติดกับฉากหลังเป็นทางเข้าออกของนักแสดง อีกทั้งสามารถขยับได้เองเพื่อเขย่าขวัญผู้ชมที่ไม่ทันตั้งตัว การใช้เทคนิคงานออกแบบฉากและการแสดงสดบนเวที ที่ผู้ชมได้ใกล้ชิดและสื่อสารกับนักแสดงได้มากกว่าภาพยนตร์ ที่ผลิตมาสำเร็จและผ่านการตัดต่อมาแล้ว ดูจะเป็นจุดขายที่ผู้ผลิตละครเวทีใช้เรียกคนดู และสร้างความแตกต่างจากภาพยนตร์ต้นฉบับที่เคยประสบความสำเร็จเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

เมื่อตัวละครผีปรากฏตัว ผู้ชมจะได้กลิ่นเน่าเหม็นตามมาด้วย เทคนิค 4 มิติเพิ่มสัมผัสทางกลิ่นที่เคยทำให้ละครเวทีเรื่อง "เรื่องเล่าคืนเฝ้าผี" เมื่อ 2 ปีที่แล้วประสบความสำเร็จจนต้องนำกลับมาแสดงเป็นรอบที่สอง ซึ่งเทคนิคนี้เคยถูกใช้ในการแสดงภาพยนตร์เรื่องแม่นาคพระโขนงที่ศาลาเฉลิมกรุงมาก่อน ด้วยการจุดธูปหน้าเครื่องปรับอากาศเพื่อให้กลิ่นเข้าไปในโรงภาพยนตร์ แม้ความสำเร็จจากการเคยออกฉายในรูปแบบภาพยนตร์อาจเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ละครเวทีเป็นที่สนใจ หากหลายครั้งที่ลูกเล่นเทคนิคตระการตามีส่วนสำคัญ ที่ทำให้ละครเวทีเป็นที่นิยมท่ามกลางการแข่งขันกับสื่อบันเทิงประเภทอื่นๆ ทั้ง "แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล" อาศัยเทคนิคการใช้สลิงให้ตัวละครเหาะอยู่บนอากาศ เช่นเดียวกับละครบรอดเวย์ชื่อดังอย่าง Spider Man ที่นักแสดงใช้สลิงห้อยโหนผ่านคนดู รวมทั้ง Lion King ที่โดดเด่นเรื่องการออกแบบเครื่องแต่งกายและเป็นละครบรอดเวย์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลที่ 853 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตั้งแต่แสดงครั้งแรกในปี 1997


ข่าวที่เกี่ยวข้อง