"กรมเจ้าท่า"เผย จำกัดวงของการเคลื่อนตัวคราบน้ำมันได้แล้ว

สังคม
31 ก.ค. 56
04:23
101
Logo Thai PBS
"กรมเจ้าท่า"เผย จำกัดวงของการเคลื่อนตัวคราบน้ำมันได้แล้ว

ท่ามกลางความกังวลใจของนักสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ถึงเหตุน้ำมันรั่วไหลในทะเลไทย และยังคงมีความเห็นต่างเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความคืบหน้าการกำจัดคราบน้ำมันนั้น กรมเจ้าท่า คาดว่า หากสภาพอากาศเป็นใจ วันนี้ (31 ส.ค.)น่าจะสามารถจัดการคราบน้ำมันทั้งหมดได้

ภาพที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชน ที่มีทั้งคราบน้ำมันที่เกาะตัวเป็นชั้นหนา บริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง ประกอบกับมีรายงานการกระจายตัวของคราบน้ำมันในอีกหลายพื้นที่ของเกาะ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า คราบน้ำมันส่วนใหญ่ที่เป็นชั้นหนาได้ถูกกำจัดไปแล้วบางส่วน ซึ่งกรณีมีข่าวว่ามีการแพร่กระจายไปนั้น เป็นคราบน้ำมันชั้นบางๆ ที่ลอยตัวอยู่เหนือผิวน้ำเท่านั้น

นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ด้วยภูมิประเทศและสภาพอากาศที่เป็นใจ ทำให้ขณะนี้ สามารถจำกัดการเคลื่อนตัวของคราบน้ำมัน ให้อยู่ในวงแคบ โดยเฉพาะที่อ่าวพร้าว ซึ่งไม่ได้มีการพัดพาไปที่บริเวณอื่น ๆ ต่อ นอกจากนี้ ฝนที่ตกลงมาเมื่อวานนี้ (30 ก.ค.) ทำให้คราบน้ำมันที่เป็นแผ่นฟิล์มบางๆ ฉาบผิวน้ำแตกตัวไปง่ายขึ้น

เบื้องต้นเชื่อว่า คราบน้ำมันหลักๆ น่าจะกำจัดได้หมดภายในวันนี้ เนื่องจากมีการร่วมมือกันของเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย ซึ่งหลังจากที่แก้ปัญหาคราบน้ำมันได้ เรียบร้อยหมดแล้ว จะเร่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และปรับปรุงภูมิทัศน์ของอ่าวพร้าวได้ ร้อยละ 80-90 โดยประเมินว่า จะต้องใช้เวลา 4-5 วัน

ส่วนกรณีการใช้สารกำจัดคราบน้ำมันนั้น น.ส.พรศรี มิ่งขวัญ ผู้อำนวยการส่วนแหล่งน้ำทะเล สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ข้อมูลเบื้องต้น ทราบว่า ตั้งแต่เกิดเหตุ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล ได้รายงานมาว่า ใช้สารกำจัดคราบน้ำมันไปแล้วจำนวน 32,000 ลิตร โดยสารที่ใช้มีเทคโลโนยีที่ ลดสารที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมให้ต่ำลงแล้ว และได้รับการยอมรับในต่างประเทศ

ขณะที่ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุน้ำมันรั่วไหลครั้งนี้ มีการวิเคราะห์และให้ข้อมูลอย่างกว้างขวาง และยังพบด้วยว่า ข้อมูลบางข้อมูลไม่สอดคล้องกัน

นายไพฑูรย์ มกกงไผ่ นักวิจัยจากส่วนงานวิจัยสิ่งแวดล้อมทางทะเล สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เห็นว่า วิธีการที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ อาจเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง แต่เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ ยังประเมินว่า สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะการสารเคมี จะทำให้คราบน้ำมันดำ แตกตัวเป็นขนาดที่เล็กลง และจะตกตะกอนลงใต้ท้องทะเล หากสัตว์น้ำกินเข้าไปจะส่งผลกระทบทันที และหากคราบน้ำมันไปอุดที่ช่องโพรงของปะการัง จะทำให้ปะการังและตัวอ่อนปะการังตายได้ภายใน 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับอานุภาพของคราบน้ำมันที่แตกตัวและตกลงไปและหากในบริเวณนั้นมีคราบน้ำมันจับตัวหนากั้นอยู่บริเวณผิวน้ำ จะทำให้ไม่มีอากาศ หรือออกซิเจนถ่ายเท จะทำให้วงจรของระบบห่วงโซ่อาหารถูกตัดขาด ซึ่งในระยะสั้นอาจยังเห็นผลไม่ชัด ดังนั้น จึงต้องเฝ้ามีการระวังอย่างใกล้ชิด

ด้านนายภุชงค์ สฤษฏีชัยกุล ผอ.ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1จังหวัดระยอง กล่าวว่า จากการตรวจสอบปะการังบริเวณอ่าวพร้าว เบื้องต้น ยังไม่พบว่ามีคราบน้ำมันเปื้อน มีเพียงตะกอนที่คละคลุ้ง จึงมั่นใจว่าบริเวณอื่นยังปลอดภัยกับคราบน้ำมัน แต่ก็ยังคงเฝ้าระวังอยู่ นอกจากนี้ ยังไม่มีรายงานการตายของสัตว์ทะเล และรายงานการถูกสารพิษหรือการเป็นอันตรายจากการลงเล่นน้ำที่เกาะเสม็ดของนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง