"อานันท์ ปันยารชุน" ชี้ความหลากหลาย "เชื้อชาติ-ศาสนา" ช่วยไทยแข็งแกร่ง

สังคม
16 ส.ค. 56
07:11
694
Logo Thai PBS
"อานันท์ ปันยารชุน" ชี้ความหลากหลาย "เชื้อชาติ-ศาสนา" ช่วยไทยแข็งแกร่ง

อดีตนายกรัฐมนตรี ชี้ ประวัติศาสตร์นิยาม "คนไทย" ไม่หลากหลาย ส่งผลแยกเชื้อชาติ-ดูถูกกันเอง ระบุ ความหลากหลายช่วยให้ประเทศไทยแข็งแกร่ง-ก้าวไปข้างหน้า

"ผู้นำกระเหรี่ยง" ขอรัฐเร่งฟื้นฟูวิถีชีวิต หลังมีมติครม.ตั้งคณะทำงาน แต่ยังไม่คืบหน้า

 
วันนี้ (16 ส.ค.56) ไทยพีบีเอส ร่วมจัดงาน งานพหุวัฒนธรรมกระเหรี่ยงกับสังคมไทย : วิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยน การแสดงทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยงและวิถีชีวิต  ของชาวปกเกอะญอ นำมาแสดงในงานพหุวัฒนธรรมกระเหรี่ยงกับสังคมไทย ที่จัดขึ้นเพื่อใช้เป็นเวทีในการพูดคุยที่นำไปสู่การฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอ
 
ปราชญ์ พะตีจอนี โอโดเดชา ผู้นำชาวกระเหรี่ยง กล่าวว่า ขณะนี้ชีวิตของชาวกระเหรี่ยงทั่วประเทศกว่า 40 เผ่า อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะการเข้ามาของธุรกิจเชิงเดี่ยว ทำให้วิถีชีวิตของ ชาวกระเหรี่ยงเปลี่ยนไป แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีมติครม.เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ให้มีการฟิ้นฟูวิถีชีวิต รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมาเป็นเวลา ซึ่งขณะนี้ ยังไม่ได้รับการแก้เท่าที่ควร เนื่องจาก ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตลอด จึงทำให้การดำเนินการแก้ไขขาดตอน และไม่ต่อเนื่อง 

    

 
ทั้งนี้ ต้องการให้ภาครัฐช่วยนำทางว่า ชาวกระเหรี่ยงควรมีแนวทางในการปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้ทั้งชาวกระเหรี่ยง, ภาครัฐ และป่าไม้ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
 
ด้านนายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ปัญหาของชาวกระเหรี่ยงนั้น เกิดขึ้นยาวนาน และมีความซับซ้อน เช่น ปัญหาเรื่องสัญชาติ หรือที่ดินทำกิน ทั้งนี้ การเข้ามาของสังคมออนไลน์ ส่งผลกระทบต่อทุกสังคม แต่ถึงอย่างไร ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องรักษารากวัฒนธรรมของตัวเองเอาไว้ ขณะเดียวก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เข้ากับสมัยปัจจุบันด้วย ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมจะมีการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาอีกครั้งหนึ่ง 
 
"อานันท์" ชี้ ยิ่งหลากหลาย "ไทย" ยิ่งเข้มแข็ง" แนะแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ
 
ด้านนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "พหุวัฒนธรรม และสังคมไทย"  โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า คนไทย คืออะไร และใครคือคนไทย ซึ่งการจำกัดความของคนไทยในประวัติศาสตร์นั้น มีการตีความหมายที่ยังไม่หลากหลายเท่าที่ควร โดยไม่ครอบคลุมความหลากหลายของเชื้อชาติ วิถีชีวิต และศานา จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องการแบ่งแยกเชื้อชาติ หรือสิ่งที่แตกต่างจากตัวเอง ซึ่งหากมีการยอมรับ และเคารพในสิ่งที่ทุกคนเป็น ไม่ดูถูกกันเอง จะทำให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง และแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น 
 
นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ไขปัญหาที่เป็นมาอย่างเรื้อรังให้หายไปได้จำนวนมาก โดยไม่มองว่า ความหลากหลายเป็นจุดอ่อนของประเทศ เพราะสิ่งนี้ คือ จุดแข็ง เพียงแต่ต้องนำจุดแข็งมาใช้อย่างถูกต้อง ด้วยการใช้ความจริงใจ และรับผิดชอบต่อหน้าที่เป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา
 
"มองคนให้เห็นว่าเป็นเพื่อนมนุษย์ เปิดใจให้กว้าง พยายามเข้าใจ อย่าไปมองเห็นความแตกต่างเป็นสิ่งที่น่าละอาย หรือเป็นอุปสรรค ต่อการสร้างมิตรภาพ ต้องมองว่าความแตกต่างนั้น ทำให้ประเทศชาติของเรามีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และอย่ามีอคติเด็ดขาด" นายอานันท์ กล่าว

    

 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สังคมไทยนั้น เปลี่ยนไปอย่างมาก เมื่อหลายคนอยากมีอำนาจ, ชื่อเสียงเงินทอง และบริวาร รวมไปถึงการทำบางสิ่งเพื่อเรียกคะแนนเสียง ที่ไม่ใช่การทำเพื่อภาครัฐ หรือประชาชานอย่างแท้จริง ซึ่งวิธีที่ก้าวข้ามปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยความจริงใจ และศรัทธาในการรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง
 
งานพหุวัฒนธรรมกระเหรี่ยงกับสังคมไทย : วิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยน ยังมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างการแสดงดนตรี และศิลปหัตถกรรม ของชาวปะกาเกอะญอ ที่สะท้อนตัวตน และปรัชญาการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างกลมกลืนกับป่า โดยไม่ทำลายธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม ซึ่งจะมีไปถึงวันที่ 18 สิงหาคม ที่ไทยพีบีเอส


ข่าวที่เกี่ยวข้อง