ลิขสิทธิ์เพลงคลาสสิคกับยุคสมัยแห่งการแบ่งปัน

Logo Thai PBS
ลิขสิทธิ์เพลงคลาสสิคกับยุคสมัยแห่งการแบ่งปัน

แม้ลิขสิทธิ์ของงานเพลงคลาสสิคดัง ๆ ส่วนใหญ่เป็นของสาธารณะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลงานก็ยังคงติดลิขสิทธิ์ของค่ายเพลงที่เป็นผู้นำมาถ่ายทอดจนต้องเสียค่าใช้จ่ายถ้าอยากฟังหรือนำไปใช้ ทำให้เกิดโครงการใหม่ ที่คิดอยากจะนำเพลงมาแจกให้ทุกคนเข้าถึงได้แบบฟรี ๆ

ไม่ว่าจะเป็นการบรรเลงอย่างสง่างามแต่ระคนด้วยความเศร้าของบทเพลง Nocturne Op. 9 No. 2 หรือท่วงทำนองที่ให้ความรู้สึกถึงอิสระในผลงาน Fantasie Impromptu แม้ไม่ติดลิขลิขสิทธิ์เพราะเจ้าของผลงานเสียชีวิตไปเกิน 50 ปี แต่เมื่อเป็นฝีมือการประพันธ์ของเฟรเดอริคโชแปง ก็คงหาฟังและนำไปใช้ไม่ได้ง่าย ๆ นัก หากไม่ซื้อซีดีจากนักดนตรีมากความสามารถ หรือจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ค่ายเพลงก่อนนำไปใช้ ช่องโหว่ในการเข้าถึงคือที่มาของโครงการ Free Chopin โดย Aaron Dunn นักประพันธ์เพลงคลาสสิครุ่นใหม่ ที่ระดมทุนขอบริจาคผ่านเว็บไซต์ Kickstarter เพื่อนำไปว่าจ้างนักดนตรีอาชีพให้เล่นเพลงทั้งหมด 245 ชิ้นของโชแปง ก่อนจะนำมาลงในเว็บไซต์ให้ทุกคนดาวน์โหลดไปใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ค่าใช้จ่ายจากทรัพย์สินทางปัญญา นำมาซึ่งอุปสรรคในการเผยแพร่ผลงานอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในกรณีบทเพลงได้รับความนิยม เช่นเพลง Happy Brithday ที่ค่าย Warner Chappell Music ยังคงเรียกเก็บลิขสิทธิ์จากสื่อต่างๆ รวมถึงงานเลี้ยงสาธารณะ หรือในญี่ปุ่นที่บังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งช่วยให้ผลงานของศิลปินได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเพิ่มบทลงโทษให้เอาผิดทั้งผู้อัพโหลดและดาวน์โหลด อาจสร้างความหวาดกลัวจนขัดขวางการเผยแพร่ผลงาน ขณะที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังผลักดันโลกให้เข้าสู่ยุคแห่งการแบ่งปัน โดยโครงการอย่าง Free Chopin ตั้งเป้าเงินทุนไว้ที่ 75,000 ดอลลาร์ใน 45 วัน แต่ทำยอดได้ตามเป้าโดยใช้เวลาเพียง 15 วัน

โครงการ Free Chopin ตามรอยความสำเร็จของโครงการแรก ที่นำเอาผลงานเพลงคลาสสิคโด่งดัง เช่นซิมโฟนีหมายเลข 3 ของเบโธเฟน, Goldberg Variations ของบาค และสตริงควอเท็ตอีก 2 ชิ้นของโมสาร์ท มาบันทึกเสียงโดยนักดนตรีอาชีพแล้วเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ Musopen นอกจากเป็นทางเลือกให้นักสร้างหนังอิสระไม่ต้องละเมิดลิขสิทธิ์จากแผ่นซีดี ยังร่วมกับโครงการ One Laptop Per Child นำบทเพลงเหล่านี้ใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์แจกเด็ก ๆ ทั่วโลก ซึ่ง Aaron Dunn เจ้าของโครงการเผยว่า ผู้สนับสนุนกว่า 70 %  เป็นคนอายุราว 18-35 ปี และไม่ใช่คนที่ฟังเพลงคลาสสิค แต่บริจาคเพราะถูกใจแนวคิดของโครงการ สะท้อนถึงแนวโน้มคนรุ่นใหม่ที่มักจะเลือกหนทางการใช้ทรัพยากรร่วมกัน มากกว่าการผูกขาดโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

แนวคิดของการแบ่งปันก็อาจจะเห็นได้จากรูปแบบของเว็บสมัยใหม่หลาย ๆ เว็บ เช่นเว็บ "คิกสตาร์ทเตอร์" ที่มีรูปแบบเป็นสื่อกลาง เปิดให้คนมีไอเดียเสนอโครงการ แล้วเชื่อมต่อคนที่เห็นด้วยให้มาบริจาคเงินคนละเล็กละน้อยเพื่อเปลี่ยนความคิดให้เป็นจริง ก็ทำให้หลายๆ โครงการดีๆ สำเร็จมาแล้วมากมาย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง