"เชอร์ล็อค โฮล์มส์" กลายเป็นสาธารณสมบัติในสหรัฐฯ

Logo Thai PBS
"เชอร์ล็อค โฮล์มส์" กลายเป็นสาธารณสมบัติในสหรัฐฯ

หลังสร้างชื่อในฐานะนักสืบ กระฉ่อนโลกมาเกือบร้อยปี วันนี้เนื้อหาในนิยายดังอย่าง เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ได้ถูกพิจารณาจากศาลในสหรัฐฯให้กลายเป็นสาธารณสมบัติ ที่ผู้คนสามารถนำไปดัดแปลงได้อย่างเสรี

การช่วยไขคดีลับให้กับสำนักงานตำรวจสก็อตแลนด์ยาร์ดในลอนดอน และยังไปช่วยหน่ายงาน NYPD ไขปมปริศนาไล่ล่าคนร้ายในแมนฮัตตัน เหล่านี้คือวีรกรรมของ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ นักสืบคนดังที่กลับมาสร้างสีสันบนจอแก้วอีกครั้ง จากการดัดแปลงเนื้อหาให้มีความทันสมัย จนสร้างการตอบรับที่ดีทั้งในอังกฤษและสหรัฐฯ ซึ่งกระแสการดัดแปลงเรื่องราวของนักสืบดังในสหรัฐฯจะยิ่งเปิดกว้างมากขึ้นไปอีก เมื่อล่าสุดศาลของรัฐอิลลินอยส์ได้พิจารณาให้นิยาย เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ผลงานก้องโลกของ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ ผู้ประพันธ์ชาวอังกฤษ คือสาธารณสมบัติที่สามารถนำไปดัดแปลงได้อย่างเสรี โดยไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองโดยกฏหมายลิขสิทธิ์อีกต่อไป

การพิจารณาให้ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ เป็นสาธารณสมบัติในสหรัฐฯ มาจากกระแสเรียกร้องบนโลกออนไลน์ ผ่าน #FreeSherlock บนทวิตเตอร์ของ เลสลี คลินเงอร์ นักเขียนผู้โด่งดังจากการดัดแปลงเรื่องราวของ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ซึ่งที่ผ่านมาเขาเคยจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับ Conan Doyle Estate Ltd. บริษัทดูแลผลประโยชน์ของทายาทอาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ เป็นเงิน 5,000 ดอลลาร์เพื่อสิทธิในการตีพิมพ์มาแล้ว แต่ผลงานเรื่องล่าสุดที่เขาเป็นบรรณาธิการกลับถูกยับยั้งการจำหน่าย หลังสำนักพิมพ์ได้รับจดหมายแจ้งจาก Conan Doyle Estate Ltd. ว่าพวกเขาต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพิ่มอีก

ความขัดแย้งดังกล่าวจึงนำไปสู่การพิจารณาคดีเรื่องลิขสิทธิ์ของเชอร์ล็อค โฮล์มส์ในชั้นศาล ซึ่งตามกฏหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ ผลงานที่มีอายุเกิน 90 ปีนับตั้งแต่การตีพิมพ์จะถือเป็นสาธารณสมบัติโดยอัตโนมัติ ทำให้เรื่องราวของเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ที่อยู่ในนิยายทั้ง 4 เรื่องและเรื่องสั้นอีก 46 เรื่อง ซึ่งตีพิมพ์ก่อนปี 1923 จะสามารถนำไปดัดแปลงได้อย่างเสรี แต่เรื่องสั้น 10 เรื่องสุดท้ายที่ตีพิมพ์หลังปี 1923 ที่ย้อนอดีตการเป็นนักรักบี้และการแต่งงานครั้งที่ 2 ของดร. วัตสัน หรือการประกาศเกษียณตัวเองจากการอาชีพนักสืบของโฮล์มส์ จะยังคงถูกคุ้มครองด้วยกฏหมายลิขสิทธิ์ต่อไป ซึ่งหากเนื้อหาเหล่านี้นำไปเอยถึงในงานดัดแปลงเรื่องใด ผู้ดัดแปลงจะยังคงต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์แก่ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เช่นเดิม

เลสลี คลินเงอร์ กล่าวหลังได้รับชัยชนะในการพิจารณาคดีว่า เชอร์ล็อค โฮล์มส์ คือนิยายที่เป็นสมบัติของชาวโลก ซึ่งคำตัดสินของศาลครั้งนี้จะทำให้ผู้คนหันมาพัฒนาเรื่องราวของโฮล์มส์และวัตสันให้มีความหลากหลาย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาลิขสิทธิ์อีกต่อไป


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง