ผู้ผลิตน้ำดื่ม จ.ปทุมธานี เผยปริมาณความต้องการน้ำดื่มเพิ่มขึ้นจนผลิตไม่ทัน

ภัยพิบัติ
8 มี.ค. 59
12:25
3,220
Logo Thai PBS
ผู้ผลิตน้ำดื่ม จ.ปทุมธานี เผยปริมาณความต้องการน้ำดื่มเพิ่มขึ้นจนผลิตไม่ทัน
ความต้องการน้ำดื่มมีเพิ่มขึ้นในช่วงภัยแล้ง ทำให้กระทรวงพาณิชย์เตรียมขึ้นบัญชีน้ำดื่ม เป็นสินค้าควบคุมที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ขณะที่ผู้ผลิตน้ำดื่มใน จ.ปทุมธานี เผยลูกค้ามีความต้องการน้ำดื่มเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนไม่สามารถผลิตได้ทันกับความต้องการ

วันนี้ (8 มี.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คนงานโรงงานผลิตน้ำย่านลำลูกกา คลอง 5 ต้องเร่งบรรจุน้ำใส่ขวด เพื่อนำไปส่งให้กับลูกค้า โดยนายภิเษก ไว้สันเทียะ เจ้าของโรงงานน้ำทิพย์วารี อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาก จำเป็นต้องจ้างคนงานมาทำงานล่วงเวลา และเตรียมวางแผนรับมือ หากน้ำมีปริมาณน้อยจากภาวะภัยแล้ง โดยจะซื้อถังน้ำเพื่อกักตุนน้ำดิบ แต่หากยังไม่เพียงพอ อาจต้องใช้น้ำบาดาล และซื้อน้ำจากเอกชนด้วย เช่นเดียวกับเจ้าของร้านค้าแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ลูกค้ามาซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดมากขึ้น บางคนกังวลว่าอาจไม่มีน้ำกินน้ำใช้ จึงเตรียมสั่งน้ำมาจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตยังไม่ได้แจ้งว่าสินค้าจะขาดแคลนแต่อย่างใด

วันพรุ่งนี้ กรมการค้าภายในเตรียมเชิญผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด 11 ยี่ห้อ, สมาคมผู้ผลิตน้ำดื่ม และชมรมผู้ผลิตน้ำดื่มมาหารือ พร้อมขอความร่วมมือในการผลิตน้ำดื่มให้เพียงพอ และกระจายสินค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลน และฉวยโอกาสปรับราคาขายเกินจริง กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้มีคำสั่งนำสินค้า "น้ำดื่มบรรจุภาชนะ" เข้าไปอยู่ในรายการสินค้าควบคุมจับตาเป็นพิเศษ ตั้งแต่เดือน มี.ค.นี้ ทำให้ต้องติดตามทั้งด้านราคาและจำนวนทุกวัน

สถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ ทำให้เกษตรกรบางพื้นที่ ต้องลงทุนขุดบ่อบาดาล เพื่อนำน้ำมาหล่อเลี้ยงพืชผลการเกษตรที่กำลังยืนต้นตาย แม้จะหันไปปลูกพืชระยะสั้นทดแทนก็ตาม ขณะที่เกษตรกรใน จ.อ่างทอง ได้นำงบประมาณ โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท เพื่อปลูกพืชระยะสั้น และเกษตรกรใน ต.เทวราช อ.ไชโย จ.อ่างทอง รวมกลุ่มปลูกพืชระยะสั้น ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลังได้รับสนับสนุนงบประมาณ จากโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล หรือเงินตำบลละ 5 ล้านบาท

ส่วนเกษตรกร อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ จัดอบรมให้ความรู้เกษตรกร ในการเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน รวมถึงปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขณะผลกระทบภัยแล้ง ทำให้ลิงแสมภายในวัดไก่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบไม่มีน้ำกิน

ระดับน้ำในคลองลำบัวลอย หมู่ 1 หมู่ 2 ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก แห้งขอดเป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร ชาวบ้านจำเป็นต้องซื้อน้ำอุปโภคบริโภค ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือได้นำรถน้ำออกแจกจ่ายผู้ประสบภัย

เกษตรกรปลูกแตงกวาใน ต.ดงกลาง อ.เมือง จ.พิจิตร ลงทุนขุดบ่อบาดาลเพื่อสูบน้ำหล่อเลี้ยงแตงกวาที่กำลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่วนชาวบ้าน ต.เนินมะกอก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ กว่า 800 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบเช่นกัน ต้องซื้อน้ำอุปโภคบริโภค

ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลหินดาต อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร ได้ขุดลอกคลองในพื้นที่ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ หลังประสบภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และใช้ทำการเกษตร ขณะที่นาข้าวใน อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ถูกแมลงบั่วระบาด นาข้าวเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

ส่วนที่โรงพยาบาลพระทองคำ อ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา ได้เปิดใช้ระบบกรองน้ำอาร์โอ เป็นวันแรก ซึ่งที่ผ่านมา โรงพยาบาลต้องประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่มีน้ำผลิตประปา ทำให้ได้รับผลกระทบการล้างอุปกรณ์การแพทย์นานหลายเดือน ซึ่งระบบใหม่นี้สามารถใช้น้ำบาดาลมาใช้เป็นน้ำดิบสำหรับผลิตประปาได้วันละ 18,000 ลิตร

อ่างเก็บน้ำหลุบหนองนอ ต.คำน้ำสร้าง อ.กุดชุม จ.ยโสธร ไม่สามารถส่งน้ำใช้ทำการเกษตร หลังปริมาณน้ำเหลือไม่ถึงร้อยละ 20 เช่นเดียวกับอ่างเก็บน้ำห้วยบังพวน ต.หนองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ซึ่งไม่มีน้ำเช่นกัน เกษตรกรต้องหันไปปลูกพืชอายุสั้นทดแทน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง