เปิดข้อดี-ความเสี่ยงระบบดับเพลิง "ไพโรเจน"

อาชญากรรม
14 มี.ค. 59
20:34
1,379
Logo Thai PBS
เปิดข้อดี-ความเสี่ยงระบบดับเพลิง "ไพโรเจน"
กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณชั้นใต้ดินตึก เอสซีบีปาร์ค สำนักงานใหญ่ เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 13 มี.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ หลายคนตั้งข้อสงสัย ไพโรเจนคืออะไร ทำงานอย่างไร และทำไมเมื่อผิดพลาดถึงทำให้คนเสียชีวิตได้

เมื่อระบบดับเพลิงอัตโนมัติ "ไพโรเจน" Pyrogen เริ่มทำงานจะผลิตก๊าซที่มาแทนที่อ๊อกซิเจนทำให้บริเวณไฟไหม้ไม่มีอ๊อกซิเจนและไฟก็ดับลง โดยก๊าซที่มาแทนที่อ๊อกซิเจนหรือมาช่วยดับไฟ คือ คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ผสม ไนโตรเจนและละอองน้ำ (3 ตัวนี้ไม่ติดไฟ แต่ช่วยดับไฟ) แต่จะทำให้คนที่หลงติดอยู่บริเวณนั้นขาดอากาศหายใจ

สารดับเพลิง "ไพโรเจน" (PYROGEN) ย่อมาจาก คำว่า ไพโรเทคนิคอลลี่ เจนเนอเรทเตต (Pyrotechnically Generated) เป็นสารดับเพลิงที่ไม่นำไฟฟ้า ได้รับการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นจากแนวความคิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในจรวด โดยเมื่อเก็บรักษาจะอยู่ในรูปของแข็ง แต่หากใช้งานหรือทำปฏิกิริยาอย่างใช้ในการดับเพลิงก็จะกลายสภาพเป็นส่วนผสมของก๊าซ มีลักษณะการกระจายทุกทิศทางจนเต็มพื้นที่

สำหรับ ถังดับเพลิงไพโรเจนถือว่าเป็นสารดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพ สามารถทำงานได้ด้วยตัวของมันเอง คือ ฉีดสารดับเพลิงออกมา ส่วนเหตุผลสำคัญที่สถานที่หลายแห่ง ใช้สารเคมีหรือก๊าซดับเพลิง เพราะบริเวณนั้นอาจมีสิ่งของหรือมีอุปกรณ์ที่ถูกน้ำแล้วเสียหาย อย่างเช่น ห้องเก็บเอกสารสำคัญ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า

กรณีที่เกิดขึ้นที่ ตึกที่ชั้นใต้ดินอาคารเอสซีบี ปาร์ค สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ วานนี้ (13 มี.ค.) คาดเป็นความผิดพลาดของผู้ที่เข้าไปปรับปรุงระบบในอาคาร แล้วไปกระตุ้นให้ระบบทำงานอัตโนมัติทำให้ถังไพโรเจนทำงาน พ่นสารออกมาทำให้ออกซิเจนหายหมดคนก็ไม่มีอากาศหายใจ บริเวณห้องที่จะเข้าไปต่อเติมเป็นห้องมั่นคง ปิดสนิทมีทางเข้าทางเดียวอยู่ชั้นใต้ดินชั้น B2 การถ่ายเทอากาศมีปัญหา ส่งผลทำให้มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

อย่างไรก็ตามกรณีที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียน ถึงเรื่องของระบบความปลอดภัย หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นจะช่วยเหลืออย่างไร และหากต้องทำการปรับปรุงระบบต้องทำการปิดการทำงานอัตโนมัติ เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจไปกระตุ้นให้ตัวระบบทำงานจะได้ไม่เกิดความสูญเสีย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง