นักวิชาการคาดเหตุปลาตายจำนวนมากที่มาบตาพุดเกิดจาก "แพลงก์ตอนบลูม"

สิ่งแวดล้อม
17 มี.ค. 59
09:03
1,738
Logo Thai PBS
นักวิชาการคาดเหตุปลาตายจำนวนมากที่มาบตาพุดเกิดจาก "แพลงก์ตอนบลูม"
ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลบริเวณหาดตากวน ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง หลังเกิดเหตุปลาตายจำนวนมาก เผยคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ค่าความเป็นกรด-ด่างสูง ด้านนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลคาดเหตุปลาตายเกิดจากแพลงก์ตอนบลูม

วันที่ 15 มี.ค.2559 พบปลาตายจำนวนมากที่หาดตากวน-อ่าวประดู่ ในเขตเทศบาลเมืองมาบตามพุดเป็นระยะทางยาวประมาณ 700 เมตร นอกจากนี้ยังพบคราบผงสีดำปะปนกับเม็ดทรายจนทำให้ชายหาดเป็นสีดำและน้ำทะเลมีคล้ำขุ่น ขณะนี้ยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ โดยชาวประมงให้ข้อมูลว่าเหตุปลาตายเกยหาดมักเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเวลานี้ของทุกปี ทางด้านผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการเพิ่มจำนวนของแพลงก์ตอน ทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำลดลง

"เดือนมีนาคม-เมษายนจะมีปลาตายจำนวนมากแบบนี้ทุกปี น่าจะเป็นเพราะน้ำทะเลมันร้อน แต่เรื่องมีสารพิษหรือไม่นั้นเราไม่รู้ รู้แต่ว่าช่วงนี้ปลาตายทุกปี หอยก็ตาย" นายอนุชิต คงศรี ชาวประมง จ.ระยองกล่าว

นายศุภวัฒน์ กาญจน์อดิเรกลาภ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จ.ระยอง ระบุว่าผลการตรวจสอบตัวอย่างน้ำทะเลบริเวณหาดตากวนจำนวน 3 สถานี พบว่า อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 3 เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ยกเว้นค่าความเป็นกรด-ด่าง มีค่าสูงกว่าเกณฑ์ และทำการเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำที่ตายบริเวณชายหาดเพื่อหาสาเหตุการตายต่อไป ซึ่งคาดว่า สาเหตุที่ปลาตายอาจเกิดจากการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชกลุ่มไดอะตอม สกุล สเกเลโทนีมา (Skeletonema) ซึ่งพบเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อเกิดการสะพรั่ง จะพบว่ามีออกซิเจนสูงในเวลากลางวันจากการสังเคราะห์แสง
ในขณะที่เวลากลางคืนจะดึงก๊าซออกซิเจนไปใช้ทำให้ออกซิเจนในน้ำต่ำลงมาก

"ผลตรวจคุณภาพน้ำทะเลเบื้องต้นพบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนแพลงก์ตอนที่พบคือแพลงก์ตอนพืชที่ไม่มีสารอันตราย จึงยังยืนยันไม่ได้ว่าเป็นผลจากปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมหรือไม่" นายศุภวัตรระบุ

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อวานนี้ (16 มี.ค.) ว่า เหตุปลาตายในอ่าวไทยเกิดขึ้นได้เป็นระยะๆ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากแพลงก์ตอนบลูม สำหรับกรณีที่หาดตากวน จ.ระยอง นี้ก็เป็นไปได้ว่าจะเกิดจากแพลงก์ตอนบลูมเช่นกัน เพราะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบแพลงก์ตอนบางกลุ่มที่มีปริมาณเยอะเป็นพิเศษซึ่งอาจทำให้ออกซิเจนในน้ำลดจนปลาตาย

ส่วนข้อสงสัยที่ว่าปลาอาจตายจากสารพิษปนเปื้อนในน้ำทะเลนั้น ดร.ธรณ์กล่าวว่า ถ้าปลาตายจากสารพิษโดยตรง สารนั้นจะต้องมีความรุนแรงมากและน่าจะตรวจเจอ และปลาน่าจะหนีได้ อีกทั้งกลุ่มปลาที่ตายบางกลุ่มก็เป็นปลาหน้าดิน

 

มีคนถามมาเรื่องปลาตายที่ระยอง ผมก็บอกว่าปลาในอ่าวไทยตอนในอาจตายเป็นระยะ ส่วนใหญ่ปัญหามาจากแพลงก์ตอนบลูม ครั้งนี้ก็เป็นไ...

Posted by Thon Thamrongnawasawat on Tuesday, 15 March 2016

 

ดร.ธรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่าในกรณีนี้ "น้ำเสีย" อาจเป็นต้นเหตุหนึ่ง เพราะน้ำเสียที่มีธาตุอาหารมาก ทำให้เกิดแพลงก์ตอนบลูมได้ง่าย โดยเฉพาะช่วงต้นฤดูร้อน ฟ้ายังเปิดเหมือนหน้าหนาว แต่อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างเร็ว ทั้งแสงและอุณหภูมิเป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งแพลงก์ตอนบลูม

"น้ำเสียมาจากหลายต้นตอ ผมเห็นด้วยว่าเราคงต้องพยายามตรวจตราการบำบัดของทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน ชุมชน โรงแรม หรือแหล่งใดๆ ให้อยู่ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และสร้างเสริมหากระบบบำบัดของเรายังไม่ดีพอ แต่นั่นต้องเป็นการช่วยกันดูแลของทุกฝ่ายครับ ไม่จำเพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น" ดร.ธรณ์ระบุพร้อมกับเสนอให้หน่วยงานในพื้นที่ประกาศให้คลองในบริเวณนี้เป็น "โมเดลด้านการบำบัดน้ำเสีย" มีการวางแผนยกระดับการบำบัดและตรวจสอบตลอดแนวคลอง มีระบบแจ้งเตือนออนไลน์ มีจอเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพน้ำให้ประชาชนทราบ มีการทำข้อตกลงร่วมกันกับให้ปฏิบัติตามแนวทางการจัดการน้ำเสียร่วมกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ดร.ธรณ์ยังได้ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอส" เพิ่มเติมว่าการเกิดแพลงก์ตอนบลูมมี 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ มีธาตุอาหารในน้ำทะเล มีแสงแดด และมีอุณหภูมิที่สูง ช่วงนี้แดดแรงฟ้าใส อุณหภูมิร้อน เพราะฉะนั้นสองอย่างนี้เป็นปัจจัยที่น่าจะทำให้เกิดแพลงก์ตอนบลูมในตอนนี้

"ที่สำคัญกว่านั้นคือ ธาตุอาหารในน้ำซึ่งมาจากน้ำเสีย หมายถึง คือ น้ำเน่าที่ไม่ได้รับการบำบัดที่ดีพอ ซึ่งอาจเป็นน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งชุมชน หมู่บ้านที่ไม่มีการบำบัด เมื่อมีแพลงก์ตอนมากก็ต้องออกซิเจนอย่างรวดเร็ว ทำให้ปลาซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาหน้าดินช็อคและตายได้

"ถ้าถามว่า แพลงก์ตอนบลูมเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติมั้ย บอกเลยว่าใช่ และถ้าถามว่าคนมีส่วนในการทำให้เกิดแพลงก์ตอนบลูมบ่อยครั้งขึ้นมั้ย ก็ใช่อีกเช่นกัน เพราะคนเราปล่อยน้ำเสียลงทะเลมากขึ้น เลยเพิ่มธาตุอาหารให้พวกแพลงก์ตอนเหล่านั้น"

ด้านมูลนิธิบูรณะนิเวศซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกาะติดปัญหามลพิษจากนิคมอุตสาหกรรมระบุว่า ปลาที่ตายเป็นปลาสลิดหิน ซึ่งมีความอดทนและตายยาก ซึ่งการตายจำนวนมากในลักษณะนี้ไม่น่าเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และพบว่าบริเวณคลองชากหมาก ซึ่งเป็นลำคลองที่จะรับน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานอุตสาหกรรม แล้วจะไหลลงทะเลนั้นมีสีผิดปกติ จึงเตรียมเก็บตัวอย่างน้ำที่คลองชากหมากมาตรวจสอบเพิ่มเติม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง