เร่งปรับสภาพ 5 ชุมชนริมคลองในกรุงฯ ชาวบ้านรู้ข้อมูลน้อย-หวั่นสร้างหนี้เพิ่ม

สังคม
24 มี.ค. 59
09:29
2,546
Logo Thai PBS
เร่งปรับสภาพ 5 ชุมชนริมคลองในกรุงฯ ชาวบ้านรู้ข้อมูลน้อย-หวั่นสร้างหนี้เพิ่ม
รัฐบาลเร่งพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร นำร่องจาก 5 ชุมชน แก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย ขยะ ขณะที่ชาวชุมชนระบุว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดโครงการมากนัก และเป็นการสร้างภาระหนี้สินให้เพิ่มขึ้น เพราะต้องย้ายไปสร้างบ้านใหม่ ในที่ดินเช่าของราชพัสดุ

คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.นำงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากโครงการบ้านมั่นคง มาใช้ในโครงการ เพื่อนำร่องพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร โดยจะมีการจัดสรรที่ดินบางส่วนจากที่ดินราชพัสดุ เพื่อให้ประชาชนสามารถมาปลูกสร้างที่อยู่อาศัยได้ อย่างไรก็ตามอาจจะต้องมีหลายคนที่ไม่ได้รับสิทธิให้สร้างบ้าน เนื่องจากที่ดินมีไม่เพียงพอ

นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้จัดการภาค สำนักงานภาคกรุงเทพฯและปริมณฑล พอช. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรว่า เตรียมใช้งบประมาณ 4,061.44 ล้านบาท ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2559-2561 มีการสำรวจและทำความเข้าใจกับประชาชนริมคลองลาดพร้าว ที่มีความพร้อมมาตั้งแต่เดือน มี.ค.2558 โดยคลองลาดพร้าวมี 43 ชุมชน จำนวน 7,314 ครัวเรือน อยู่ที่เดิมได้ 37 ชุมชน 6,058 ครัวเรือน และต้องย้ายออกจากพื้นที่เดิม 6 ชุมชน จำนวน 1,256 ครัวเรือน คือ 1.ชุมชนบึงพระราม 9 พัฒนา 2.ชุมชนบึงพระราม 9 (ปากคลองลาดพร้าว) 3.ชุมชนเลียบคลองสอง 4.ชุมชนหลังซอยแอนเน็กซ์ 5.ชุมชนคลองบางเขน และ 6.ชุมชนบ้านรัชดา

ที่ผ่านมา สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้กำหนดพื้นที่แนวความกว้างของคลองลาดพร้าวในช่วงต้นคลองไว้ที่ 38 เมตร และความกว้างปลายคลองที่ 30 เมตร ทำให้โดยเฉลี่ยความกว้างของเขื่อนตลอดลำคลองอยู่ที่ 35 เมตร ซึ่งจากแผนงานคลองถือว่าอยู่ภายในโครงการบ้านมั่นคงอยู่แล้ว และได้เริ่มสร้างเขื่อนไปแล้วในพื้นที่ที่ไม่มีประชาชนอาศัยอยู่

 

สำหรับโครงการย้ายชุมชน และสร้างที่อยู่อาศัย จะเริ่มย้ายชาวบ้าน 5 ชุมชน ออกจากพื้นที่ประมาณปลายเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ คือ 1.ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ 2.ชุมชนร่วมมิตรแรงศรัทธา 3.ชุมชนวังหิน 4.ชุมชนหลังกรมวิทยาศาสตร์ และ 5.ชุมชนสะพานไม้สอง

ส่วนแบบบ้านขึ้นอยู่กับความต้องการ ความสามารถในการจ่าย และความสมัครใจของชาวบ้าน นอกจากนี้ ยังสามารถรื้อบ้านเก่านำมาสร้างใหม่ได้ด้วย พอช.เน้นทำเรื่องกระบวนชุมชน เพราะชาวบ้านเป็นเจ้าของโครงการ ต้องเข้าใจและมีส่วนร่วมในกำหนดอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าการทำพนังกั้นน้ำ

นายสยามกล่าวว่า ชาวบ้านที่อยู่อาศัยริมคลองมีอยู่ 3 ประเภท 1.คนที่อยู่ในน้ำ คือชาวบ้านที่สร้างที่อยู่อาศัยบนผืนน้ำทั้งหมด 2.ครึ่งบกครึ่งน้ำ คือชาวบ้านที่มีการสร้างที่อยู่อาศัยบนผืนน้ำบางส่วนและอยู่บนพื้นดินบางส่วน และ 3.คนที่อยู่บนบก คือชาวบ้านที่สร้างที่อยู่อาศัยบนพื้นดินทั้งหมด แต่ชาวบ้านทุกคนถือว่าอยู่ในรัศมีคลองทั้งหมด เนื่องจากคลองได้ถูกเวนคืนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ความกว้างตั้งแต่ 50-80 เมตร แม้ว่าในปัจจุบันจะมีน้ำในคลองโดยเฉลี่ยประมาณ 25 เมตรก็ตาม ดังนั้น ไม่ว่าชาวบ้านจะอยู่บนคลองหรือในคลองถือว่าเป็นการรุกล้ำคลอง และอยู่ในรัศมีคลองทั้งหมด ซึ่งที่ดินริมคลองทั้งหมดเป็นของกรมธนารักษ์ แต่ กทม.เป็นเพียงผู้มาใช้ประโยชน์

ทั้งนี้ การจัดระเบียบชุมชนริมคลอง ความสำคัญอยู่ที่จะแบ่งปันอย่างไรให้เหมาะสมระหว่างที่ดินและจำนวนประชากร ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ มีที่ดินประมาณ 3 ไร่เศษ ชาวบ้าน 62 ครัวเรือน เบื้องต้นจะมีการกันพื้นที่ส่วนกลาง 30 เปอร์เซ็นต์ มาทำทางเดิน สวนหย่อม ศูนย์เด็กเล็ก รวมถึงพื้นที่ที่ต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส่วนที่เหลือจึงจะเป็นที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ชาวบ้านยังต้องตัดสินใจร่วมกันว่าจะสร้างบ้านใหม่ หรือนำวัสดุจากบ้านหลังเก่ามาใช้ หากมีเงินอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องกู้เงินก็ได้ ส่วนผู้ที่ไม่มีเงินอาจจะต้องกู้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจเป็นหลัก

ส่วนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละชุมชนจะต้องจัดการด้วยการวางผังและระบบใหม่ว่าจะมีวิธีการดูแล ระบบบำบัดน้ำเสีย และจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นสลัม ซึ่งจะเป็นการออกแบบทางด้านกายภาพทั้งบ้าน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

 

ส่วนชุมชนริมคลองเปรมประชากรมี 33 ชุมชน 4,408 ครัวเรือน แต่ยังไม่ได้มีการสรุปความกว้างของเขื่อน คาดว่าน่าจะทราบความชัดเจนประมาณเดือน เม.ย.นี้ เบื้องต้น จึงยังไม่ทราบว่าจะมีชาวบ้านได้รับผลกระทบขนาดไหน ในระหว่างรอสำนักการระบายน้ำ กทม.กำหนดความกว้างของคลองเพื่อทำเขื่อน ชาวบ้านในชุมชนริมคลองเปรมประชากรจะต้องมีการออมทรัพย์และประชุมหารือเรื่องที่อยู่อาศัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแบบบ้านที่ดำเนินการจัดผังชุมชนใหม่ เป็นบ้านแนวราบทั้งหมด ขนาดบ้านที่เล็กที่สุดคือ บ้านชั้นเดียวขนาด 4x7 ตร.ม. ขึ้นอยู่กับแปลงที่ดินของแต่ละชุมชน ซึ่งที่ได้ดำเนินการขณะนี้มีบ้าน 3 แบบคือ บ้านชั้นเดียวขนาด 4x7 ตร.ม. บ้าน 2 ชั้น ขนาด 4x7 ตร.ม. และบ้าน 2 ชั้น ขนาด 6x7 ตร.ม. ค่าก่อสร้างอยู่ที่ประมาณหลังละ 180,000 – 500,000 บาท

ส่วนที่ดินกรมธนารักษ์ให้เช่าเป็นสัญญายาวระยะเวลา 30 ปี ในอัตราค่าเช่าที่ผ่อนปรนเริ่มต้นเพียงตารางวาละ 1.50 บาทต่อเดือน โดยในส่วนของพอช.ได้รับจัดรรงบประมาณจำนวน 4,061 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการบ้านมั่นคง ในระยะเวลา 3 ปี คือปี 59-61 รองรับการดำเนินการในคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร โดยงบประมาณดังกล่าว จะให้ประชาชนกู้เพื่อก่อสร้างบ้านได้สูงสุด 500,000 บาท ผ่อนส่งเดือนละประมาณ 1,500-3,000 บาท ระยะเวลาผ่อนส่ง 15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี

นอกจากนี้พอช.ยังได้สนับสนุนงบประมาณ เป็นค่าดำเนินการด้านสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมในชุมชน เช่น งานก่อสร้างถนน ระบบบำบัดน้ำเสีย เดินท่อประปา ไฟฟ้า เป็นต้น โดยมีเงื่อนไขคืองบประมาณดังกล่าวจะมอบให้ชุมชนที่มีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ มีการจัดทำบัญชีสหกรณ์ถูกต้อง

นอกจากนี้ชุมชนที่ได้เข้าโครงการในระหว่างที่มีการรื้อที่อยู่อาศัยเดิม และรอการสร้างบ้านใหม่แล้วเสร็จ จะได้รับค่าเช่าบ้านพักชั่วคราวครับครัวละ 3,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือน ขณะที่กทม.รับผิดชอบในส่วนของการก่อสร้างเขื่อนและการร่วมลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในแนวคลองทั้ง 43 ชุมชน ในพื้นที่ 8สำนักงานเขต

นายจำรัส กลิ่นอุบล ประธานชุมชนลาดพร้าว 45 แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ซึ่งชุมชนตั้งอยู่ริมคลองลาดพร้าว กล่าวว่า ชาวบ้านในชุมชนรับทราบเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ชาวบ้านกลับมองว่า โครงการนี้จะมาก่อหนี้ และสร้างภาระให้ หากจะมาพัฒนาโครงการ อยากอยู่ที่เดิม และได้พื้นที่เพิ่ม เพื่อนำมาบริหารจัดการทางด้านเศรษฐกิจได้

 

ส่วนปัญหาน้ำเสีย คนส่วนใหญ่มักจะมองว่าชุมชนทำน้ำเสีย ระบุว่า ส่วนหนึ่งมาจากชุมชน แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากน้ำเสียที่มาจากบ้านเข้าสู่ท่อระบายน้ำและลงสู่คลองด้วย ที่ผ่านมาชุมชนใช้น้ำหมักชีวภาพมาช่วยในการแก้น้ำเสีย ขณะที่การจัดเก็บขยะจะมีสำนักงานระบายน้ำ กทม.มาจัดเก็บทุกวัน เสียค่าใช้จ่ายปีละ 240 บาทต่อครัวเรือน

สำหรับชุมชนลาดพร้าว 45 เกิดขึ้นมาประมาณ 80-90 ปีแล้ว หลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นทุ่งนา และเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ชาวบ้านเข้ามาตั้งรกรากริมคลอง เนื่องจากสมัยก่อนการคมนาคมส่วนใหญ่ใช้ลำคลองเป็นหลัก ชุมชนมีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ ชาวบ้านเกือบ 300 หลังคาเรือน จำนวน 1,780 คน ส่วนใหญ่คนเข้าออกจะเป็นเครือญาติของชาวบ้านในชุมชนมากกว่า ไม่มีคนนอกเข้ามาอาศัย

จากการลงพื้นที่ชุมชนลาดพร้าว 45 พบว่า ต้นซอยจะค่อนข้างเปลี่ยว ทางเดินจะกว้างและค่อยๆ เล็กลง และริมทางเดินเข้าไปในซอยจะมีร่องน้ำส่งกลิ่นเหม็นเล็กน้อย มีขยะอยู่บ้างประปราย ส่วนใหญ่จะเป็นเศษใบไม้ที่ร่วงหล่นจากต้นไม้ใหญ่ น้ำในริมคลองมีสีเขียว

จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ทราบว่า หากเป็นช่วงเวลา 08.00-09.00 น. น้ำจะมีสีดำและมีกลิ่นเหม็น สาเหตุที่น้ำยังมีสีเขียว เนื่องจากน้ำน้อยและนิ่ง เพราะว่าไม่ได้เปิดประตูระบายน้ำเพื่อไล่น้ำออกไป และบ้านเรือนบางหลังรุกล้ำพื้นที่คลองลาดพร้าว

ทางด้าน น.ส.สลักจิต สุขกิจ ชาวบ้านในชุมชนร่วมใจพิบูลย์ 2 แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง เปิดเผยว่า ชุมชนร่วมใจพิบูลย์ 2 ได้มีการประชุมเกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของรัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน หากอยู่แบบเดิมได้ก็อยากอยู่ต่อไป เนื่องจากบ้านพักในปัจจุบันยังสามารถใช้พักอาศัยได้ หากจำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการจริงๆ ก็ยอมรับได้ ถ้าเป็นการเข้ามาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสีย

น.ส.สลักจิตกล่าวว่า การเช่าซื้อที่อยู่อาศัยจะส่งผลกระทบและสร้างภาระให้ครอบครัว เพราะว่าต้องนำเงินส่วนหนึ่งไปเช่าซื้อที่อยู่อาศัย และในช่วงที่รื้อถอนอาจจะทำให้รายได้หายไปบางส่วน เพราะว่าต้องหยุดค้าขายไป ส่วนในชุมชนจะไม่มีการทิ้งขยะลงในคลอง เนื่องจากจะมีหน่วยงานของ กทม.มาจัดเก็บ โดยเสียค่าใช้จ่ายเป็นรายปี และแต่ละบ้านจะมีคัดแยกขยะไปขายอยู่แล้ว

จากการลงพื้นที่ชุมชนร่วมใจพิบูลย์ 2 พบว่า ต้นซอยจะค่อนข้างแคบ ตอนบ่ายๆ จะไม่ค่อยเปลี่ยว เพราะว่าบ้านส่วนใหญ่จะอยู่ติดกัน และมีร้านค้าอยู่ตามรายทาง ขยะมีให้เห็นบ้าง และมีเศษใบไม้ ด้านข้างซอยจะติดโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์เป็นแนวยาว โดยจะมีประตูทดน้ำอยู่กลางชุมชน ถือว่าเป็นชุมชนใหญ่พอสมควร ริมคลองน้ำมีสีเขียว ส่วนสะพานข้ามคลองลาดพร้าวด้านนอกจะมีเศษขยะจำนวนหนึ่งอยู่ใต้สะพาน

ขณะที่ จ.ส.อ.พายัพ เขื่อนขันธ์ ประธานชุมชนประชาร่วมใจ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมคลองเปรมประชากร เปิดเผยว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลอง อยากได้ความชัดเจนของโครงการ เบื้องต้นทราบเพียงว่า จะทำที่คลองเปรมประชากรต่อจากคลองลาดพร้าว ซึ่งในเขตจตุจักรเหลือ 2 ชุมชนเท่านั้น ที่เหลือได้ทำทั้งหมดแล้ว เชื่อว่าคนกับคลองอยู่ด้วยกันได้ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องนำบ้านมั่นคงลงมาให้ชาวบ้านเสียเงิน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคนฐานะยากจนหาเช้ากินค่ำ ถ้ารื้อแล้วจะย้ายไปอยู่ที่ไหน เพราะว่าต้องใช้เวลาก่อสร้างเป็นปี ถ้าไม่ทำรัฐบาลไม่ต้องเสียเงิน สาเหตุที่ชาวบ้านไม่อยากทำบ้านสวยงาม เพราะกลัวว่าจะถูกไล่รื้อ ถ้าให้อยู่ที่เดิม จะสร้างบ้านใหม่ให้สวยงามได้ เพราะมีกองทุนหมู่บ้านอยู่

สำหรับชุมชนแห่งนี้มีขนาดกว้างตั้งแต่ 12-20 เมตร ความยาว 1,000 เมตร ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ของกรมธนารักษ์ประมาณ 230 หลัง ส่วนอีก 30 หลังเช่าที่ดินของเอกชน แต่ขอมาอยู่ร่วมกับชุมชนด้วย ประชาชนมีประมาณ 1,300 คน ชาวบ้านดั้งเดิมส่วนใหญ่เป็นลูกผู้คุมเรือนจำ ย้ายมาจากบางบัวมาที่อยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2498 ก่อนการสร้างเรือนจำลาดยาวในปี 2500 ส่วนคนย้ายเข้าออกชุมชนไม่มี ส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นลดลงตามการเสียชีวิตและการเกิด

 

จ.ส.อ.พายัพกล่าวว่า แต่ก่อนชุมชนไม่ได้รุกล้ำ พื้นที่ชุมชนเป็นดินทั้งหมด แต่ถูกน้ำกัดเซาะ กลายเป็นว่าเสาบ้านอยู่ในน้ำไป ส่วนการจัดเก็บขยะมีการจัดเก็บทุกวัน มีถังขยะรองรับ มีคนเข็น ในปัจจุบัน ชุมชนเหมือนเป็นจำเลยสังคมว่าเป็นสิ่งสกปรก ทำให้ขยะไปติดท่อระบายน้ำ ส่วนที่ดินไม่ได้เสียค่าเช่าให้กรมธนารักษ์ บ้านทุกหลังมีเลขที่บ้าน แต่เป็นเลขที่บ้านแบบชั่วคราว ซึ่งรัฐบาลสามารถเอาเลขที่บ้านคืนจากชาวบ้านได้

น.ส.นันทพร นิยมพงษ์ ชาวบ้านในชุมชนประชาร่วมใจ 2 เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองเป็นโครงการที่ดี แต่ว่าจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะว่าชาวบ้านมีรายได้น้อย หากจะให้ไปเช่าซื้อที่อยู่อาศัยคงลำบาก ด้วยอายุที่มากแล้ว ถ้าอยู่ด้านล่างถ้าเดือดร้อนคงต้องหาที่อยู่ให้เขา ส่วนบ้านที่ไม่กีดขวางเขื่อนน่าจะให้เขาอยู่ต่อไป อยากให้ที่อยู่อาศัยและเขื่อนแยกจากกัน บางคนอยากอยู่ที่เดิม เพราะว่ามีความคุ้นชินกับสถานที่

น.ส.นันทพรกล่าวว่า ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องยอมรับเงื่อนไข แต่อยากได้ความชัดเจน หากจะให้ย้ายไปอยู่ที่อื่นว่าจะนำพื้นที่ตรงไหนมารองรับหรือไม่ ส่วนขยะจะมีการจัดเก็บทุกวัน มีรถลากเข็น และเรือจาก กทม. ส่วนเศษขยะที่เห็นในคลองมาจากขยะที่ตกจากเรือขนขยะ และลอยมาจากที่อื่นบ้าง

นางสมบูรณ์ ภู่ทอง ชาวบ้านในชุมชนประชาร่วมใจ 2 กล่าวว่า พอรู้มาบ้างเกี่ยวกับโครงการ แต่หากให้ไปอยู่ที่อื่นคงไม่อยากไป ที่ผ่านมา ยังไม่มีเจ้าหน้าที่มาสำรวจพื้นที่ หากจำเป็นต้องไปอยู่ที่อื่นคงลำบาก เนื่องจากอายุมากแล้ว ไม่รู้จะประกอบอาชีพอะไร และเกรงว่าจะมีขโมย โดยในชุมชนไม่เคยมีการลักทรัพย์ นอกจากนี้ ยังมีเด็กที่ต้องเรียนหนังสือบริเวณนี้อีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนประชาร่วมใจ 1 พบว่า สภาพของน้ำในคลองเปรมประชากรค่อนข้างใส มีขยะลอยอยู่บ้าง ส่วนทางเดินจากสะพานข้ามคลองลงไปยังชุมชนแห่งนี้พบว่า ค่อนข้างสะอาดสะอ้าน มีป้ายบอกให้ทราบถึงจำนวนบ้านเรือน และตำแหน่งของสถานที่สำคัญของชุมชนอย่างละเอียด ขณะที่ความกว้างของทางเดินในชุมชนมีขนาดพอคนเดินสวนกันได้ แต่หากเป็นรถจักรยานยนต์จะวิ่งผ่านจะไม่สะดวกมากนัก อาจต้องอาศัยการหลบให้คนหรือรถจักรยานยนต์อีกคันผ่านไปก่อน ใต้ถุนบ้านแต่ละหลัง พบว่ามีขยะอยู่บ้างเล็กน้อย และบ้านเรือนรุกล้ำริมคลองหลายหลัง


มีนา บุญมี ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง