ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คกก.เห็นชอบหลักการ ปลด "นกกรงหัวจุก" พ้นสัตว์ป่าคุ้มครอง

คกก.เห็นชอบหลักการ ปลด "นกกรงหัวจุก" พ้นสัตว์ป่าคุ้มครอง
อ่านให้ฟัง
06:32อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คกก.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เห็นชอบในหลักการปลด "นกกรงหัวจุก" จากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ด้าน กรั่นกรองประเด็นต่าง ๆ ก่อนเสนอ คกก.หลักพิจารณา ด้าน "ปธ.มูลนิธิสืบฯ" ไม่เห็นด้วย ชี้สถานการณ์นกในธรรมชาติยังไม่ดีขึ้น

วันที่ 2 ก.ค.2568 การประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 ณ ห้องประชุม ชั้น 20 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิรูปวงการสัตว์ป่าครั้งสำคัญ มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนกับการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน โดยมีวาระเร่งด่วนในการผลักดัน "เหี้ย" สู่การเป็นสัตว์เศรษฐกิจเต็มตัว และเร่งศึกษา "นกกรงหัวจุก" ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้เลี้ยงนก เพื่อผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจคู่กับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดยมีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายเฉลิม พุ่มไม้ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ เข้าร่วม เพื่อพิจารณาวาระรวม 13 เรื่อง ภายใต้กฎหมายลำดับรองของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

ที่ประชุมได้รับทราบการประกาศเพิ่ม "วาฬสีน้ำเงิน" และ "นกชนหิน" เป็นสัตว์ป่าสงวน 2 ชนิดใหม่ เข้าสู่บัญชีคุ้มครองพิเศษ เพื่อยกระดับมาตรการอนุรักษ์สัตว์ป่าหายากของไทยให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

สำหรับ "นกปรอดหัวโขน" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "นกกรงหัวจุก" ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้เลี้ยงนก ทส.ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมวิถีชีวิตและอาชีพของประชาชน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน โดยเห็นชอบในหลักการปลดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การปลดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้การศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน จึงให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาประชากรนกปรอดหัวโขน ตลอดกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการล่านกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ และมาตรการป้องกันนกปรอดหัวโขนในกรงเลี้ยงหลุดเข้าสู่ธรรมชาติให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนำไปประกอบการเสนอปลดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองต่อไป

ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ด้าน เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองประเด็นต่าง ๆ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการหลักพิจารณา ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการตัดสินใจเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น

ปธ.มูลนิธิสืบฯ ไม่เห็นด้วยการปลด แนะเร่งแจ้งครอบครองแทน

ขณะที่นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า ก่อนจะปลด "นกปรอดหัวโขน" ต้องมีข้อมูลครบถ้วน และมาตรการรองรับที่ชัดเจน

กรณีของที่ประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เห็นชอบในหลักการที่ปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองที่ขออนุญาตเพาะขยายพันธุ์ได้ โดยให้ตั้งคณะทำงานศึกษาสถานภาพประชากรนกปรอดหัวโขนในปัจจุบัน และการกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการล่านกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ และมาตรการป้องกันนกปรอดหัวโขนในกรงเลี้ยงหลุดเข้าสู่ธรรมชาติ เพื่อนำไปประกอบการเสนอปลดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองต่อไปนั้น ยังมีข้อกังวลที่อยากฝากถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์ และคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 3 ประเด็นหลักคือ

  • การปลด จะเกิดขึ้นได้ ควรมีชุดข้อมูลจากคณะทำงานศึกษาข้อมูลสถานภาพและการกำหนดมาตราการปราบปรามและป้องกันการล่านกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ มาตราการป้องกันการปนเปื้อนทางพันธุกรรมมาใช้ประกอบการพิจารณาก่อน
  • การศึกษาประชากรและมาตราการป้องกันดังกล่าว ควรมีเวลามากพอที่จะศึกษาอย่างครอบคลุมในทุกพื้นที่ถิ่นอาศัย และห้วงเวลาตามช่วงฤดูกาล รวมถึงการกำหนดมาตราการป้องกันและปราบปรามได้อย่างรัดกุม เนื่องจากหากปลดจากบัญชีแล้ว ใครจะเป็นเจ้าภาพที่จะดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดออกมา
  • คณะทำงานควรมีองค์ประกอบจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะหน่วยงานทางวิชาการ ส่วนตัวที่ติดตามเรื่องนี้มา ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ หากสถานการณ์นกปรอดหัวโขนที่อยู่ในธรรมชาติยังไม่ดีขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ตรงจุด ควรเร่งดำเนินการเรื่องการแจ้งครอบครองและการเพาะขยายพันธุ์ให้ผู้เลี้ยงสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และลดความซ้ำซ้อนซับซ้อนมากที่สุด

สำหรับนกกรงหัวจุก หรือนกปรอดหัวโขน หรือนกปรอดหัวจุก ชื่อวิทยาศาสตร์ Pycnonotus jocosus เป็นนกที่อยู่ในวงศ์นกปรอด มีทั้งหมด 109 ชนิด ในไทยพบได้ 36 ชนิด

นกปรอดหัวโขนเป็นนกขนาดเล็ก โตเต็มที่ประมาณ 20 เซนติเมตร มีสีสันสวยงาม และเสียงร้องไพเราะ ที่แก้มและคอจนถึงหน้าอกจะมีสีขาวและมีสีแดง เป็นเส้นอยู่ข้างหูลงมาถึงหน้าอกเหมือนเป็นเส้นแบ่งขนสีขาวกับสีดำที่มีอยู่ทั่วทั้งตัว ขนส่วนหัวจะร่วมกันเป็นเหมือนหน่อตั้งอยู่บนหัวสูงขึ้นไปเหมือนหัวโขน เป็นที่มาของชื่อ ใต้ท้องมีขนสีขาว

อ่านข่าว : ศอ.บต.ชงกรมอุทยานฯ ปลด "นกกรงหัวจุก" พ้นบัญชีสัตว์สงวน 

ไทม์ไลน์ 6 ปีปลดล็อก "นกกรงหัวจุก" พ้นสัตว์ป่าคุ้มครอง