สถานทูตไทยฯ สรุปเหตุการณ์แผ่นดินไหวญี่ปุ่น พร้อมช่วยเหลือ 127 คนไทยพ้นอันตรายแล้ว

ต่างประเทศ
18 เม.ย. 59
09:12
629
Logo Thai PBS
สถานทูตไทยฯ สรุปเหตุการณ์แผ่นดินไหวญี่ปุ่น พร้อมช่วยเหลือ 127 คนไทยพ้นอันตรายแล้ว
สถานทูตไทย ณ กรุงโตเกียว สรุปเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น พร้อมระบุได้ช่วยเหลือคนไทย ทั้งนักเรียนและนักท่องเที่ยว 127 คน พ้นพื้นที่เกิดเหตุ ไปอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว

วันนี้ (18 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว สรุปผลการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน 2559 ดังนี้
1.จากยูฟูอิน (จังหวัดโออิตะ) นักท่องเที่ยวไทย 24 คน
2.จากเบปปุ อารีนา (จังหวัดโออิตะ) 87 คน (ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนไทย)
3.จากมหาวิทยาลัยคุมาโมโตะ นักเรียนและนักท่องเที่ยวไทย 16 คน
ทั้งหมด รวม 127 คน ปลอดภัย ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ
ทั้งหมดกำลังเดินทางสู่จ.ฟุกุโอกะ (ท่าอากาศยานฟุกุโอกะหรือจุดพักพิงที่สถานทูตฯ จัดไว้)

 

นอกจากนี้ยังรายงานการช่วยเหลือคนไทยจากพื้นที่แผ่นดินไหวไปยังจุดต่างๆ ดังนี้
เวลา 15.55 น.วันที่ 17 เม.ย. สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้นำคนไทยผู้ประสบภัยที่เดินทางจากเมืองยุฟุอิน จังหวัดโออิตะ เข้าที่พัก Global Arena จ.ฟุกุโอกะ เรียบร้อยแล้ว
เวลา 16.30 น. สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ส่งคนไทยผู้ประสบภัยที่เดินทางจากเบปปุอารีน่า จ.โออิตะ ไปยังท่าอากาศยานฟุกุโอกะ ตามความประสงค์เรียบร้อยแล้ว โดยนักเรียนส่วนใหญ่ประสงค์ที่จะพำนักอยู่ในเมืองฟุกุโอกะเพื่อเฝ้าดูสถานการณ์ต่อไป
เวลา 17.10 น. สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ได้ส่งคนไทยผู้ประสบภัยที่เดินทางจากจังหวัดคุมาโมโตะส่วนหนึ่งไปยังท่าอากาศยานฟุกุโอกะ และอีกส่วนหนึ่งไปยัง Global Arena จ.ฟุกุโอกะ ตามความประสงค์เรียบร้อยแล้ว
เวลา 18.23 น. สถานทูตฯ ได้นำผู้ประสบภัยจากยุฟุอิง จ.โออิตะ ไปส่งตามที่พักต่างๆ ตามความประสงค์เรียบร้อยแล้ว โดยต่อจากนี้ สถานทูตฯ จะเร่งประสานสายการบินสำรองตั๋วเครื่องบินให้นักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะกลับประเทศไทยในโอกาสแรกต่อไป
สำหรับความเคลื่อนไหวเหตุการณ์แผ่นดินไหว สถานทูตฯได้สารุปเหตุการณ์ไว้ดังนี้

- สรุปเหตุแผ่นดินไหวศูนย์กลาง จ.คุมะโมโตะ


(1) สถานการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด

- เมื่อวันที่ 14 เม.ย. เวลา 21.26 น. ขนาด 6.5 ความลึก 11 กม. ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่ จ.คุมะโมโตะ ระดับ shindo 7 ซึ่งสูงสุดในมาตราญี่ปุ่น หลังจากนั้นมี aftershocks ขึ้นมากกว่าหลายครั้ง
- ต่อมาวันที่ 16 เม.ย. เวลา 01.25 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ความลึก 13 กม. ศูนย์กลาง จ.คุมะโมโตะ ทำให้ จ.คุมะโมโตะ รับรู้แรงสั่นสะเทือนระดับ 6+ มีประกาศเตือนสึนามิ แต่ยกเลิกการประกาศเมื่อเวลา 02.15 น.

จากนั้นเกิด aftershock รุนแรงตามมามากมาย ซึ่ง สำนักงานอุตุนิยมวิทยา ญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่า แผ่นดินไหวนี้เป็นแผ่นดินไหว “อันหลัก” เพราะมีความรุนแรงกว่าที่เกิดเมื่อวันที่ 14 เม.ย. เวลา 21.26 น. (แผ่นดินไหวขนาด 7.3 นับว่ามีความรุนแรงเทียบเท่าแผ่นดินไหวฮันชิน-อะวะจิ เมื่อปี 2538)
- สำนักงานอุตุฯ ญี่ปุ่นแถลงการเกิดแผ่นดินไหวมีแนวโน้มเกิดขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น และมีความถี่มาก โดยเฉพาะช่วงระหว่างคุมะโมโตะ-โออิตะ
- ตั้งแต่แผ่นดินไหวคุมะโมโตะเมื่อค่ำวันที่ 14 เม.ย. จนถึงวันที่ 18 เม.ย. เวลา 06.00 น. มีแผ่นดินไหวที่บริเวณพื้นที่ประสบภัยที่ร่างกายสัมผัสได้ 508 ครั้ง
- สำนักงานอุตุฯ ญี่ปุ่นแถลงใน 1 สัปดาห์จากนี้มีโอกาสเกิด aftershock ขนาดใหญ่ขึ้นระดับสั่นสะเทือน 6- อีกโดยมีศูนย์กลางบริเวณคุมะโมโตะ-โออิตะ
- เมื่อ 16 เม.ย. เวลา 8.30 น. มีรายงานภูเขาไฟอะโสะ จ.คุมะโมโตะ ปะทุ มีควันพุ่งออกมาประมาณ 100 เมตร ทั้งนี้ การปะทุดังกล่าวไม่มีความเชื่อมโยงกับแผ่นดินไหวที่เกิดตอนนี้

 

(2) ความเสียหาย

- จากแผ่นดินไหวลูกแรก (แมกนิจูด 6.5) มีรายงานผู้เสียชีวิต 9 ราย ใน จ.คุมะโมโตะ เป็นคนญี่ปุ่นทั้งหมด
- หลังจากแผ่นดินไหวลูกที่สอง (แมกนิจูด 7.3 (ลูกหลัก)) มีรายงานผู้เสียชีวิต 33 ราย เป็นคนญี่ปุ่นทั้งหมดมีผู้สูญหาย 10 คน และมีผู้บาดเจ็บ 201 คน
(รวมผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ทั้งหมด 42 คน)
- จำนวนผู้อพยพแผ่นดินไหวที่ จ.คุมะโมโตะ ณ วันที่ 17 เม.ย. เวลา 18.00 น. อยู่ที่ประมาณ 200,000 คน
- มีรายงานบ้านเรือนพังทลายทั้งหลัง 344 หลังคาเรือน และครึ่งหลัง 1,087 หลังคาเรือน นอกจากนี้ สถานที่สำคัญ เช่น ปราสาทคุมะโมโตะ ซึ่งหลังคา ตัวปราสาท และกำแพงได้รับความเสียหายหลายส่วน และศาลเจ้าอะโสะ จ.คุมะโมโตะ พังทลายหลายส่วนรวมทั้งประตูทางเข้าซึ่งเป็นสมบัติแห่งชาติญี่ปุ่น
- มีรายงานรถไฟชินคันเซนที่ไม่มีผู้โดยสารที่จะส่งกลับเข้าศูนย์ที่สถานี jr kumamoto ตกราง
- โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เซ็นได จ.คาโกะชิมะ ที่เปิดใช้งานอยู่ไม่มีความผิดปกติใดๆ ยังทำงานเช่นเดิม

 

(3) การคมนาคม

- 18 เมย สนามบินคุมะโมโตะ จะยังปิดให้บริการทุกเที่ยวบิน เนื่องจากได้รับความเสียหายรุนแรง อย่างไรก็ดี สนามบินอื่นๆ ในคิวชูมีการให้บริการเฉพาะกิจ ดังนี้
ANA - ให้บริการจากสนามบินฟุคุโอกะ - คาโกะชิมะ 4 รอบบิน (8 เที่ยวบิน) และสนามบินคาโกะชิมะ - โอซากา ให้บริการ 1 รอบบิน (2 เที่ยวบิน)
JAL - ให้บริการจากสนามบินฟุคุโอกะ - คาโกะชิมะ 6 รอบบิน (12 เที่ยวบิน) และสนามบินฟุคุโอกะะ - มิยาซากิ ให้บริการ 2 รอบบิน (4 เที่ยวบิน)
Japan Air Commuter - ให้บริการจากสนามบินฟุคุโอกะ - คาโกะชิมะ 2 รอบบิน (4 เที่ยวบิน)
- 18 เมย Kyushu Shinkansen ทุกสายยังคงหยุดวิ่งและยังไม่มีกำหนดจะกลับมาเริ่มวิ่งเมื่อใด รถไฟสายธรรมดา มีบางส่วนที่หยุดวิ่งโดยเฉพาะบริเวณ จ.คุมะโมโตะ

 

(4) การดำเนินการของรัฐบาลญี่ปุ่น

- นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้จัดการประชุมฉุกเฉินและแถลงข่าวหลายครั้ง โดยสั่งการให้หน่วยงานต่างๆติดตามข่าวสารใกล้ชิด ให้ข้อมูลแม่นยำแก่ ปชช. ยึดความปลอดภัย ปชช.เป็นสำคัญ พร้อมส่งดับเพลิง ตำรวจ กองกำลังป้องกันตนเองสนับสนุนพื้นที่เกิดเหตุ รวมกันมากกว่า 25,000 คน
- นรม.ญี่ปุ่น สั่งการให้เตรียมอาหาร การรักษาพยาบาล น้ำ ฯลฯ แก่พื้นที่ประสบภัยให้พร้อม

 

(5) ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

- เมื่อเช้าวันที่ 16 เม.ย. รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศพร้อมให้ความช่วยเหลือ แก่ รัฐบาลญี่ปุ่นในทุกรูปแบบ โดยเมื่อวันที่ 17 เม.ย. เวลา 11.20 น. รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศรับความช่วยเหลือเครื่องบินขนส่งเสบียงจากกองทัพสหรัฐฯ และเมื่อวันที่ 18 เม.ย. เครื่องบินสำหรับขนส่งเสบียง Osplay ของกองทัพสหรัฐฯ จำนวน 4 ลำ ถึงญี่ปุ่นแล้ว เพื่อร่วมสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว
- เมื่อบ่ายวันที่ 16 เม.ย. สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ได้ส่งสารจากนายกรัฐมนตรีไทย ถึงนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์และย้ำความพร้อมของ รัฐบาลไทย ที่จะให้ความช่วยเหลือทุกรูปแบบ ซึ่งมีสื่อญี่ปุ่น เช่น asahi, nihon tv, mainichi, nikkei นำเสนอข่าวเรื่องนี้
- นสพ mainichi : เมื่อวันที่ 16 เม.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสถึงสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น แสดงความเสียใจต่อสมเด็จพระจักรพรรดิและประชาชนญี่ปุ่น
- เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ไต้หวัน ได้บริจาคเงินช่วยเหลือ จ.คุมะโมโตะ 10 ล้านเยน และต่อมาวันที่ 16 เม.ย. ได้ประกาศมอบเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 55 ล้านเยน และแจ้งรัฐบาลญี่ปุ่นว่า พร้อมให้ความช่วยเหลือในการส่งทีมช่วยเหลือฉุกเฉิน นอกจากนี้พรรคฝ่ายค้านไต้หวันได้บริจาคเงินด้วย 3.4 ล้านเยน
- เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ประธานาธิบดีรัสเซีย มีข้อความถึงนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แสดงความเสียใจและให้กำลังใจต้อเหตุแผ่นดินไหว
- เมื่อวันที่ 16 เม.ย. นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ทวิตเตอร์ข้อความแสดงความเสียใจและมีความรู้สึกร่วมกับผู้ประสบภัย และพร้อมให้ความช่วยเหลือญี่ปุ่นในทุกเรื่องหากต้องการ
- เมื่อวันที่ 16 เม.ย. นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทวิตเตอร์ข้อความแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตและผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว
- เมื่อวันที่ 16 เม.ย. โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตและให้กำลังใจผู้บาดเจ็บและประสบภัยแผ่นดินไหว และ เมื่อวันที่ 15 เม.ย. รมว.ต่างประเทศจีน มีสาส์นแสดงความเสียใจถึง รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่น
- เมื่อวันที่ 16 เม.ย. นายกรัฐมนตรีอินเดีย ทวิตเตอร์ข้อความแสดงความเสียใจและให้กำลังใจผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

คำอธิบายเพิ่มเติม

- แมกนิจูดคือขนาดแผ่นดินไหว ณ ศูนย์กลาง
- Shindo คือแรงสั่งสะเทือน ณ จุดนั้นๆ ที่รับรู้แรงสั่นสะเทือน ในมาตราญี่ปุ่นมี shindo ถึงระดับ 7 ได้แก่ 7, 6+, 6-, 5+, 5-, 4, 3, 2, 1 โดย 7 คือแบบถ้าสั่นแล้วยืนอยู่ไม่ได้ อาคารที่ไม่แข็งแรงถล่มได้ ในแผ่นดินไหวอันเดียวกันที่อื่นๆ ที่ห่างออกไปรับรู้แรงสั่นสะเทือนลดหลั่นกัน เช่น รอบๆ จุดศูนย์กลางรับรู้ระดับ 5+ คาโกะชิมะระดับ 4 เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง