ทีดีอาร์ไอแนะรัฐบาลเร่งแก้ประมงผิดกฎหมายเพิ่ม 3 ประเด็น หนีใบแดงอียู

สังคม
25 เม.ย. 59
10:33
309
Logo Thai PBS
ทีดีอาร์ไอแนะรัฐบาลเร่งแก้ประมงผิดกฎหมายเพิ่ม 3 ประเด็น หนีใบแดงอียู
ผอ.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศปมผ. เผยไทยแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายตามที่อียูเสนอแล้ว 36 ประเด็น จาก 65 เรื่อง คาดอีก 3 เดือน ถูกประเมินผล ด้านทีดีอาร์ไอแนะควรเร่งแก้ใน 3 เรื่อง คุมจับสัตว์น้ำ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แก้ไขค้ามนุษย์ หนีใบแดงจากอียู

วันนี้ (25 เม.ย. 2559) พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวว่า กำหนดรือระหว่างตัวแทนไทยกับคณะกรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล สหภาพยุโรป (อียู) เรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) ในเดือน พ.ค.นี้ เป็นการหารือตามปกติที่อียูกำหนด ไม่ได้ประชุมเพื่อให้ใบเหลืองหรือใบแดงแก่ประเทศไทย แต่คาดว่า 3 เดือนจากนี้อาจจะมีผลด้านใดด้านหนึ่ง

“ที่ผ่านมา อียูให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการทำประมงผิดกฎหมายแก่ไทย ทั้งในทางลับและเปิดเผยทั้งหมด 65 ประเด็น ใน 5 กลุ่มงาน ซึ่งไทยปรับปรุงแล้ว 36 ประเด็น แต่บางเนื้องานต้องใช้เวลา 3 เดือน ถึง 2 ปี ซึ่งหากให้ใบแดงแก่ไทยก็จะส่งผลต่ออียูเอง เพราะเป็นผู้ซื้อวัตถุดิบอาหารทะเลรายใหญ่ อย่างไรก็ดี ถ้าได้ใบแดงจริง รัฐบาลคงต้องจัดระเบียบและวางระบบการประมงไทยให้ได้มาตรฐานสากลต่อไป” ผอ.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศปมผ. ระบุ

พล.ร.ท.จุมพล กล่าวต่ออีกว่า ส่วนนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่อธิบายการแก้ปัญหานี้กับอียู ได้ชี้แจงความคืบหน้าการทำงานของไทยมาโดยตลอด

ด้าน นายนณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาตอบโจทย์ปัญหาของอียูได้เพียงครึ่งเดียว เนื่องจากเน้นแก้ไขภาพลักษณ์กระบวนการผลิตสินค้าประมงเพื่อส่งออก เช่น มาตรการการจดทะเบียนเรือ ใบอนุญาตการใช้เรือ ใบอาชญาบัตร การติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งเรือ (วีเอ็มเอส) การจัดทำสมุดบันทึกการทำประมง การจัดตั้งศูนย์แจ้งเข้า-ออกเรือประมง การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมง

นายนณริฎ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งทำใน 3 เรื่อง เพื่อแก้ปัญหา คือ 1.การกำหนดและการควบคุมการจับสัตว์น้ำไม่เกินปริมาณความสมดุลทางธรรมชาติอย่างจริงจัง 2. จัดกระบวนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้ไขปัญหาไอยูยู เช่น รับซื้อเรือคืนเพื่อมีทุนไปประกอบอาชีพใหม่ และ 3.สร้างมาตรการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์และแรงงานทาส

“เชื่อว่าหากรัฐบาลเร่งเดินหน้าเพิ่มเติมใน 3 เรื่องนี้ ไทยจะมีโอกาสหลุดจากใบเหลือง ของอียูได้อย่างแน่นอน” นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง