วันนี้ (11 พ.ค.2559) พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง.กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 7/2559 เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.2559) มีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีทุจริตโครงบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามข้อตกลงที่กรมควบคุมมลพิษจะต้องจ่ายให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG จำนวน 2 งวด โดยให้มีผลในวันที่ครบกำหนดชำระในแต่ละงวด ประกอบด้วย
1) สิทธิเรียกร้องในหนี้เงินงวดที่ 2 เป็นเงินจำนวน 2,380,936,174.53 บาท และ 16,288,391.55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.2559 เป็นต้นไป
2) สิทธิเรียกร้องในหนี้เงินงวดที่ 3 เป็นเงินจำนวน 2,380,936,174.53 บาท และ 16,288,391.55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.2559 เป็นต้นไป
รวมมูลค่าตามสิทธิเรียกร้องในหนี้ จำนวน 4,761,872,349.06 บาท และ 32,576,783.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ
มติคณะกรรมการธุรกรรม ปปง.ครั้งนี้สืบเนื่องจากผลคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ก.ค.2551 ลงโทษนายวัฒนา อัศวเหม ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ลงโทษจำคุก 10 ปี ฐานใช้อำนาจข่มขู่ หรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ให้ออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบจำนวน 1,900 ไร่ทับที่คลองสาธารณะประโยชน์และที่ทิ้งขยะซึ่งเป็นที่หวงห้ามเพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ
ต่อมาในวันที่ 17 ธ.ค.2558 ศาลอาญาพิพากษาว่า นายปกิต กิระวานิช อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา อดีตนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 20 ปี ฐานร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน ทำให้รัฐจัดซื้อที่ดินที่ออกโดยมิชอบ ต้องจ่ายค่าที่ดินและค่าก่อสร้างโครงการ และไม่สามารถดำเนินโครงการเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ
ทั้งนี้ ศาลอาญาได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า "กิจการร่วมค้า NVPSKG และกลุ่มเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับกรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมกันบิดเบือนข้อเท็จจริง ดำเนินการเสนอเข้าประกวดราคาในแต่ละขั้นตอน โดยทุจริต โดยมีจำเลยทั้งสาม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ ปฏิบัติหน้าที่โดยเลือกดำเนินการแต่ละขั้นตอนไปในทางที่ขัดต่อระเบียบทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี และไม่ชอบด้วยกฎหมาย สนองรับดำเนินการให้อันเป็นการทุจริต และเอื้อประโยชน์เพื่อช่วยเหลือจนทุกๆขั้นตอนบรรลุผลสำเร็จ"
ปปง.ระบุว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสัญญานี้เกิดขึ้นจากการทุจริตของอธิบดีและเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษในขณะนั้น สมคบกับกิจการร่วมค้าฯ ในทุกขั้นตอนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มเอกชนดังกล่าวได้เข้ามาเป็นคู่สัญญา จึงเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ซึ่งมีผลในทางกฎหมายให้สัญญาดังกล่าวเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น เสมือนไม่มีการทำสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นเลย
ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้ส่งข้อมูลกรณีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตต่อหน้าที่มายังสำนักงาน ปปง. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีหนังสือขอให้สำนักงาน ปปง.ใช้อำนาจยึดหรืออายัดผู้ร่วมกระทำความผิดคดีคลองด่าน
สำนักงาน ปปง. ดำเนินตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมและเห็นว่ากรณีนี้มีเหตุอันควรน่าเชื่อว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG กับพวก ซึ่งเข้ายึดถือ ครอบครอง และแสวงประโยชน์จากที่ดินสาธารณประโยชน์ที่เป็นคลองสาธารณะที่ลุ่มน้ำทะเลท่วมถึง และเป็นที่ทิ้งขยะของทางราชการที่ออกโฉนดมาโดยมิชอบ เป็นผู้มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดโดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3(15) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
นอกจากนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG กับพวก ยังได้มีส่วนร่วมเป็นผู้สนับสนุน หรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์ และได้รับประโยชน์ที่เป็นทรัพย์สิน จากการกระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ ของนายวัฒนา อัศวเหม กับพวกและนายปกิต กิระพานิช กับพวก ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
ดังนั้น ในที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 7/2559 เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.) ให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว