ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ธุรกิจอสังหาฯ เชียงใหม่เฟื่อง ทุนจีนรุก-ทุบทุนไทย ท้องถิ่นหวั่นกระทบวัฒนธรรม-เติบโตคุมไม่ได้

เศรษฐกิจ
3 มิ.ย. 59
06:31
1,231
Logo Thai PBS
ธุรกิจอสังหาฯ เชียงใหม่เฟื่อง ทุนจีนรุก-ทุบทุนไทย ท้องถิ่นหวั่นกระทบวัฒนธรรม-เติบโตคุมไม่ได้
คอนโดมิเนียมกำลังก่อสร้าง ติดป้ายโฆษณาขายเป็นภาษาจีน, ห้างสรรพสินค้าตรงแยกใหญ่ มีป้ายภาษาจีนบอกว่าจะเปิดปลายปีนี้, ป้ายโฆษณาห้องเช่ารายวันแปะอยู่ที่เสาไฟฟ้าก็เขียนเป็นภาษาจีน หน้าร้านนวดเท้าเป็นป้ายธงสีแดงเพลิงเป็นภาษาจีน

“คนไทยเป็นกลุ่มเป้าหมายรองสำหรับธุรกิจหลายอย่างในเชียงใหม่ไปแล้ว เป้าหมายหลักคือนักท่องเที่ยวชาวจีน ทั้งที่มากับทัวร์และมาแบบเอกเทศ”

5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่จ.เชียงใหม่ เติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งในแนวดิ่ง ประเภทคอนโดมิเนียม เพื่อรองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ และแนวราบเพื่อรองรับคนเมืองที่ต้องการหนีความแออัดออกไปด้านนอก ทำให้เห็นเชียงใหม่ขยายออกไปทุกทิศทาง โดยเฉพาะในเมืองความแออัดเพิ่มมากขึ้น การจราจรหนาแน่นขึ้น ธุรกิจต่างๆ ผุดขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

มีข้อมูลระบุว่าไม่ถึง 5 เปอร์เซนต์ของที่ดินบน ถ.ช้างคลาน และ ถ.เลียบคลองชลประทาน ที่ยังคงถือครองโดยเจ้าของดั้งเดิม

การประเมินราคาที่ดินของกรมธนารักษ์ 2559-2562 ระบุว่า ที่ดินในจ.เชียงใหม่ ที่มีราคาแพงที่สุดอยู่ที่ ถ.ท่าแพ ถ.วิชยานนท์ ถ.ช้างคลาน และทิศเหนือ ถ.ศรีดอนไชย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ตารางวาละ 2.5 แสนบาท

ราคาที่ดินในตัวเมืองเชียงใหม่ขยับขึ้นทุกเดือน สอดคล้องกับความต้องการของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เป้าหมายมีทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งคอนโดมิเนียม โรงแรม ร้านอาหาร ร้านนวดเพื่อสุขภาพ บริษัททัวร์ ธุรกิจท่องเที่ยว ฯลฯ

เจ้าของกิจการเหล่านี้ไม่ได้เป็นคนไทยเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว หลายแห่งเจ้าของเป็นคนจีนและอีกหลายแห่งเป็นหุ้นส่วนกันคนละครึ่ง ความหมายก็คือ คนไทยถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 51 และคนจีนถือหุ้นร้อยละ 49 ตามกฎหมาย ส่วนที่มีคนจีนถือหุ้นเป็นเจ้าของ 100 เปอร์เซนต์ อาจให้คนไทยถือหุ้นแทนเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย

 

นนท์ หิรัญเชรษฐ์ เลขาธิการสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่-ลำพูน ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ถึงที่มาของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของคนจีนในเชียงใหม่ว่า แต่เดิมผู้ประกอบการในท้องถิ่นมีความกังวลกับการเข้ามาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากส่วนกลาง ทุนมหาชนจากกรุงเทพฯ เช่น แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ควอลิตี้เฮ้าส์ แสนสิริ ศุภาลัย ฯลฯ เพราะกลุ่มนี้สามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ขณะที่ทุนท้องถิ่นต้องอาศัยเงินกู้จากสถาบันการเงิน

แต่ใน 2-3 ปี ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการกลับวิตกกังวลกับกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาประกอบธุรกิจอสังหาทรัพย์ในหลายรูปแบบ เช่น โรงแรม อพาร์ตเมนท์ อาคารพาณิชย์ เรสซิเดนท์ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่กำลังจะเปิดปลายปีนี้ (2559) ก็เป็นทุนของนักธุรกิจจีนซึ่งจะต้องเกิดผลกระทบกับทุนท้องถิ่นอย่างแน่นอน

“กลุ่มทุนจีนเป็นกลุ่มทุนที่มีศักยภาพมหาศาล เมื่อเทียบกับกลุ่มทุนของท้องถิ่นกับส่วนกลาง เราค่อนข้างหนักใจ แต่ถ้าพูดถึงภาพรวมที่จะส่งผลดี ก็ในแง่การพัฒนาเมือง ทำให้เมืองเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ปัญหาระยะยาวที่เราวิตกกังวลคือ ปัญหาสังคม เพราะด้วยวัฒนธรรมและอุปนิสัยใจคอของชาวจีน มีความแตกต่างจากคนไทยมาก ฉะนั้นในระยะยาวน่าเป็นห่วงเรื่องปัญหาสังคม” เลขาธิการสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่-ลำพูน กล่าว

 

กลุ่มนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชาวจีนที่เข้ามาลงทุนในเชียงใหม่ จะเริ่มต้นด้วยการมาท่องเที่ยว ก่อนจะมองหาลู่ทางในการทำธุรกิจและติดต่อกับผู้ที่รู้จักกัน และร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วนกับคนไทยในอัตราส่วน  49 ต่อ 51 ตามที่กฎหมายไทยกำหนด เมื่อธุรกิจดำเนินไปและมองลู่ทางว่า หุ้นส่วนชาวไทยไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงขอซื้อในส่วนที่เหลืออีก 51 เปอร์เซนต์ แต่ให้คนไทยถือต่อไปก่อนเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย และอาจจะมีการเซ็นสัญญา 2 ใบ กระทำในนามนิติบุคคล

“เมื่อโครงการเริ่มขึ้นไปเฟส 2 เฟส 3 ส่วนใหญ่บริษัทจะต้องมีการเพิ่มทุน ซึ่งกลุ่มทุนจีนมีศักยภาพในการเพิ่มทุน ก็จะขอซื้อในส่วนที่คนไทยถืออยู่ร้อยละ 51 และให้คนไทยถือครองต่อไป แต่บทบาทในการบริหารมีกลุ่มทุนจีนอยู่เบื้องหลัง”

นนท์ยังยกตัวอย่างให้ฟังว่า หมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ที่เจ้าของเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น แต่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง นักลงทุนชาวจีนจึงเข้ามาซื้อไว้ทั้งหมด โดยให้เจ้าของเดิมเป็นผู้ดำเนินการต่อไป และในสุดโครงการดังกล่าวก็ขายได้หมด เพราะส่วนหนึ่งมีลูกค้าชาวจีนมาอุดหนุนด้วย

แม้ว่านักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลุ่มหนึ่งจะมองว่ากลุ่มทุนจีนจะส่งผลดีในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มที่กังวลในเรื่องผลกระทบต่อสภาพสังคมระยะยาว หากชาวจีนรุ่นใหม่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของเชียงใหม่

นนท์เล่าว่า ตอนนี้ผู้ประกอบการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกมองผลประโยชน์ว่าดี ทำให้เมืองพัฒนาแบบก้าวกระโดด ขณะที่กลุ่มที่สองคิดมาก เพราะสู้อำนาจการลงทุนไม่ได้ และห่วงปัญหาสังคมในระยะยาว แม้ว่าจะมีการคุยกันอยู่ตลอดเวลา แต่ยังหักล้างกันเหตุผลกันไม่ลงตัว

“ต้องเข้าใจว่า คำว่านักลงทุนก็ย่อมแสวงหาผลประโยชน์ ในขณะที่นักลงทุนบอกว่า ในระยะยาวกลัวปัญหาสังคม เพราะต่อกรเขาไม่ได้ แต่พอตัวเองไปไม่ไหวจริงๆ พอกลุ่มจีนเข้ามาเทคโอเวอร์ก็จำเป็นต้องขาย เพราะไม่เช่นนั้นตัวเองก็จะถูกธนาคารยึด ถูกฟ้องล้มละลาย คือหาทางออกไม่ได้ เพราะตัวเองก็เป็นนักลงทุน จำเป็นต้องหาทางเอาตัวรอด ฉะนั้นถึงแม้ว่า มันจะค้านกัน 2 กลุ่ม แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันก็ต้องยอมสยบเรื่องทุน” นนท์กล่าว

 

นอกจากนี้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่เพียงแต่การเข้าถือหุ้นหรือถือครองกิจการเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาที่ตามมาในการดำเนินกิจการต่อเนื่องด้วย สิ่งที่พบว่ากำลังจะกลายเป็นปัญหาในจ.เชียงใหม่ นั่นคือ การนำคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนท์ บ้านจัดสรร ฯลฯ ซึ่งมีเจ้าของเป็นคนจีน นำไปดำเนินกิจการที่พักซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิด พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547

พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 ระบุว่า หากผู้ใดต้องการเปิดบริการโรงแรม จะต้องขอใบอนุญาตเปิดโรงแรม ซึ่งมีอายุ 5 ปี แต่คอนโดมิเนียมหลายแห่งกลับไม่มีใบอนุญาตแสดงให้เห็น ทั้งที่เป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่า ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์สำรวจอาคารขนาดใหญ่หลายแห่งใน จ.เชียงใหม่ ที่สงสัยว่าเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีหุ้นส่วนเป็นชาวจีน แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน ยกเว้นสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นสถานบริการ 1 ใน 12 แห่งที่สมาคมการท่องเที่ยวฯ ได้ร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ให้ดำเนินการเอาผิดในเรื่องนี้

คอนโดมิเนียมแห่งนี้อยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ มีห้องพักแบบ 2 ห้องนอน สำหรับพัก 3 คน ในราคาคืนละ 1,500 บาท และ 2 ห้องนอนสำหรับพัก 4 คน ในราคาคืนละ 1,700 บาท ซึ่งถือว่าถูกกว่ามาก หากเทียบกับราคาค่าห้องพักในโรงแรม มีข้อมูลว่า ห้องพักที่ปล่อยเช่าเหล่านี้ มีเจ้าของเป็นชาวจีนและให้บุคคลอื่นเช่า ระหว่างที่ตัวเองไม่ได้เดินทางมาประเทศไทย

ห้องที่ผู้สื่อข่าวทดลองเช่า เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เป็นห้องราคาคืนละ 1,700 บาท ภายในห้องพักมีคำแนะนำต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นภาษาจีน รวมถึงช่องรายการต่างๆ ในโทรทัศน์ก็เป็นรายการของประเทศจีน มีพนักงานเป็นชายชาวจีนที่ใช้ภาษาจีนและภาษาอังกฤษในการสื่อสารเท่านั้น ทั้งหมดบ่งบอกว่า คอนโดมิเนียมแห่งนี้ รองรับตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวต่างชาติ โดยเปิดให้จองห้องพักผ่านแอพลิเคชันหรือระบบจองห้องพักในอินเทอร์เน็ต

 

พนักงานต้อนในคอนโดมีเนียมแห่งนี้ให้ข้อมูลว่า ที่นี่มีนิติบุคคล 2 บริษัทแยกกันดูแล บริษัทแรกดูแลการขายห้องพัก ส่วนอีกบริษัทหนึ่งดูแลการให้เช่าห้องที่มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ โดยให้เช่าทั้งในรูปแบบรายวันและรายเดือน

พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 มาตรา 4 ระบุไว้ว่า “โรงแรม” หมายถึง สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทน แต่สถานที่พักที่คิดค่าบริการรายเดือนขึ้นไปไม่ถือว่าเป็นโรงแรม ซึ่งการให้บริการในลักษณะนี้ ส่งผลให้ท้องถิ่นไม่สามารถจัดเก็บภาษีอากรกิจการโรงแรมจากคอนโดมิเนียมที่เปิดให้เช่าห้องได้

แม้การเปิดบริการให้เช่ารายวันในลักษณะนี้ยังไม่แพร่หลายและมักจำกัดอยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาด้วยตัวเอง มากกว่านักท่องเที่ยวที่มากับบริษัททัวร์ แต่หลายฝ่ายมองว่า ในระยะยาว กิจการโรงแรมและที่พักท้องถิ่นอาจได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับธุรกิจบริการอย่างอื่นในเชียงใหม่ ที่มีเจ้าของหรือหุ้นส่วนใหญ่เป็นชาวจีน และรับเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลัก โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมาก ไม่มีโอกาสเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการที่มีเจ้าของเป็นคนไทยหรือคนในท้องถิ่นเลย

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง