ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ส่งจม.ถึงศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชี้บ้านพักจุดเริ่มรุกดอยสุเทพ หลักฐานชัดครม.เพิกถอนที่อุทยานฯ

ภูมิภาค
10 มิ.ย. 59
14:30
1,442
Logo Thai PBS
ส่งจม.ถึงศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชี้บ้านพักจุดเริ่มรุกดอยสุเทพ หลักฐานชัดครม.เพิกถอนที่อุทยานฯ

วันนี้ (10 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงานว่า นายบัณรส บัวคลี่ สื่อมวลชนอิสระ ซึ่งมีบ้านพักอยู่ในจ.เชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Bunnaroth Buaklee https://www.facebook.com/bunnaroth.buaklee?fref=nf&pnref=story

 ระบุถึงการก่อสร้างบ้านพักจำนวนหลายหลัง บริเวณเชิงดอยสุเทพใกล้ห้วยตึงเฒ่า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หลังจากมีภาพการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ซึ่งพบว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 อยู่ในพื้นที่ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และ อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

 

นายบัณรสระบุว่า กราบเรียน ศาลอุทธรณ์ภาค 5

ขอใช้พื้นที่นี้แทนจดหมายเปิดผนึกสื่อสารถึงท่านโดยตรง ผมตั้งใจเรียนไปถึงศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่เจาะจงที่ท่านใดตำแหน่งใด เพราะต้องการเรียนให้ถึงทุกท่านที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะแสดงความคิดความเห็นต่อท่าน ในฐานะประชาชนที่มีบ้านในเชียงใหม่คนหนึ่ง ด้วยความสุจริตใจ มองประโยชน์บ้านเมือง ท้องถิ่น สังคม เป็นที่ตั้ง

เมื่อวานผมพลาดไป ที่ไม่เชื่อว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะเป็นเจ้าของโครงการหมู่บ้านหรู บนชั้นยอดสุดของพื้นที่ก่อสร้างใหม่ตามที่เป็นข่าว แม้ว่าจะมีข้อมูลออกมาผ่านไลน์กลุ่มและในสื่อตั้งแต่เช้า ผมเลยโพสต์ไปเช่นนั้นว่า ศาลฯ ไม่เกี่ยวกับหมู่บ้านหรู

เพราะผมดันไปเชื่อจากสายตาตัวเองว่า การก่อสร้างอาคารที่ทำการศาล (ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่มาก) อยู่ติดกับริมถนนคลองชลฯ สร้างบนพื้นราบแท้ๆ ด้านหลังใกล้กันก็มีแฟลตและบ้านพักเรียงราย สามารถเดินจากที่พักมายังสำนักงานได้.... การก่อสร้างดังกล่าวก็ชัดเจนเป็นประจักษ์อยู่....ส่วนบ้านพักหรูด้านบนตามที่เป็นข่าว มันไกลกันไม่น้อยเลยนะ... ต้องไต่ดอยขึ้นไปอีกไกล เกือบกิโลได้กระมังครับ ...ผมจึงเชื่อตามประสาผมว่า มันไม่น่าจะเกี่ยวกัน อาจจะเป็นการผสมโรงสร้างพร้อมๆ กับศาล จนกระทั่งมาทราบเมื่อมีการแถลงข่าวว่าที่แท้เป็นส่วนเดียวกัน นี่เป็นความผิดพลาดของกระผมเมื่อวานนี้ ที่ดันใช้สายตาแยกพื้นที่เป็นสองส่วน ทั้งๆ ที่เป็นส่วนเดียวกันแท้ ๆ

“ผมไม่บังอาจกล่าวหาใด ๆ ต่อท่านว่า ทำโครงการผิดกฎหมาย หรือกระทั่งมีการดำเนินการไม่บริสุทธิ์ เพราะผมเชื่อว่าราชการย่อมต้องถือกฏหมายอย่างเคร่งครัด ผมเชื่อโดยสุจริตว่า ศาลฯ ท่านดำเนินการโดยถูกต้องทุกประการ

แต่ปัญหาก็คือ...ต่อให้ถูกต้องทุกประการ แต่รอยไถวิ่น โดดเด่นสูงกว่าจุดอื่น เป็นบาดแผลของภูผา มันได้ก่อให้เกิดมลภาวะทางสายตาและทางจิตใจของผม และเชื่อว่าคนอื่นๆ ที่พบเห็นคงรู้สึกเช่นเดียวกัน ปัญหาของผมอยู่ตรงนี้ จึงนำเรียนมาให้ท่านได้กรุณาทราบ การนำความรู้สึกสะเทือนใจมาบอกกล่าวคงไม่ผิดใช่ไหมครับท่าน” นายบัณรสระบุ

 

ดอยสุเทพเป็นชัยมงคลเมืองอันสำคัญมายาวนานนับแต่พญามังราย บัดนี้ก็ 720 ปีแล้ว คำขวัญของเมืองเชียงใหม่ก็ชัดเจนว่าดอยสุเทพเป็นศรี เป็นมิ่ง เป็นขวัญ ไปไหนมานานๆ กลับมามองเห็นดอยสุเทพเป็นทิวทะมึนแข็งแกร่ง นำความมั่นคงอบอุ่นในหัวใจผู้คน

ในความเป็นจริง ดอยสุเทพ-ปุย ถูกทำลายไปมาก แต่ดอยด้านหน้า ก็คือด้านที่ติดเมืองได้รับการปกป้องรักษาให้เป็นป่า (ค่อนข้าง) สมบูรณ์กว่าด้านหลัง ที่แทบจะเละไปแล้ว นั่นเพราะด้านหน้ามีสายตาของประชาชนช่วยกันจับจ้อง และที่สำคัญที่สุดก็คือ มีแนวป้องกัน หรือ บัฟเฟอร์โซน เป็นแนวยาว...ป้องกันการบุกรุกแผ้วถาง ก่อสร้าง ทำลาย ได้ค่อนข้างดี

บัฟเฟอร์โซนของดอยสุเทพด้านตะวันออกหรือด้านที่ติดเมือง ก็คือ หน่วยราชการที่ถือครองที่ดินเป็นแนวยาวจากแม่เหียะ ม.ช. สวนสัตว์ และที่สำคัญคือหน่วยทหาร เป็นแนวยาวไปเกือบถึงแม่ริม แนวถัดขึ้นไปคือเขตป่าสงวนและเขตอุทยานแห่งชาติ

ตลอดร้อยปี หรือไม่ต้องร้อยปีก็ได้....หลายสิบปีมานี้...หน่วยราชการที่มีพื้นที่ติดกับดอยสุเทพ ช่วยกันดูแลพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ต่อให้บางหน่วยมีที่ถือครองสูงขึ้นไปจากพื้น แต่หน่วยเหล่านั้นก็ไม่ไปรุก ไปล้ำ ไปทำลาย ให้สูงขึ้นไปจากแนว

 

แนวปฏิบัติของหน่วยราชการที่ผ่าน ๆ มา ช่วยปกปักษ์รักษาดอยสุเทพเอาไว้ให้เป็นมิ่งขวัญ เป็นศรีของเมืองได้มายาวนาน ... จนกระทั่งเกิดกรณีการก่อสร้างหมู่บ้านที่พักบนจุดสูงกว่าแนวปกติ ที่หน่วยงานของท่านดำเนินการอยู่

กลายเป็นราชการขยับแนวบัฟเฟอร์โซนขึ้นใหม่เอง

นายบัณรสระบุต่ออีกว่า ในระหว่างที่ค้นข้อมูลเรื่องโครงการที่เป็นข่าว ผมได้ทราบว่า ครม.เพิ่งจะมีมติเพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย อีก 2,349 ไร่กว่า ๆ ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาและประกาศผังแนบท้ายว่าเป็นจุดใดบ้าง นอกเหนือจากที่ดินซึ่งมีหน่วยงานเฉพาะถือครองไว้นานแล้ว (เฉพาะส่วนนี้รวมกันรวม 600 กว่าไร่ ยังอีกราว 1700 ไร่ที่สาธารณะยังไม่รู้)

เรื่องการเพิกถอนอุทยานฯ จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับโครงการของท่านผมก็ไม่ทราบ แต่ในภาพรวมมันเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นก็คือ มีผลต่อภาพรวมของดอยสุเทพ-ปุย

มันจึงเกิดความหวั่นวิตกว่า การดำเนินการของหน่วยราชการและรัฐ จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ หากว่าแนวเขตที่ดินที่ถูกเพิกถอนเป็นแนวดอยด้านหน้าติดตัวเมือง ก็ยิ่งน่าหวาดวิตกไปกันใหญ่ว่า จะมีการขยับ แนวป้องกัน หรือ บัฟเฟอร์โซน ถอยร่นขึ้นไปอีก... ป่าดอยสุเทพจะหายไปอีกเท่าไหร่ไม่รู้

 

การเพิกถอนความเป็นอุทยานแห่งชาติ ที่แท้ก็คือการปลดล็อกเงื่อนไขควบคุมที่เข้มงวดให้ผ่อนปรนลงมา การไถถาง ก่อสร้างใดๆ สามารถกระทำได้ เรื่องราวพวกนี้เป็นเรื่องที่สาธารณะควรจะรับทราบ แต่ท่านทราบหรือไม่ครับว่าตอนนี้ประชาชนทั่วไปยังแทบจะไม่รู้อะไรเลย แม้กระทั่งแนวเขตเดิม กับแนวเขตใหม่หลังการเพิกถอนมันต่างกันยังไงก็ไม่รู้ หรือกระทั่งจุดที่โครงการของหน่วยงานท่านกำลังดำเนินการ อยู่ห่างจากเขตุอุทยานแค่ไหน ..มีแต่ภาพเผยแพร่ที่ไม่บอกที่มา แนวเก่าหรือแนวใหม่ ก็ไม่มีใครรู้

นายบัณรสระบุว่า นำเรื่องเหล่านี้มาเรียนต่อท่านเพื่อจะบอกว่า การที่ผมและคนอีกจำนวนหนึ่งสนใจเรื่องนี้ เพราะมันมีหลายเหตุรวมๆ กัน เป็นสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความวิตก ห่วงกังวล ต่ออนาคตของดอยสุเทพอันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งของเมือง ดังที่ได้นำเรียนมาทั้งหมด

ทั้งหมดทั้งมวล อยากจะเรียนท่านว่าสิ่งที่หน่วยงานของท่านได้ดำเนินไปมันได้สร้างแนวเขตใหม่ ระหว่างเขตป่า-กับเขตเมืองสิ่งปลูกสร้างต่างๆ หน่วยของท่านได้ล้ำแนวบัฟเฟอร์โซนที่หน่วยราชการอื่นๆ ได้ดำเนินการยาวนานสืบกันจนกลายเป็นมาตรฐานขึ้นมา.. สูงล้ำกว่าใครอื่นเขาขึ้นไป มันสุ่มเสี่ยงมากที่จะนำมาสู่การรุกล้ำเพิ่มตามๆ มา ... อีกประการหนึ่ง มันระคายสายตา ก่อให้เกิดความสะเทือนใจ ความวิตกกังวลไปพร้อมกัน

 

ผมไม่บังอาจเสนอแนะทางออก หรือบอกให้แก้อะไรต่อท่านหรอกครับ เอาแค่ปลุกปลอบตัวเองให้เขียนจดหมายนี้ขึ้นมาก็กินแรงเยอะแล้ว ตามข่าวบอกว่าศาลฯอาจจะพิจารณาฟ้องเอาผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ฯอะไรนั่นอีก ผมกลัวจริงๆ นะครับ

แต่ก็จำเป็นต้องนำเสนอความคิดเห็นและความวิตกกังวลนี้ต่อท่านดังๆ ด้วยเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของส่วนรวมจริง ๆ

ได้โปรดกรุณาพิจารณา

บัณรส บัวคลี่
ราษฎรผู้ชอบเดินเล่นมองวิวดอยสุเทพแต่ไกล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง