ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดรายงาน กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 ใน 6 ประเด็น

การเมือง
13 มิ.ย. 59
16:42
1,729
Logo Thai PBS
เปิดรายงาน กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 ใน 6 ประเด็น
ศูนย์ทนายฯ เปิดจดหมายผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ใน 6 ประเด็น ของ กสม. พร้อมแนะทางออก ให้ ครม.ใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมเพื่อปฏิรูปประเทศ

จากกรณีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคมและประชาชน ขอให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 โดย กสม.มีรายงานผลการพิจารณาที่ 1270 – 1294/2558 ลงวันที่ 24 พ.ย. 2558 ให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเป็นผู้พิจารณาใน 6 ประเด็น เช่น การบังคับใช้กฎอัยการศึกมีความเหมาะสม และเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่ หรือการเรียกบุคคลไปรายงายตัวโดยอาศัยอำนาจตามประกาศ คสช. และกฎอัยการศึกในการขยายระยะเวลาการควบคุมตัวเป็น 7 วัน มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เป็นต้น

วันนี้ (13 มิ.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทาง กสม.มีจดหมายตอบกลับในเรื่องดังกล่าวแก่ศูนย์ทนายฯ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2559 โดยระบุว่าหลังตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายหลังรัฐประหาร ปี 2557 ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใน 6 ประเด็น ดังนี้

การบังคับใช้กฎอัยการศึกมีความเหมาะสม และเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่

ข้อเท็จจริงฝ่ายผู้ร้อง ระบุว่า การควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ปกปิดสถานที่คุมตัว ไม่เปิดเผยให้ครอบครัวทราบ ไม่ได้รับอนุญาตให้พบทนายความ บุกค้นบ้าน ยึดและค้นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รวมถึงการออกหมายจับ เพื่อถอนหนังสือเดินทาง จำกัดการชุมนุมต่าง ๆ และกำหนดให้พลเรือนต้องอยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลทหาร
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เข้าข่ายเป็นการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีอย่างน้อย 7 กรณี

ข้อเท็จจริงจากผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ.อ.วิจารณ์ จดแตง และ พ.อ.สัญชัย บูรณะสัมฤทธิ์ ชี้แจงว่า การบังคับใช้กฎอัยการศึกมีความจำเป็น เนื่องจากสังคมมีปัญหาความขัดแย้งสะสมมาหลายปีหากไม่เข้ามาดำเนินการจะต้องมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ตั้งแต่ปลาย ต.ค. 2556-พ.ค. 2557 มีการใช้อาวุธสงครามร้ายแรง ประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นกฎอัยการศึกจึงเป็นมาตรการที่จำเป็น เพื่อควบคุมสถานการณ์ แม้นานาชาติจะไม่ให้การยอมรับ แต่ก็จำเป็นสำหรับประเทศไทย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดความเสียหายต่อประเทศไทยอย่างมาก

อย่างไรก็ดี การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จะเป็นไปตามนโยบายของ คสช.หรือผู้บัญชาการทหารบก คือ ใช้กฎอัยการศึกเท่าที่จำเป็น เน้นการประนีประนอม การแสดงความคิดเห็นสามารถใช้ช่องทางของศูนย์ดำรงธรรมได้

ข้อเท็จจริงจากการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ แบ่งออกเป็น 3 ประเด็น คือ (1) ความเป็นมาของประกาศกฎอัยการ (2) เจตนารมณ์ของกฎอัยการศึก และ (3) สถานการณ์ฉุกเฉินภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

ประเด็นแรก อนุกรรมการฯ ได้อ้างการชุมนุมทางการเมืองในปลายปี 2556 ว่า ความรุนแรงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีท่าทีว่าจะเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดเหตุการณ์จลาจล วันที่ 20 พ.ค. 2557 จึงได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้ง กอ.รส. ควบคุมสถานการณ์ให้ยุติการชุมนุม ต่อมามีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ในมาตรา 4 ต่อมา 1 เม.ย. 2558 ได้ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร แต่ในวันเดียวกันมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่หัวหน้า คสช.อย่างกว้างขวาง

ประเด็นที่ 2 กฎอัยการศึกมีเจตนารมณ์เพื่อให้เป็นเครื่องมือ ในการที่จะรองรับอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่จะรักษาความมั่นคงของประเทศชาติเมื่อยามคับขันและจำเป็นที่ไม่อาจใช้หน่วยงานของฝ่ายพลเรือนได้ ซึ่งกฎอัยการศึกเป็นกฎหมายพิเศษที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต จำต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนลงบ้าง เพื่อความมั่นคงของราชอาณาจักร
ส่วนในประเด็นที่ 3 ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยจะต้องให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชน แต่อาจรอนสิทธิได้ หากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างถูกต้องเหมาะสม และแสดงให้เห็นว่าไม่มีมาตรการเบากว่านี้ที่จะสามารถตอบโต้ภัยคุกคามที่เผชิญอยู่ได้ แต่ไม่สามารถรอนสิทธิในชีวิตร่างกายได้

การเรียกบุคคลไปรายงายตัวโดยอาศัยอำนาจตามประกาศ คสช. และการบังคับใช้กฎอัยการศึกในการขยายระยะเวลาการควบคุมตัวเป็น 7 วัน มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ข้อเท็จจริงฝ่ายผู้ร้อง ในประเด็นการเรียกรายงานตัวมี 3 กรณี คือ น.ส.จิตรา คชเดช นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ร้องเรียนว่าถูกออกหมายจับ ยกเลิกหนังสือเดินทาง ต้องไปรายงานตัวที่ค่ายทหาร ในประเด็นการควบคุมตัว 7 วัน มี 6 กรณีที่ถูกบุกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่จำนวนมาก มีการยึด ค้น แจ้งความดำเนินคดี

ข้อเท็จจริงจากผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ ได้ชี้แจงในประเด็นการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกว่า ไม่เหมือนการควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั่วๆไป ซึ่งการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกเป็นไปเพื่อสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องที่ คสช.สงสัย ตามกฎอัยการศึก ไม่มีบทลงโทษ แต่เป็นเพียงการสอบสวนไปหาความผิดอื่น แล้วจึงแจ้งข้อกล่าวหาและลงโทษตามกฎหมายอาญา

ข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายประสิทธิพร เวทย์ประสิทธิ์ ผู้แทนกรมการกงสุล ได้ชี้แจงกรณีการเพิกถอนหนังสือเดินทางของผู้ที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ว่า เป็นการปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันในคดีอื่นๆ คือ กรมการกงสุลจะต้องได้รับหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแจ้งว่าศาลได้ออกหมายจับกรณีหลบหนีการจับกุมตัว และขอให้ดำเนินการเพิกถอนหนังสือเดินทาง ซึ่งไม่ต้องแจ้งให้เจ้าของหนังสือเดินทางทราบ เนื่องจากไม่รู้ว่าหลบหนีอยู่ที่ใด ไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะแต่กรณีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. หากบุคคลผู้ที่ถูกเพิกถอนหนังสือเดินทางประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย สามารถดำเนินการได้โดยไปที่สถานทูต เพื่อขอออกหนังสือสำหรับเดินทางกลับไทยได้

การจับกุมผู้ต้องหาในคดีอาญาหรือการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก มีพฤติการณ์ซ้อมทรมานอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงหรือไม่

ข้อเท็จจริงจากการพิจารณาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รวบรวมข้อร้องเรียนว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการทรมาน ในระหว่างควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกอย่างน้อย 7 กรณี โดยอนุกรรมการฯ ได้เข้าเยี่ยมผู้ร้องเรียนบางราย เช่น

นายชัชวาล ปราบบำรุง ได้ให้ถ้อยคำว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวโดยมัดมือ ปิดตา ควบคุมตัวไว้ที่ค่ายทหารไม่ทราบชื่อ มีการข่มขู่เอาชีวิตตนเองและครอบครัว ซ้อมทรมานด้วยการทำร้ายร่างกาย ช๊อตด้วยกระแสไฟฟ้า เอาถุงพลาสติกคลุมศีรษะให้ขาดอากาศหายใจ เป็นต้น

นายณรงค์ศักดิ์ พลายอร่าม ได้ให้ถ้อยคำว่า ระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร เจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานให้รับสารภาพ ไม่ได้พบญาติ ถูกใส่กุญแจมือตลอดเวลา มีการนำไฟฟ้ามาช๊อตเพื่อข่มขู่ เมื่อตอบคำถามเจ้าหน้าที่ช้าจะถูกทำร้าย

นายกิตติศักดิ์ สุ่มศรี ได้ให้ถ้อยคำว่า สารภาพยอมรับผิดเนื่องจากถูกซ้อมทรมาน ถูกทำร้ายตามเนื้อตัวร่างกาย ถูกนำถุงพลาสติกคลุมศีรษะให้ขาดอากาศหายใจ ถูกข่มขู่ว่าจะช๊อตไฟฟ้า

ข้อเท็จจริงจากผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.อ.วิจารณ์ จดแตง ชี้แจงว่า การนำตัวผู้กระทำความผิดไปซักถามเป็นการปฏิบัติตามกฎอัยการศึกและไม่สามารถปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ โดยใช้วิธีการเชิญตัวมาซักถาม หาความเกี่ยวโยงถึงเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น มีการแยกผู้ต้องหาชายหญิงออกจากกันชัดแจน โดยผู้ชายจะถูกควบคุมตัวไว้ในค่ายทหาร ส่วนผู้หญิงจะถูกควบคุมตัวไว้ที่หมวดสารวัตรทหารหญิง และระหว่างการซักถามจะไม่มีการทำร้ายหรือขู่เข็ญใดๆ

ผู้ถูกควบคุมตัวยังมิใช่ผู้ต้องหาตามกฎหมายซึ่งหากในการซักถาม มีทนายความอยู่ด้วยก็จะให้คำแนะนำ ทำให้ไม่ได้ข้อมูลหรือผลอะไร เนื่องจากซักถามในประเด็นความมั่นคง อีกทั้งชุดปฏิบัติการด้านต่างๆ ของ คสช.เป็นชุดปฏิบัติการลับด้านการข่าว หากเกิดความไม่ถูกต้อง หัวหน้าชุดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

การดำเนินคดีกับพลเรือนในเขตอำนาจศาลทหารเป็นการละเมิดสิทธิทางกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

ข้อเท็จจริงฝ่ายผู้ร้อง ได้ความว่า ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งพิจารณาลับ ในคดีหมิ่นกษัตริย์ (112) ที่พลเรือนเป็นจำเลยโดยไม่ได้รับการประกันตัว ทั้งสองเคยฝากขังด้วยอำนาจศาลอาญา ก่อนจะโอนย้ายมาฝากขังด้วยอำนาจศาลทหาร และถูกฟ้องต่อศาลทหาร

ส่วนอีกกรณีหนึ่งผู้ร้องมีเอกสารชี้แจงว่า การแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง การพิจารณาคดีในศาลทหารไม่มีความเป็นอิสระ เนื่องจากศาลทหารขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม ความไม่เป็นธรรมและไม่เป็นกลางในการอำนวยความยุติธรรม กระบวนการพิจารณาไม่เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้ผู้ร้องไม่ได้รับความเป็นธรรม

นอกจากนี้ ผู้ร้องไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการต่อสู้คดีโดยปราศจากเหตุผล เช่น อ้างว่าจะมีการหลบหนี ทั้งที่ไม่มีการไต่สวนพยานหลักฐาน ไม่มีหลักประกันการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย การนำผู้ร้องหรือผู้อื่นซึ่งเป็นพลเรือนไปให้ศาลทหารพิจารณาคดีถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น

ข้อเท็จจริงจากผู้แทนกรมพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ท.พุฒิพงษ์ ชีพสมุทร ได้ชี้แจงว่า กระบวนการยุติธรรมในศาลทหารถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิจารณาคดีด้วยความโปร่งใส ผู้พิพากษามีความเป็นอิสระและไม่มีใครจะมาสั่งคดีได้ การสั่งพิจารณาลับในศาลทหารเหมือนกับการสั่งพิจารณาลับในศาลยุติธรรม เหตุในการสั่งการพิจารณาคดีเป็นการลับมีหลักเกณฑ์ คือ เป็นคดีที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี หรือขัดต่อความมั่นคงของรัฐ หรือโจทก์ร้องขอให้พิจารณาลับ

ในห้องพิจารณาคดีของศาลทหารรับได้จำนวนจำกัดประมาณ 30 คน บางคดีมีหน่วยงานจากต่างประเทศ ผู้แทนประเทศต่างๆ ผู้แทนผู้สื่อฯ ขอเข้าเพื่อการรับฟังการพิจารณาคดีซึ่งศาลทหารก็ไม่เคยปิดกั้นและให้เข้าทุกครั้ง การพิจารณาคดีเป็นไปโดยเปิดเผย เว้นแต่พิจารณาคดีเป็นการลับในคดี 112 ที่เป็นการกล่าวอ้างหรือคำพูดหมิ่น โดยกฎหมายบัญญัติเช่นใด ผู้พิพากษาก็ต้องทำตามนั้น ไม่มีนโยบายใดๆ

กรณีการปล่อยตัวชั่วคราวในศาลทหาร เป็นดุลพินิจของศาลทหารในการพิจารณา ศาลทหารไม่มีคำสั่งที่เป็นนโยบายไม่ให้ประกันตัวแต่ประการใด

การใช้กฎอัยการศึกจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพในการชุมนุม มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ประเด็นย่อย 1 เรื่องการจัดกิจกรรมทางวิชาการ ข้อเท็จจริงฝ่ายผู้ร้องกรณีการถูกห้ามจัดกิจกรรมทางวิชาการที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ถูกห้ามจัดงานเสวนาห้องเรียนประชาธิปไตย : บทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ และ เสวนาความสุขและความปรองดองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

ข้อเท็จจริงจากผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.อ.วิจารณ์ จดแตง และ พันโท บุรินทร์ ทองประไพ ชี้แจงว่าเป็นการขอความร่วมมือ การจัดกิจกรรมด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยนั้นสามารถทำได้ แต่เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศไทยอยู่ในระหว่างดำเนินการแบบพิเศษ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและสร้างความปรองดองเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและด้านจิตวิทยา เมื่อประเทศเดินไปข้างหน้าแล้ว สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ก็ย่อมสามารถดำเนินการต่อไปได้

นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อสื่อหลายครั้งแล้วว่าในช่วงเวลานี้ขอให้ระงับไว้ก่อนอย่าเพิ่งเรียกร้องสิทธิที่จะแสดงออก อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก ซึ่งจะเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาตาม Road map ซึ่งฝ่ายทหารต้องเข้าไปชี้แจงและทำความเข้าใจ หากเป็นหัวข้อที่ล่อแหลมอาจสร้างความขัดแย้งหรือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอาจนำมาโต้แย้งหรือนำไปเป็นเยี่ยงอย่าง จะทำให้เกิดปัญหาได้เรื่องการจัดกิจกรรม คสช.ไม่ได้ปิดกั้น สามารถร้องขอและขออนุญาตจาก คสช.ได้ โดยจะมีคณะกรรมการพิจารณาว่าสมควรที่จะให้จัดกิจกรรมหรือไม่
ถ้าเป็นหน่วยงานของรัฐ เช่น คณะหรือมหาวิทยาลัย ถ้าเกี่ยวข้องกับทางวิชาการและกระทบต่อการเมือง ทาง คสช.ได้เปิดช่องทางไว้ในการร่วมเสวนา เมื่อมีการเปิดเวที ก็สามารถเข้าไปร่วมได้ อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องมาจัดงานให้ล่อแหลม หรือทำให้เกิดปัญหา

ประเด็นย่อย 2 เรื่องการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาข้อเท็จจริงฝ่ายผู้ร้องมีกรณีที่กลุ่มดาวดินแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการใส่เสื้อไม่เอารัฐประหารและชูสามนิ้วขณะที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่น กรณีเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัวด้วยการใช้ความรุนแรง กรณีการควบคุมตัว 14 นักศึกษาเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2558

ข้อเท็จจริงฝ่ายผู้ถูกร้องผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ประสงค์ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีที่เกิดขึ้น

ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.อ.นุรัช ทองแก้ว ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 และวันที่ 26 มิ.ย. 2558 ว่า การจับกุมมีเพียงฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นฝ่ายปฏิบัติ ทางทหารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ส่วนคำถามว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่นั้น ไม่ทราบแน่ชัด ส่วนประเด็นความผิดในเชิงสิทธิเสรีภาพไม่ควรขึ้นศาลทหาร ไม่สามารถตอบได้ ส่วนในเรื่องข้อกฎหมาย ให้สอบถามเป็นหนังสือทาง คสช.ยินดีชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร ขอยืนยันว่า คสช.ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและศึกษากฎหมายอย่างดีแล้ว

ส่วนกรณีอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารแต่งกายเต็มยศไปเยี่ยมผู้ปกครองของนักศึกษาถึงบ้าน ก่อนนักศึกษาถูกจับมีทหารนอกเครื่องแบบสะกดรอยติดตาม ยืนยันว่าทหารไม่เกี่ยวข้อง และเป็นทหารจริงหรือไม่นั้น ยังพิสูจน์ไม่ได้

ข้อเท็จจริงจากการพิจารณาดำเนินการคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้เข้าเยี่ยมเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงจากนักศึกษา สาระสำคัญดังนี้ กลุ่มนักศึกษาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร การกระทำของนักศึกษาสามารถทำได้ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนักศึกษาให้ข้อมูลว่าในชั้นศาลทหาร ตุลาการศาลทหารไม่ได้เขียนในสิ่งที่นักศึกษาพูด ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ

ข้อเท็จจริงและความเห็นจากพยานผู้เชี่ยวชาญ ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่าการใช้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ประกาศ คสช. 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 บังคับใช้กฎหมายอย่างสับสนโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มีผลยกเลิกกฎหมายเก่า ทำให้ต้องขึ้นศาลยุติธรรม แต่ในกรณีนี้นักศึกษาถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 ของกฎหมายอาญาด้วย ซึ่งอยู่ภายใต้ศาลทหาร หากศาลเห็นว่าพฤติการณ์ของนักศึกษาเข้ามาตรา 116 ที่กำหนดโทษหนักกว่าความผิดจากการชุมนุมก็ต้องขึ้นศาลทหาร แต่หากไม่ถึงขั้น 116 ก็ขึ้นศาลยุติธรรม

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากประกาศของ คสช.แล้ว ก็เห็นว่ามีเจตนาให้ขึ้นศาลยุติธรรมปกติ แต่เจ้าพนักงานซึ่งไม่มีแนวปฏิบัติ ต้องการความสะดวกรวดเร็ว และมีอำนาจมากในการควบคุมคดีก็จะพยายามกล่าวหาความผิดรุนแรงขึ้น กสม.ควรทำความเข้าใจกับ คสช.ว่า การกระทำระดับใดควรอยู่ในอำนาจศาลทหารเพื่อป้องกันความขัดแย้งและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความ และอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นว่า การตั้งข้อกล่าวหา เกี่ยวกับการจับกุมกลุ่มนักศึกษาที่ทำผิดประมวลกำหมายอาญา มาตรา 116 และขัดคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คนนั้น หากดูตามพฤติการณ์มาเทียบเคียงกับความผิดตามข้อกล่าวหาแล้ว ยังเห็นว่าไม่มีข้อใดที่เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด เพราะเป็นการแสดงออกตามวาระทางการเมือง ส่วนที่ระบุว่านักศึกษามีคนเสื้อแดง หรือขั้วอำนาจเก่าอยู่เบื้องหลัง ถ้าเป็นจริงเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ที่จะต้องพิสูจน์หาข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ยืนยันได้แล้วเสียก่อนจึงค่อยตั้งข้อหาไม่ใช่ดำเนินการด้วยข้อสันนิษฐาน

การใช้กฎอัยการศึกในการจำกัดสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปพลังงานในประเทศไทย เป็นการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ข้อเท็จจริงฝ่ายผู้ร้อง กรณีกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทยกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตกรณีความรุนแรงปี 2553 เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่แบไรท์ จัดกิจกรรมแล้วถูกควบคุมตัว โดยมีทั้งควบคุมตัวในห้องขัง ควบคุมตัวโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา รวมถึงดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 หรือเชิญตัวไปเจรจาปรองดองเพื่อให้ยกเลิกการรวมกลุ่มคัดค้าน

ข้อเท็จจริงจากผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.อ.วิจารณ์ จดแตง และ พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ ชี้แจงว่า เนื่องจากปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ในกรณีประชาชนมีความเห็นต่าง ผู้บังคับบัญชาจะมีช่องทางให้สามารถแสดงออก เสนอความคิดเห็นได้ ฉะนั้น การมาแสดงออกโดยการเดินบนถนนหรือที่สาธารณะ หรือโปรยใบปลิว และทำกิจกรรมนั้น ผู้อื่นอาจมองว่าประเทศยังมีความขัดแย้งอยู่รวมทั้งอาจมีผู้ฉวยโอกาสก่อความไม่สงบขึ้นมาอีก เจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่จะต้องยุติการกระทำดังกล่าว และอาจเชิญตัวไปเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจว่ามีช่องทางแสดงความคิดเห็นอยู่ เมื่อเข้าใจแล้วจะไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใด ก็ให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เว้นแต่ข้อจำกัดของกฎหมาย ซึ่ง คสช.ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมได้ แต่ขอให้ไม่กระทบต่อภาพลักษณ์ในการปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ เพียงแค่จำกัดพฤติกรรมร้องเรียนที่ไม่เหมาะสม

ส่วนในกรณีเหมืองแร่แบไรท์ พ.อ.ชาญวิทย์ ปิ่นมณี ได้ชี้แจงว่า เจ้าของเหมืองแร่และบิดาของผู้เสียชีวิตเป็นเพื่อนร่วมทำกิจการมาด้วยกัน แต่มีเรื่องผิดใจกันจึงเกิดการคัดค้านฟ้องร้องกัน ทาง กอ. รมน. จึงเข้าไปเพื่อสร้างความปรองดองตามนโยบายของกองทัพ การขอให้ถอนฟ้องนั้นเป็นข้อเสนอของกำนันในพื้นที่ ทางกอ. รมน. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในส่วนของคดีความเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังติดตามอยู่และรับว่าจะเร่งรัดดำเนินการให้

ความเห็นคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

1.ประเด็นการบังคับใช้กฎอัยการศึกในช่วงปลายเดือน ต.ค. 2556 ถึงต้น พ.ค. 2557 รับฟังได้ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกินกว่าขอบเขตของการใช้เสรีภาพของการชุมนุม ฉะนั้น การประกาศใช้กฎอัยการศึก ในระยะเวลาดังกล่าวในการรักษาความมั่นคงพอรับฟังได้ แต่ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 พบว่า ใช้กฎอัยการศึกเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่สะสมมายาวนานในบริบทการสร้างความปรองดอง ไม่ว่าจะเป็นการเรียกรายงานตัว การควบคุมตัว การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เห็นว่า การบังคับใช้กฎอัยการศึกจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า สถานการณ์ในช่วงหลังรัฐประหาร ยังไม่ปรากฏภาวะฉุกเฉินสาธารณะที่คุกคามความอยู่รอดของชาติให้เห็นเป็นประจักษ์ การบังคับใช้กฎอัยการศึก หรือกฎหมายอื่นใดเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เกินกว่าความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ

2.ประเด็นการเรียกบุคคลไปรายงานตัวและการบังคับใช้กฎอัยการศึกในการขยายระยะเวลาควบคุมตัวเป็น 7 วันเป็นการไม่เหมาะสม ในการจำกัดสิทธิบุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ ขัดกับข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ. ศ. 2550

คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า การควบคุมตัวไม่มีการตรวจสอบโดยศาล การแก้ไข้ความขัดแย้งทางการเมืองย่อมต้องใช้มาตรการทางการเมือง ส่วนผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต้องใช้กระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องตัดสิน

3.ประเด็นการจับกุมผู้ต้องหาในคดีอาญาหรือการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกมีพฤติการณ์เป็นการซ้อมทรมานคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงทางการแพทย์และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สามารถระบุยืนยันได้ว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น ประกอบกับการตรวจสอบไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เนื่องจากอุปสรรคในการเข้าถึงพยานหลักฐานในระยะเวลาที่เหมาะสมและความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ให้ข้อสังเกตว่าพฤติการณ์การควบคุมตัวเป็นระยะเวลา 7 วัน โดยไม่เปิดเผยสถานที่ และไม่ให้บุคคลใดเข้าพบ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกซ้อมทรมาน

4.ประเด็นการดำเนินคดีกับพลเรือนในเขตอำนาจศาลทหาร เป็นการละเมิดสิทธิทางกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ กรณีนี้ได้มีหนังสือสำนักเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ คสช, (สลธ)/38 เรื่อง ผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีสาระสำคัญว่าประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ยังมีเหตุผลและความจำเป็นที่ยังจะต้องคงอยู่ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์และความมั่นคงของประเทศ

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าประเทศไทยมีพันธกรณีตามข้อ 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งรับรองสิทธิการได้รับการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม และควรตระหนักถึงหลักการสากลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมของศาลทหาร ซึ่งวางหลักไว้แล้วว่า ศาลทหารไม่ควรมีเขตอำนาจในการดำเนินคดีกับพลเรือน

5. ประเด็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพในการชุมนุมคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าเสรีภาพดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ที่ประชาคมโลกให้การยอมรับ รัฐควรมีหน้าที่ส่งเสริม ไม่ควรปิดกั้นการใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวโดยสิ้นเชิง อีกทั้งกฎหมายทั่วไป ก็สามารถดูแลการชุมนุมได้อย่างมีประสิทธิภาพและสงบเรียบร้อย และการชุมนุมทางการเมืองก็ต้องใช้วิธีการแก้ไขทางการเมือง กล่าวคือ การพูดคุย ปรึกษาหารือ แต่มาตรการที่ใช้กำลังความรุนแรงหรือกฎหมายความมั่นคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้

6. การจำกัดสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูประบบพลังงานในประเทศไทย รัฐบาลปิดกั้นการเคลื่อนไหวของประชาชนด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคง โดยไม่แก้ไขความเหลื่อมล้ำอันเป็นสาเหตุแท้จริงของปัญหา ย่อมเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปประเทศไทยและจะยิ่งขยายความขัดแย้งออกไปอย่างกว้างขวาง ทำลายเป้าหมายความปรองดองสมานฉันท์และคืนความสุขให้กับประชาชนในที่สุด

ดังนั้น คณะอนุกรรมจึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี
ความเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากการพิจารณาคำร้องของ กสม.และความเห็นของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มีความเห็นสอดคล้องกันและมีข้อเสนอแนะทางนโยบาย ดังนี้

1.คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคง หรือกฎหมายที่มีลักษณะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขว้าง และจำต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วน โดยกระทำเท่าที่จำเป็น และไม่กระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้น

2.คณะรัฐมนตรีควรกำชับและดูแลหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายความมั่นคง รวมถึงสาระสำคัญตามพันธกรณีระหว่างประเทศ คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม
ทั้งนี้ เพื่อปฏิรูปประเทศและเพื่อให้เกิดการปรองดองในอันที่จะลดเงื่อนไขต่าง ๆ ลงสมควรพิจารณาถึงประกาศและคำสั่ง คสช.ที่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพในสาระสำคัญ เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

โดยมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามการประชุมครั้งที่ 41/2558 ลงวันที่ 23 พ.ย. 2558 มีมติให้เสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีและมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติติดตามผลการดำเนินการต่อไป

อ่านรายงานการตรวจสอบ กสม. ฉบับเต็มได้ที่
https://tlhr2014.files.wordpress.com/2016/06/nhrc-report.pdf

ข่าวที่เกี่ยวข้อง