ท่ามกลางกระแสข่าวสหรัฐฯ ยื่นเงื่อนไขขอใช้พื้นที่ "ฐานทัพเรือพังงา" เป็นฐานทัพปฏิบัติการทางเรือ เพื่อหวังแลกดีลเจรจากำแพงภาษี 36%
วันนี้ (14 ก.ค.2568) นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธถึงความเกี่ยวข้องกับการเจรจา แต่ระบุว่าอยู่ในแผนของกองทัพเรือ ซึ่งหมายถึงแผนการพัฒนากองทัพเรือกับสหรัฐฯ
แต่ในคำอธิบายกลับระบุไม่ชัดว่าแผนที่ว่านี้ หมายถึง "ไทย" เปิดดีลให้ "สหรัฐฯ" ขอใช้พื้นที่ "ฐานทัพเรือพังงา" เป็นฐานทัพ เพื่อหวังแลกดีล-เจรจากำแพงภาษีตอบโต้ 36% ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ จริงหรือไม่
ทีมข่าวไทยพีบีเอส โทรศัพท์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับนายภูมิธรรม ซึ่งย้ำคำเดิมว่า "อยู่ในแผน" แต่ไม่รู้ว่าเป็นแผนอะไร หรือจะเป็นแผนที่เจรจาลดภาษีหรือไม่ และในฐานะรองนายกฯ ด้านความมั่นคง คงต้องพูดคุยประเด็นนี้กับกองทัพเรือ
"รศ.ปณิธาน" ชี้กลาโหมต้องแจงปมสหรัฐฯ ขอตั้งฐานทัพ
ขณะที่ รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าการดีลรอบนี้จะดีลเงื่อนไขฐานทัพเรือพังงาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ แต่ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอจากสหรัฐฯ เพราะต้องการขยายฐานทัพเรือฝั่งทะเลอันดามัน-มหาสมุทรอินเดีย ในสมัยของประธานาธิดีบารัค โอบามา และไบ เดน
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ ระบุว่า กระทรวงกลาโหมต้องออกมายืนยันว่าเป็นข้อตกลงเดิม หรือข้อตกลง-ข้อเสนอใหม่ เพราะจะแตกต่างกัน เมื่ออำนาจการต่อรองทางด้านความมั่นคงลดลงจากเดิม หลังจากสหรัฐฯ ไปตั้งฐานทัพประเทศอื่น ๆ ก่อนตั้งข้อสังเกตถึงจดหมายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขียนถึงความต้องการดีลเรื่องความมั่นคง
ขณะที่แหล่งข่าวในกองทัพเรือ ระบุว่า รัฐบาลยังไม่ได้ส่งสัญญาณใด ๆ มายังกองทัพเรือ ทั้งในส่วนฐานทัพเรือพังงา และการจะขอใช้พื้นที่ทางทหารที่อู่ตะเภา ก่อนระบุว่าหากสหรัฐฯ ต้องการตั้งฐานทัพในพื้นที่ จ.พังงา เพราะต้องการขยายอิทธิพลไปยังมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯ ตั้งฐานทัพอยู่ 3 ประเทศหลักคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์
อ่านข่าว
อียูเลื่อนตอบโต้ภาษีทรัมป์ ยันมีมาตรการเตรียมพร้อม