วันนี้ (20 มิ.ย.) นายเอ็ดวิน วีก เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ระบุในเวทีเสวนา “เสือโคร่ง จากกรงเลี้ยงสู่ตลาดมืด” ว่า ปฏิบัติการขนย้ายเสือโคร่ง จากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน หรือ วัดเสือ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทั้ง137 ตัวนั้น เป็นมาตรการช่วยเหลือสัตว์ป่าจากขบวนการค้าสัตว์ป่าของไทยเพียงไม่ถึงร้อยละ 10 เท่านั้น
หากพิจารณาจากข้อมูลของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์หรือ ไซเตส พบว่า ปริมาณเสือโคร่งในไทยเพิ่มขึ้นในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา จาก 940 ตัว เป็น 1,400 กว่าตัว และยืนยันได้ว่า เกินกว่าร้อยละ 90 ของฟาร์มเสือ และสวนสัตว์ทั่วประเทศเกี่ยวข้องกับเรื่องการค้าสัตว์ป่า
โดยกระบวนการพบว่า แทบทุกแห่งของฟาร์มเสือและสวนสัตว์ หากมีเสือโคร่งตาย จะมีการแจ้งไปยังพ่อค้าสัตว์ป่าภายในเวลาไม่นาน เพื่อมารับซากเสือ ในลักษณะของการชำแหละ แยกชิ่นส่วนอวัยวะต่างๆ ส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับบางฟาร์มหากมีลูกเสือ จะขายได้หลักแสนบาท ขณะที่เสือน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาจะอยู่ที่ตัวละ 1 แสนถึง 2 แสนบาท หากเป็นเสือเพศผู้จะมีราคาสูงขึ้นอีก และเมื่อส่งขายข้ามแดนราคาทุกอย่างจะเพิ่มขึ้น 3 ถึง 4 เท่าตัว
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ยอมรับว่า ปฏิบัติการของกรมอุทยานฯ ครั้งนี้ได้รับการชื่นชมจากองค์กรสัตว์ป่าทั่วโลกและชี้ให้เห็นว่า ไทยมีความพยายามป้องกันการค้าสัตว์ป่า ซึ่งจะถูกนำไปพูดคุยในการประชุมไซเตสครั้งต่อไป นั่นอาจทำให้ทั่วโลกจับตามมองไทยต่อไปว่า จะดำเนินการกับขบวนการค้าเสือที่ยังเหลืออยู่ได้อย่างจริงจังหรือไม่
ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำอย่างจริงจังตอนนี้ คือ ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัดเสือให้ถึงที่สุด และเชื่อมโยงไปให้ถึงขบวนการใหญ่ สำหรับเสือที่ช่วยเหลือไปได้นั้น ภาครัฐต้องสนับสนุนงบประมาณเพื่อดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ