ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กฟน.ย้ายสายไฟลงใต้ดินเร็วกว่าแผนงาน 5 ปี-ใช้งบฯ 48,000 ล้านบาท

เศรษฐกิจ
29 มิ.ย. 59
19:28
1,470
Logo Thai PBS
 กฟน.ย้ายสายไฟลงใต้ดินเร็วกว่าแผนงาน 5 ปี-ใช้งบฯ 48,000 ล้านบาท
กฟน.จับมือหลายหน่วยงานย้ายสายไฟฟ้าลงใต้ดินใน กทม.เร็วกว่าแผนงาน 5 ปี รวม 127 กิโลเมตร รวม 39 เส้นทาง ใช้งบฯ 48,000 ล้านบาท ออกแบบแผนงานเสร็จกลางปี 2561

วันนี้ (29 มิ.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายหน่วยงานร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงตัวแทนจากการไฟฟ้านครหลวง และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านสายสื่อสารโทรคมนาคม และการจัดจราจร ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ผลักดันโครงการย้ายสายไฟฟ้าจากบนดินลงสู่ใต้ดิน เพื่อมุ่งหวังให้กรุงเทพมหานคร เป็นมหานครแห่งอาเซียน

 



นายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า แผนงานการโยกย้าย และการก่อสร้างท่อวางสายไฟฟ้าใต้ดินในระยะแรก จะครอบคลุมระยะทาง 127 กิโลเมตร รวม 39 เส้นทาง มีงบประมาณดำเนินการประมาณ 48,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นแผนงานระยะแรกจากแผนดำเนินการทั้งหมด 261 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณลงทุน 140,000 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อเดือนกันยายน 2558

สำหรับโครงการย้ายสายไฟฟ้าในปัจจุบันมีโครงการที่ย้ายสำเร็จแล้วหลายเส้นทาง เช่น บริเวณพื้นที่สีลม ปทุมวัน และจิตรดา ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการสุขุมวิท พหลโยธิน พญาไท และจุดสำคัญต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการอนุมัติอยู่ รวมแล้วกว่า 215.5 กิโลเมตร

สำหรับโครงการระยะแรกมีแนวโน้มว่าจะร่นระยะเวลาก่อสร้างจากเดิม 10 ปี เหลือ 5 ปี เพื่อให้โครงการเสร็จเร็วขึ้น ซึ่งอาจต้องปิดช่องทางจราจรบางส่วนในช่วงกลาง โดยจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ และต้องร่วมมือกันกับหน่วยงานหลายแห่ง เช่น สำนักงาน กสทช.ที่ดูแลสายสื่อสารโทรคมนาคม หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ดูแลงานด้านการจราจร

 



สำหรับแผนงานขณะนี้ในปี 2559 จะอยู่ในช่วงการออกแบบศึกษาเส้นทางที่จะวางท่องสายไฟใต้ดิน ซึ่งการออกแบบคาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2561 จากนั้น เป็นการหาผู้รับเหมาะ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นบริษัทเดียวหรือเปิดเป็นหลายโครงการหาผู้รับเหมาหลายบริษัท เพื่อทำให้โครงการแล้วเสร็จทันภายใน 5 ปี ส่วนการก่อสร้างจะเริ่มได้ในปี 2561

ทั้งนี้ การนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินแม้จะมีต้นทุนสูงกว่า และใช้เวลานานในการก่อสร้างนานกว่าสายไฟฟ้าบนดิน แต่จะทำให้ทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครดูดีขึ้น รวมทั้งจะเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน เช่น ไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูด, อุบัติเหตุที่เกิดจากรถเครนเกี่ยวสายไฟฟ้าหรืออุบัติเหตุจากกรณีรถยนต์ชนเสาไฟฟ้าล้ม ทำให้เกิดไฟดับเป็นบริเวณกว้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง