วันนี้ (9 ก.ค.2568) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เปิดฉากขึ้นเป็นวันแรก ท่ามกลางการจับตามองว่ากำแพงภาษีสหรัฐฯ จะเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนของการประชุมในรอบนี้ ซึ่งจัดขึ้นเพียง 1 วันหลังจาก 6 ชาติสมาชิกอาเซียนได้รับหนังสือแจ้งอัตราภาษีจากโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ มาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ พยายามผลักดันให้ 10 ชาติสมาชิกจับมือและเดินเกมเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งแต่ในวันแรกๆ ที่ทรัมป์เริ่มทำสงครามภาษีกับทั้งโลก แต่ความพยายามนี้ไม่คืบหน้า ขณะที่การใช้ไม้แข็งของสหรัฐฯ เพื่อให้คู่ค้าเร่งเจรจา จะทำให้ประเทศต่างๆ เปลี่ยนท่าทีได้หรือไม่
แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าแต่ละประเทศจะมีท่าทีอย่างไรในวงประชุมวันนี้ (9 ก.ค.) แต่สื่อบางสำนักระบุว่า ร่างแถลงการณ์ร่วมในรอบนี้จะระบุถึงความกังวลของอาเซียนต่อการค้าโลก ที่ตึงเครียดมากขึ้น และความไม่แน่นอนในประเด็นเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการตั้งกำแพงภาษี แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ได้มีการระบุชื่อของสหรัฐฯ ไว้ในร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว
นอกจากนี้ ร่างแถลงการณ์ยังระบุว่า กำแพงภาษีเป็นมาตรการที่ไม่สร้างสรรค์และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจของโลกแตกออกเป็นเสี่ยงๆ รวมทั้งยังท้าทายเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนด้วย

จากหนังสือแจ้งอัตราภาษีของสหรัฐฯ 14 ฉบับที่ส่งถึงรัฐบาล 14 ชาติทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นประเทศในอาเซียนมากถึง 6 ประเทศ โดยมีทั้งกลุ่มที่ได้รับแจ้งอัตราภาษีลดลงจากเดิม ได้แก่ กัมพูชา ลดลงมากที่สุดเหลือ 36% ส่วนลาวลดลง 8% เหลืออัตราภาษีที่ 40% เท่ากับเมียนมา
ขณะที่อินโดนีเซียและไทย ได้รับหนังสือแจ้งอัตราภาษีคงเดิมเท่ากับเมื่อเดือน เม.ย. ทั้งที่มีความพยายามเจรจาการค้าไปแล้วก่อนหน้านี้ ดังนั้นอาจตีความได้หรือไม่ว่า การพูดคุยที่ผ่านมายังไม่มีอะไรที่ถูกใจสหรัฐฯ มากนัก หรือยังมีข้อเสนอที่ไม่โดนใจ ส่วนมาเลเซียเป็นอาเซียนเพียงชาติเดียวที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีจาก 24% เป็น 25%
มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในคณะที่จะเดินทางมาร่วมการประชุมอาเซียนกับคู่เจรจา ซึ่งจะจัดขึ้นหลายวงในวันที่ 9-10 ก.ค.นี้ ซึ่งจะถือเป็นการเดินทางเยือนเอเชียเป็นครั้งแรกของรูบิโอ นับตั้งแต่ก้าวเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลทรัมป์ 2.0
ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า เป้าหมายหลักในการเยือนของรัฐมนตรีครั้งนี้ คือ การย้ำถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้างและมั่นคง ท่ามกลางความพยายามสกัดกั้นอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก
นักวิเคราะห์บางคน มองว่า รอบนี้รูบิโออาจมาเล่นบทปลอบใจ หลังจากอาเซียนบอบช้ำอย่างหนักจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด ซึ่งการเยือนครั้งนี้อาจเป็นการถือโอกาสมาส่งสัญญาณว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีความสำคัญต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ

เมื่อปรับอัตราภาษีใหม่ตามหนังสือแจ้งล่าสุดของสหรัฐฯ พบว่า ลาวและเมียนมาก้าวเข้ามาแทนที่กัมพูชา ในฐานะประเทศที่โดนภาษีสูงที่สุดในอาเซียนอยู่ที่ 40% หลังจากกัมพูชา ระบุว่า ได้เห็นชอบในกรอบข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการพูดคุยหลายครั้ง โดยสหรัฐฯ ให้คิวเจรจากับกัมพูชาเป็นประเทศแรกๆ ดังนั้นภาษีที่กัมพูชาโดนจึงลดลงมาเหลือเท่ากับไทยที่ 36%
ขณะที่ 4 ประเทศท้ายตาราง ได้แก่ บรูไน เวียดนาม ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ไม่ได้รับหนังสือแจ้งจากสหรัฐฯ ในรอบนี้ ขณะที่เวียดนามถือเป็นชาติแรกในอาเซียนที่ปิดดีลกับสหรัฐฯ
โจทย์ใหญ่ในขณะนี้คือ แต่ละประเทศต้องเร่งเจรจาปิดดีลให้ได้ก่อนวันที่ 1 ส.ค.นี้ แต่จะต้องยอมแลกด้วยอะไรบ้าง เพราะอาเซียนแต่ละประเทศไม่ได้มีไพ่เด็ดในมือที่จะใช้ต่อรองกับสหรัฐฯ ได้ ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าการผนึกกำลังระหว่างสมาชิกอาเซียนยังทำได้ยาก เนื่องจากหลายประเทศมีสินค้าส่งออกคล้ายๆ กัน แต่โดนภาษีไม่เท่ากันและอ่อนไหวต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ แตกต่างกันไป
ยกตัวอย่าง การนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนของสหรัฐฯ เมื่อปี 2024 พบว่ามีมูลค่าตั้งแต่หลักแสนล้านดอลลาร์ สำหรับเวียดนาม ไล่ลงมาจนถึงบรูไน ซึ่งสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าเป็นมูลค่าไม่ถึง 300 ล้านดอลลาร์ ขณะที่แต่ละประเทศมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ แตกต่างกัน
วงประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือน พ.ค. ผู้นำอาเซียนออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างมากต่อมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ แต่ผ่านมาแล้ว 1 เดือนเศษ จนทรัมป์ประกาศสงครามภาษีรอบใหม่ อาเซียนก็ยังไม่ได้ขยับตัวทำอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรม และวลาที่เหลืออยู่อีกไม่ถึง 1 เดือนนับจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสถานการณ์อาจทำได้ยากและอาจจบลงที่ต่างคนต่างเจรจา
อ่านข่าว
เปิด 14 ประเทศแรก "ทรัมป์" ประกาศขึ้นภาษี มีผล 1 ส.ค.นี้
"ทรัมป์" ไม่เลื่อนเส้นตายภาษี 1 ส.ค. ขู่ขึ้นภาษีนำเข้ายา 200%
ภาษีทรัมป์ 36% อดีตทูตฯ พิศาล ชี้ทีมไทยแลนด์ต้องปรับกลยุทธ์เจรจา