วันนี้ (1 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า ในการบันทึกเทปรายการสาระประชามติ รายการพิเศษที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจัดขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ถกแถลง 10 ประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านมุมมองของผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่าง ได้มีการถกแถลงในหัวข้อ “บัตรทองอยู่หรือไปในร่างรัฐธรรมนูญ”
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ตัวแทนกลุ่มรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า คำที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 47 วรรค 2 ที่ระบุว่า ผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ ทำให้เจตนารมณ์ของบัตรทองเปลี่ยนไป อาจทำให้เกิดการจำกัดสิทธิเฉพาะกลุ่มผู้ยากไร้ ซึ่งนายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระบุว่า ต้องยอมรับก่อนว่าบัตรทองมีปัญหาเรื่องเงินในกองทุนไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการร่วมจ่าย และการต้องมีมาตรา 47 วรรค 2 ก็เพื่อสร้างหลักประกันให้ผู้ยากไร้เข้าถึงบริการเป็นอันดับแรก หากจะต้องมีการเติมเงินเข้าระบบ แต่อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนใดๆในการร่วมจ่าย ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายแบบก่อนป่วยผ่านระบบภาษี หรือจ่ายที่จุดบริการ
ทั้งนี้ น.ส.สุภัทรา ยังได้แสดงความกังวลต่อประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า หากมีการร่วมจ่ายที่จุดบริการจะทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่กล้าเข้ารับการรักษา หรือไม่มีเงินชำระค่าบริการ และท้ายที่สุดก็จะกลับเข้าสู่ระบบผู้ป่วยสงเคราะห์
ด้านนายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า วิธีร่วมจ่ายที่ดีที่สุดคือการร่วมจ่ายภาษีแต่ต้องอาศัยฉันทามติของคนทั้งประเทศว่าพร้อมร่วมเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขหรือไม่ ขณะที่นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระบุว่า แม้เจตนารมณ์ในร่างรัฐธรรมนูญจะเปิดช่องให้สามารถทำได้ แต่เชื่อว่าคงไม่มีรัฐบาลใดกล้าตัดสินใจยกเลิกบัตรทอง
ติดตามการถกแถลงทั้งหมดได้ในรายการสาระประชามติ ตอน “บัตรทองอยู่หรือไปในร่างรัฐธรรมนูญ” ทางไทยพีบีเอส คืนนี้ (1ส.ค.59) เวลา 21.00 น.
แท็กที่เกี่ยวข้อง: