เตือนเด็กรุ่นใหม่เขียนภาษาไทยไม่ถูกต้อง
นายวัฒนะ บุญจับ นักอักษรศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เปิดเผยว่า ในปัจจุบันการเรียนการสอนภาษาไทยในระดับประถมศึกษาน่าห่วงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเริ่มหัดขีดเขียนตัวหนังสือไปจนถึงขั้นคัดลายมือของเด็กๆ เนื่องจากครูผู้สอนขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเป็นการสอนที่ไม่ตรงกับสาขาที่เรียน ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ ยังขาดการจัดนำอง์ความรู้จากผู้สันทัด ไปชี้แนะแก่ครูรุ่นใหม่ ทำให้เด็กไทยไม่รู้หลักในการเขียนตัวหนังสือให้สวยตั้งแต่ท่าจับดินสอ หรือ ปากกา การเลือกกระดาษ วางกระดาษ วางมือ วางแขน ฝึกเขียนเส้นพื้นฐานลักษณะต่างๆ ตลอดจนถึงการนั่ง
นอกจากนี้ ในส่วนรูปตัวอักษรที่จะใช้เป็นต้นแบบในการคัดไทย ปัจจุบันคนไทยจะหันมานิยมคัดเลือกรูปแบบอักษรที่มีอยู่มากในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่ค่อยได้เห็นการคัดลายมือที่แท้จริงเหมือนเด็กประถมรุ่นก่อนๆ จึงทำให้วิธีการเขียนตัวอักษรต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยไปโดยปริยาย
ส่วนสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือกลุ่มของเด็กรุ่นใหม่ที่ใช้ตัวอักษรที่สามารถพ้องเสียงได้ แต่ใช้พยัญชนะต่างตัน ส่งผลให้ความหมายที่ได้ แตกต่างกันไปด้วย จึงอยากขอให้โรงเรียนกระตุ้นให้โรงเรียนเห็นความสำคัญการส่งเสริมคัดลายมือ เพราะเส้นอักษรแต่ละเส้นสามารถบอกทักษะ ความรู้ และลักษณะนิสัยของเจ้าของลายมือได้ด้วย และที่สำคัญผู้เขียนต้องมีความเข้าใจในภาษาไทยอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่คิดแต่จะหาความแปลกแต่เพียงประการเดียว เพราะภาษาไทยของเรานั้นใช้อักษรผิดตัวเดียวความหมายจะเปลี่ยนไปทันที
สำหรับวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของภาษาประจำชาติ และต้องการให้เยาวชนคนรุ่นหลังตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย จึงได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสมัยของนายชวน หลีกภัย และมีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ