นักวิชาการจี้กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าพลังงานทางเลือก เผยกระบี่ มีศักยภาพสูง

สิ่งแวดล้อม
16 ก.ย. 59
09:12
802
Logo Thai PBS
นักวิชาการจี้กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าพลังงานทางเลือก เผยกระบี่ มีศักยภาพสูง
ขณะที่ ความขัดแย้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ยังยืดเยื้อ นักวิชาการด้านพลังงานกลับเผยผลการศึกษา ซึ่งพบว่า จ.กระบี่ มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้กว่า 140 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัด

วันนี้ (16 ก.ย. 2559) นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวถึงผลการศึกษาศักยภาพการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของ จ.กระบี่ ในการบันทึกเทปรายการเวทีสาธารณะ ตอน "ลันตา มีพลัง" ว่า จังหวัดกระบี่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทนใน 2 ระยะ แบ่งเป็น ระยะสั้น คือ ระยะ 1-3 ปีแรก สามารถผลิตได้ประมาณ 287 เมกะวัตต์ และระยะยาว คือ 4-10 ปีหลัง จะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เพิ่มอีกประมาณ 1,411 เมกะวัตต์

นายศุภกิจซึ่งเป็นอนุกรรมการศึกษาการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก ภายใต้คณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า

"ศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกทั้ง 6 ประเภทของ จ.กระบี่ มีประมาณ 1,700 เมกะวัตต์ ถ้าเราเทียบกับการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของ จ.กระบี่ ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนำเสนอในที่ประชุมว่า ปี 2558 ใช้สูงสุดที่ 143 เมกะวัตต์ ตัวเลขศักยภาพก็สูงกว่าตัวเลขการใช้ไฟฟ้าอยู่ 11 เท่า เพราะฉะนั้นศักยภาพก็เยอะมาก"

นายศุภกิจให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบัน จ.กระบี่ มีการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงชีวมวลและระบบก๊าซชีวภาพอยู่แล้ว และหากรวมกับกำลังการผลิตที่อยู่ในขั้นตอนพัฒนาโครงการทั้งหมดแล้ว ก็จะได้ปริมาณไฟฟ้าทั้งสิ้น 141.54 เมกะวัตต์ ซึ่งเกือบเท่ากับตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของ จ.กระบี่ เมื่อปี 2558

แต่เนื่องจากปัญหาระบบสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยังไม่สามารถรองรับกำลังการผลิตจากพลังงานชีวมวลเหล่านี้ได้ รวมทั้งปัญหาความไม่แน่นอนด้านนโยบายของภาครัฐในการรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทำให้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพบางรายที่มีความพร้อมผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้วต้องเผาก๊าซทิ้ง เพื่อรักษาระบบทางเทคนิคของโรงงานเอาไว้ ซึ่งปัจจุบันมีเชื้อเพลิงอย่างน้อย 7 เมกะวัตต์ที่ต้องทิ้งไปอย่างสูญเปล่า รอแค่ภาครัฐปลดล็อคกระบวนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น

"ขณะนี้มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่กำลังก่อสร้างอยู่อีก 5 เมกะวัตต์ รวมกลุ่มที่สร้างเสร็จแล้วและกลุ่มที่กำลังก่อสร้างอีก 12 เมกะวัตต์ ถ้าแค่ปลดล็อคตรงนี้เพิ่มเข้ามาอีก จ.กระบี่ก็จะมีไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาเป็น 54 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 1 ใน 3 แล้ว และที่สำคัญคือ มีความเป็นไปได้เยอะ เพราะว่ามี 17 รายที่สนใจเรื่องชีวมวล รวมอีก 92 เมกะวัตต์ อันนี้ข้อมูลส่งถึงไตรภาคีแล้วว่า พร้อมจะดำเนินการ ถ้าปลดล็อค"

สำหรับประเด็นเรื่องโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่นั้น นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.กระบี่ และอนุกรรมการประสานงานเพื่อติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ กล่าวว่าการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมาเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่ดีเพราะทำให้ภาคประชาชนได้มีช่องทางในการแสดงความคิดเห็น

แต่จากการติดตามการทำงานของคณะกรรมการตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมาพบว่า คณะกรรมการไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความเห็นหรือข้อเสนอของภาคประชาชน โดยเฉพาะข้อเสนอยุทธศาสตร์กระบี่ Go Green ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์จังหวัดกระบี่ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

"ผมไม่ค่อยสบายใจ เพราะว่าเรานำเสนอ เขาไม่ค่อยได้พิจารณาเรื่องของนโยบายพวกนี้เท่าไหร่ ไม่ค่อยถกกันเท่าไหร่ จริงๆ แล้วนโยบายของกระบี่ Go Green เป็นเรื่องของทุกภาคส่วน มันไม่ใช่เรื่องของพลังงานอย่างเดียว หัวใจของกระบี่ Go Green ก็คือฐานราก เรื่องของชุมชน เรื่องของประมง เรื่องของท่องเที่ยวชุมชนที่รัฐบาลอยากได้อยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่คนกระบี่ทำจากวันนั้นถึงวันนี้ มันก็เข้าไปอยู่ในระบบ ในนโยบายของนายกฯ ที่อยากให้ฐานรากเข้มแข็ง ทุกอย่างมันต้องเข้มแข็งจากข้างล่างขึ้นข้างบน ซึ่งเราทำอยู่ เราสนองนโยบายของรัฐบาลต่างหาก" นายอมฤตกล่าว

หมายเหตุ: ติดตามชมรายการเวทีสาธารณะตอน "ลันตา มีพลัง" เวลา 13.00 น. วันที่ 16 ก.ย.2559

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง