ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ณัฐพล" ตอบกระทู้ถามสด เผยสัญญาณไทย-กัมพูชา มีสัญญาณบวก

การเมือง
15:34
201
"ณัฐพล" ตอบกระทู้ถามสด เผยสัญญาณไทย-กัมพูชา มีสัญญาณบวก
อ่านให้ฟัง
19:19อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"บิ๊กเล็ก" เผยสถานการณ์ไทย-กัมพูชา มีสัญญาณบวก ผู้นำระดับสูงของกัมพูชายอมพูดคุยเจรจา GBC ยอมรับลำบากใจในการจัดการสถานการณ์ เหตุสังคมมีความเห็น 2 ฝ่าย คือเรียกร้องให้รัฐบาลยุติคลี่คลายโดยเร็วกับไม่ต้องการให้ไทยอ่อนข้อ

วันนี้ (3 ก.ค.2568) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในที่ประชุมในวาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา โดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.พรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ตั้งกระทู้ถาม พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ในฐานะ รมว.กลาโหม เรื่องสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา

นายณัฐพงษ์ อภิปรายว่า สถานการณ์วิกฤตไทยกัมพูชาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ประชาชนต้องการรัฐบาลที่มีความเข้มแข็งไม่อ่อนแอ และต้องบริหารสถานการณ์อย่างมีวุฒิภาวะ รอบคอบ ได้รับการยอมรับจากอารยะนานาประเทศโดยเฉพาะเพื่อนบ้านเกรงใจ และหยิบยกว่า กรณีคลิปเสียงหลุดที่เกิดขึ้นเกิดจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาดเกิดจากผู้บริหารใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวครอบครัว 2 ประเทศจนนำมาสู่วิกฤติ ที่ยากจากคลี่คลาย ก่อนจะถามว่า ขณะนี้สถานการณ์ระหว่างไทยและกัมพูชาตามแนวชายแดนมีความตึงเครียดกดดันทางด้าน การทหารหรือหรือไม่อย่างไร

พล.อ.ณัฐพล ลุกขึ้นตอบกระทู้ว่า ได้ตอบกระทู้สดเป็นกระทู้แรกของสมัยประชุมนี้ถือเป็นเกียรติจากผู้นำฝ่ายค้าน และชี้แจงถึงสถานการณ์ปัจจุบันชายแดนไทย-กัมพูชา ตามที่วันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมามีการเคลื่อนย้ายกำลังกลับจากจุดที่เผชิญหน้าซึ่งครั้งนั้นมีความพยายามเจรจาหลังเกิดการเผชิญหน้าระยะใกล้และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการใช้อาวุธ

หากมีการเริ่มใช้อาวุธจะทำให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดและบานปลาย แต่กำลังส่วนที่เหลือมีทั้งอาวุธหนัก รถถังและปืนใหญ่ เป็นกำลังระลอก 2 ที่ยังอยู่ในพื้นที่ ซึ่งยังมีความเสี่ยงว่า วันใดวันหนึ่งเกิดความไม่เข้าใจกัน อาจทำให้สถานการณ์บานปลายถึงขั้นใช้อาวุธหนัก

พล.อ.ณัฐพล ยังหยิบยกสถานการณ์ จากกรณีข่าวพระวิหารปี 2554 ครั้งนั้นอาวุธ 2 ฝ่ายมียังไม่ร้ายแรงเท่าครั้งนี้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลมีความห่วงใยของประชาชน จึงมีแนวทางดำเนินการคลี่คลายความตึงเครียด บริเวณชายแดนดังนี้

อ่านข่าว : ทหารไทยปะทะกัมพูชาที่ “ช่องบก” บริเวณพื้นที่อ้างสิทธิ์

1.ศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทยกัมพูชา (ศบ.ทก.) เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ มีการกำหนดแนวทางดำเนินการอย่างชัดเจนบนพื้นฐานสันติวิธีและยึดถือศักดิ์ศรีแห่งความเป็นรัฐของทั้ง 2 ฝ่าย การเจรจาต้องยึดถือศักดิ์ศรีของความเป็นรัฐ มุ่งเน้นเจรจาแบบทวิภาคีกับกัมพูชาเพื่อคลี่คลายอย่างสันติ และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย ด้านการใช้อาวุธและบานปลายในแง่ของความเดือดร้อนของประชาชน

ยอมรับ ศบ.ทก. และรัฐบาลหนักใจเพราะว่า สังคมมี 2 กระแส คือ ประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณจังหวัดแนวชายแดน เรียกร้องรัฐบาลยุติสถานการณ์โดยเร็ว เพราะประชาชนเดือดร้อน ทั้งในแง่ความปลอดภัยและเศรษฐกิจ กับประชาชนพี่น้องส่วนกลางที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลอ่อนข้อ อยากให้ใช้มาตรการที่เข้มแข็ง ซึ่งปัจจุบันสังคมมีลักษณะเช่นนี้ ขอความเห็นใจทุกภาคส่วนในประเทศไทยว่าปัจจุบันคนไทยมีความคิด 2 กลุ่มดังที่กล่าวไป ดังนั้นการตัดสินใจแต่ละเรื่องจะต้องรอบคอบและใช้น้ำหนักให้ดี

2. รัฐบาลตระหนักถึงความตึงเครียดที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน อาจมีการชี้นำจากฝ่ายการเมืองหรือผู้นำบางคน แต่สิ่งที่ไทยต้องรักษาให้มั่นคือความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชน2 ประเทศ ซึ่งทุกคนตระหนักดีว่า ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นเกิดมาจากส่วนบุคคลดังนั้นไม่ควรนำความตึงเครียดขยายไปสู่ประชาชนทั่วไป

ประชาชนไม่ควรมาเป็นเหยื่อการเมืองระดับรัฐ ขอเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่ต้องดำเนินการทุกอย่างอย่างรอบคอบเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อประชาชน 2 ฝ่าย

3. เราจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมที่เข้มงวดบริเวณชายแดนเนื่องจากมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ทางกัมพูชามีการสั่งกำลังเคลื่อนย้ายเข้ามาพื้นที่ชายแดน ดังนั้นไทยจึงต้องมีมาตรการที่เข้มงวดตามชายแดน และไทยจำเป็นต้องเสริมกำลังในระดับที่เหมาะสมเพื่อรักษาอธิปไตยและความมั่นคง ซึ่งทุกการเคลื่อนไหวของไทยอยู่ในกรอบสันติวิธีและหลีกเลี่ยงการปะทะโดยเด็ดขาดหากกัมพูชาไม่รุกล้ำอธิปไตยด้วยการติดอาวุธ

อ่านข่าว : แม่ทัพภาค 2 ยืนยันเหตุปะทะทหารไทย-กัมพูชา ยุติแล้ว 

4. การควบคุมชายแดนรัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมว่าด้วยแห่งสหประชาชาติ (UNODC) รวมถึงประเทศพันธมิตรในการปราบปรามกระบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะสแกมเมอร์ มีข้อมูลว่า แฝงตัวอยู่บริเวณแล้วชายแดนไทย-กัมพูชาจำนวนมาก จึงต้องตรวจสอบควบคุมการเข้าออกในบริเวณชายแดนอย่างเข้มข้น ทางด้านตะวันตกและทิศตะวันออกของประเทศ

5. ทุกมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการ ศบ.ทก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มุ่งหวังให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณแนวชายแดนกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด ทางด้าน “ความมั่นคง-เศรษฐกิจสังคม-จิตวิทยา” และยึดหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด

พร้อมชี้แจงเรื่องอำนาจของกองทัพว่า เป็นเรื่องที่ลำบากใจ เนื่องจากส่วนตัวนั้นเป็นรัฐบาลฝ่ายการเมืองแต่ยังมียศทำให้ถูกมองว่าเป็นทหาร ซึ่งก่อนที่ถูกมอบหมายให้รับหน้าที่ในตำแหน่งนี้ ผู้ใหญ่มองว่า เป็นทหารแล้วมาเป็นรัฐบาลมีข้อดีที่ว่าเวลาอยู่ในรัฐบาลก็เป็นการเมือง แต่กลับกองทัพก็เป็นทหาร แต่ผลที่ที่ผ่านมายังไม่ได้เป็นไปตามที่คิด

ปรากฏว่า เวลาที่ผมกลับไปอยู่กองทัพทุกคนก็มองว่าผมเป็นรัฐบาล เวลาผมอยู่ในรัฐบาล เขาก็มองว่าผมเป็นกองทัพ เพราะฉะนั้นขอกราบเรียนท่านประธานว่าปัจจุบันผมทำงาน เวลาผมเป็นรัฐบาลผมก็ทำงานเป็นรัฐบาล ว่าที่ผ่านมาดำเนินการโดยรัฐบาลโดยตนเองเป็นผอ.ศบ.ทก.

รมช.กลาโหม ยังระบุว่า รัฐบาลกำหนดนโยบายให้ทุกส่วนราชการปฏิบัติและใช้อำนาจ สมช.โดยมีรองนายกฯ อำนวยการเพื่อให้ทุกหน่วยงานดำเนินการภายใต้กรอบนโยบายเดียวกัน และกองทัพเป็นหนึ่งในหลายหน่วยงานที่ปฏิบัติตามแนวทางของรัฐบาล สถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดนเป็นภาวะฉุกเฉินเชิงความมั่นคง ซึ่งฝ่ายกัมพูชามีระบบสั่งการแบบรวมศูนย์ ผู้นำสามารถสั่งการแนวหน้าตามแนวชายแดนได้ทันที

อ่านข่าว : "ฮุนเซน" โพสต์หวังการเจรจายุติปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา

ขณะที่ไทยหากยังใช้สายบังคับบัญชา ตั้งแต่รัฐบาล สมช. และกองทัพ จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ จึงขอความเห็นใจในการบริหารสถานการณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องในการใช้กำลังทหาร ซึ่งการใช้อำนาจกองทัพเป็นมาตรการเฉพาะหน้าภายใต้กำกับ ศบ.ทก. มีการประชุมทุกขั้นตอนไม่ได้ปล่อยให้กองทัพมีอิสระ

และรัฐบาลจะมองเรื่องปัญหาความมั่นคงที่จะส่งผลต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะส่งผลต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจ ที่หมายความว่าทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกัน

ปัจจุบันนี้เริ่มมีสัญญาณบวกว่า ผู้นำระดับสูงของกัมพูชาเริ่มมีการพูดคุย เพราะที่ผ่านมาไม่เคยยอมคุย แต่ 2-3 วันนี้ เริ่มมีการพูดคุยเรื่องบทบาททวิภาคี GBC แต่สถานการณ์ในโซเชียลระหว่าง 2 ประเทศยังทำให้เกิดเงื่อนไขการเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ

พร้อมกันนี้ยังชี้แจงว่า กลไกทวิภาคียังมี JBC ที่เป็นการเจรจาระหว่างแม่ทัพของไทยและกัมพูชา และ GBC ที่มีการเจรจาระหว่างรัฐโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ที่ครอบคลุมตลอดแนวชายแดนไทยกัมพูชา ส่วน RBC เป็นกลไกระหว่างกองทัพภาค หรือผู้บัญชาการภาคของฝั่งกัมพูชา-ไทย เช่น การเจรจาในกองทัพภาคที่ 1 หรือกองทัพภาคที่ 2

อ่านข่าว : วิเคราะห์ผลกระทบเหตุปะทะ "ไทย-กัมพูชา"

นายณัฐพงษ์ ยังสอบถามถามครั้งที่ 2 ว่า วัตถุประสงค์และข้อเท็จจริงขณะนี้ที่รัฐบาลยังคงมาตรการควบคุมด่านมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างแรงกดดันเพื่อนำไปสู่อะไร เพราะเห็นว่าหากใช้อย่างไม่เหมาะสมจะกลายเป็นความตึงเครียดที่ทำให้การบริหารสถานการณ์เดินไปด้วยความยากลำบาก

รวมถึงความคืบหน้าในการปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ รวมถึงดำเนินคดีคดีการลอบสังหารฝ่ายค้านกัมพูชาในไทย และทราบมาว่ากองทัพมีการประสานไปยัง คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐ ประจำประเทศไทย ( Joint United States Military Advisory Group, Thailand: JUSMAGTHAI) หรือ จัสแมกไทย เพื่อขอกำลังบำรุงเครื่องกระสุนจากสหรัฐฯ เตรียมพร้อมประสิทธิภาพของกองทัพไทยรองรับต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น แต่ทราบว่า เรื่องนี้ถูกคว่ำลงเนื่องจากฝ่ายการเมืองปัดตกคำขอ จึงขอฟังเหตุผลเรื่องนี้เพราะเกรงใจต่อประเทศมหาอำนาจอื่น

พล.อ.ณัฐพล ลุกขึ้นตอบกระทู้ว่า ยอมรับในห้วงเวลาที่ผ่านมา ทำงานกับฝ่ายค้านและเห็นว่า ฝ่ายค้านมองผลประโยชน์ของประชาชน เช่นข้อแนะนำของ นายรังสิมันต์ โรม พร้อมชี้แจงว่า จากความกดดันในช่วงแรกที่ ฮุนเซน โพสต์ มาตลอดทำให้รู้สึกว่า เราอาจใช้ความกดดันที่ตึงเครียด

 

พล.อ.ณัฐพล ชี้แจงมาตรการที่ไทยใช้ ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.จนถึงปัจจุบัน คือ มาตรการควบคุมจุดผ่านแดน 4 ขั้นตอน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ขั้นที่ 2 คือ 1.จำกัดการผ่านแดน 2.การจำกัดวันและเวลาในการเข้าออกจุดผ่านแดน 3. ปิดบัง และ 4. ปิดจุดผ่านแดนตลอดแนวชายแดน ซึ่งไม่ได้กดดันอะไรมาก ยกตัวอย่างจุดผ่านแดนช่องจอม จ.สุรินทร์ ซึ่งฝั่งไทยเปิด แต่ฝั่งกัมพูชาปิด ยืนยันเป็นเรื่องจริงไม่ใช่ภาพจัดฉาก หรือคลองลึก จ.สระแก้ว หรือจุดผ่านแดนถาวรบ้านแหลม จ.จันทบุรี

กราบเรียนท่านประธานผ่านไปยังผู้ทรงเกียรติ ขอทุกคนเปิดเข้าใจว่าไทยเปิดจุดผ่านแดนเพียงแต่ใช้มาตรการจำกัด 2 ขั้นตอนเท่านั้น เลยมีความรู้สึกว่ากดดันมาก ความรู้สึกที่กดดันมากเป็นความรู้สึกที่ทางฝ่ายผู้นำกัมพูชาโพสต์มา ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะฉะนั้นสถานการณ์ความตึงเครียดอะไรต่าง ๆ การโพสต์ต่าง ๆ เข้าใจว่าท่านผู้นำกัมพูชาอยู่ที่พนมเปญ คงได้รับการบอกเล่าอาจจะคลาดเคลื่อน แต่ข้อเท็จจริงไปตามที่กราบเรียน

พล.อ.ณัฐพล พร้อมชี้แจงความมุ่งหมายในการกดดัน คือ ไม่ได้กดดันด้านเศรษฐกิจแต่กดดันด้านกระบวนการอาชญากรรมชายแดนเป็นไปตามความร่วมมือกับ UNODC ในการปราบสแกมเมอร์ ซึ่งตั้งแต่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมาพบว่า สถิติลดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ด้วยกับวิธีการแต่ประชาชนตามแนวชายแดนจะได้รับความเดือดร้อน

อ่านข่าว : ชาวบ้านกังวลหนี้สิน-ความปลอดภัย หลังปัญหาชายแดนยืดเยื้อ

ในฐานะเป็นรัฐบาลและรู้สึกเจ็บปวด คือ ประชาชนในพื้นที่ จ.สระแก้ว จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ต่อว่า ซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตึงเครียดเหตุใดจึงดึงประชาชนมาเกี่ยว จึงขอให้เข้าใจว่า การบริหารสถานการณ์เป็นไปด้วยความยากมากเพราะสังคมมี 2 ฝ่าย ซึ่งฟังข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นข้อมูลที่สะเทือนใจเมื่อเด็กนักเรียนนั่งเรียนต้องระวังฟังเสียงไซเรนว่าจะดังขึ้นเมื่อไหร่ นี่คือสิ่งที่ ศบ.ทก.จะระมัดระวังไม่ทำให้เหตุการณ์บานปลาย เพราะความเสียหายเกิดทั้งต่อกองทัพและประชาชน และยืนยันว่า รัฐบาลเร่งรัดและพยายามทำให้การโน้มน้าวเชิญชวนกัมพูชามาเข้าสู่บรรยากาศการเจรจาแบบทวิภาคี ส่วนการคลี่คลายคดีลอบสังหารนักการเมืองฝ่ายค้านกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ส่วนเรื่องการประสานจัสแมกไทยนั้น เป็นประเด็นละเอียดอ่อนแต่ชี้แจงว่า เป็นเลขาธิการ สมช.มาก่อน ความมั่นคงยึดถือนโยบายสมดุลเป็นหลัก ในการสร้างสมดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจทุกประเทศ ระมัดระวังไม่ให้ไทยไปผูกพันกับประเทศใดประเทศหนึ่ง กรณีกัมพูชาฝึกดราก้อนโกลด์กับประเทศจีนไม่ได้เพื่อการยั่วยุ จากที่สอบถามทูต และกรณีไทยฝึกคอบร้าโกลด์ก็ไม่ได้เป็นการยั่วยุหรือแสดงกำลังเป็นเพียงความร่วมมือทางการทหาร

การที่ทางกองทัพพูดคุยกับจัสแมก ทำไมฝ่ายการเมืองถึงยับยั้ง เพราะฝ่ายการเมืองมองในเรื่องนโยบายระหว่างประเทศ การรักษาสมดุล ขอบคุณที่ถามเรื่องนี้ มันเป็นประเด็นสำคัญที่ย้ำว่า กองทัพไม่สามารถดำเนินการได้ตามลำพัง กองทัพต้องทำตามนโยบายรัฐบาล เพราะหากดึงอีกประเทศเข้ามาอาจทำให้เกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้ ซึ่งเป็นแนวทางตามด้านความมั่นคง

พล.อ.ณัฐพล ยังกล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวหากยิ่งชี้แจงก็ยิ่งเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน และย้ำว่า ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยกองทัพและฝ่ายความมั่นคงจะต้องใช้ฝีมือมากขึ้น จะบอกว่า เรื่องใดไม่ขอชี้แจงก็จะทำให้ประชาชนไม่เกิดความเข้าใจ หรือฝ่ายนิติบัญญัติไม่เข้าใจ ดังนั้นวันนี้จึงพยายามชี้แจงให้ได้มากที่สุด

อ่านข่าว : ทบ.แจงย้ายหมุด "ปราสาทตาเมือนธม" ใน Google Map ไม่มีผลทางกฎหมาย

นายณัฐพงษ์ ถามครั้งที่ 3 ว่า ประเทศไทยเดินมาสู่เส้นทางเสียเปรียบเหตุเพราะรัฐบาลเสียรู้จากกรณีคลิปเสียง และการสื่อสารที่ไม่รวดเร็วที่ชัดเจนมากเพียงพอ จึงตั้งคำถามต่อการแก้ปัญหาชายแดนต่อการใช้มาตรการทางการทูตเชิงรุกประสานไปยังประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเป็นประเทศที่ 3 เพื่อกดดันให้ประเทศกัมพูชาใช้เวทีทวิภาคีในการแก้ปัญหาขัดแย้งหรือไม่

พล.อ.ณัฐพล ชี้แจงว่า ขณะนี้มีกระบวนการให้ใช้การเจรจาผ่านการประชุมคณะกรรมการเรื่องเขตแดน GBC หากทำสำเร็จ จะหากรือใน 2 เรื่อง คือ การเคลื่อนย้ายกำลังกลับที่ตั้งปกติ เลี่ยงความเสี่ยงเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และยกเลิกมาตรการควบคุมตามแนวชายแดน ซึ่งมีรายละเอียดที่ไม่ลงตัวเพราะต่างฝ่ายยังระแวงจากโซเชียล

รมช.กลาโหม ยังกล่าวว่า การตอบโต้ผ่านโซเชียลกับ ฮุนเซน นั้นไม่ได้ทำแบบทางการ และหากตอบโต้กันไปมาจะทำให้เป็นปัญหาได้ เมื่อฮุนเซนบอกว่าไทยผิดฝ่ายเดียว กัมพูชาไม่ผิด จึงใช้การตอบโต้แบบชี้แจงข้อเท็จจริง นำภาพให้ดู ไม่ใช่โต้กันไปกันมา ซึ่งไม่สามารถยุติการตึงเครียดที่เกิดขึ้นได้ รัฐบาลโดย ศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา หรือ ศบ.ทก กำลังดำเนินการ ขณะที่มาตรการทางการทูตรัฐบาลได้ทำผ่านกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงการทูตทางทหาร โดยเน้นย้ำเรื่องนโยบายสมดุล และมีข้อห่วงใยที่ประเทศเพื่อนบ้านทำ

อ่านข่าว : กต.ยันไทยไม่ตอบโต้โซเชียล ใช้ช่องทางทูตแก้ปัญหากัมพูชา 

ไทยเข้มชายแดน! จันทบุรีช่วยผู้ป่วยกัมพูชา-ตราดแรงงานทยอยกลับ

 ไทยเรียกร้องผู้นำกัมพูชายุติการกระทำ ลักษณะแทรกแซงกิจการภายในของไทย