ถอดรหัสมาตรา 46 และ 52 ร่างกฎหมายอุทยานฉบับสปท.

Logo Thai PBS
ถอดรหัสมาตรา 46 และ 52 ร่างกฎหมายอุทยานฉบับสปท.
"ศศิน " ชำแหละจุดอ่อน 2 มาตราในร่างกฎหมายอุทยานฉบับใหม่ กังวลเงื่อนไขอนุญาตให้อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์คราวละ 5 ปีอาจไม่ช่วย ปลดล็อคชุมชน หรือบุกรุกป่าได้ แต่อาจเปิดช่องฮั้วนายทุนรุกป่า

วันนี้ (8ก.พ.2560) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เปิดเวทีวิพากษ์ ข้อดีข้อเสีย และข้อกังวลต่อร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ...ฉบับสภาสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขปัญหาชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าอนุรักษ์อย่างยั่งยืน 

นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกว่า ในภาพรวมเห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายอุทยานฯ และอยากเห็นกฎหมายฉบับใหม่ถูกประกาศใช้ แต่จากการติดตามเนื้อหาของร่างกฎหมายฯ ยังมีข้อกังวลใน 2 มาตรา คือ มาตรา 52 ในร่างกฎหมายฉบับ สปท.ระบุไว้ชาวบ้านที่อยู่ในป่าอนุรักษ์ ให้อำนาจการตัดสินใจอธิบดีอนุญาตให้อยู่อาศัย หรือทำกินชั่วคราวต้องไม่เกิน 20 ไร่ต่อครอบครัว และมีกำหนดคราวละไม่น้อยกว่า 5 ปีแต่ไม่เกิน 20 ปี ในประเด็นนี้อาจถูกนำใช้เป็นช่องว่างในการเปลี่ยนพื้นที่ไปอยู่ในมือของนายทุนได้ง่าย เพราะขณะนี้รัฐยังไม่สามารถกำหนดแนวเขตป่าได้ชัดเจน และอาจนำไปสู่การไม่ยอมรับของภาคประชาชน

 

กังขาต่ออายุชุมชนในป่าคราวละ 5 ปี 


โดยปัจจุบันมีชุมชุนที่อยู่มาก่อนมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย.2541 จำนวนหลายแสนคน และมีป่าอนุรักษ์ที่มีคนอาศัยรวมพื้นที่เบื้องต้น กว่า 4-6 ล้านไร่ หรือคิดเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพมหานคร 5 เท่า ยอมรับว่าการที่จะให้ชุมชนอยู่โดยไม่มีขอบเขตจะยิ่งทำให้เกิดการบุกรุกป่ามากขึ้น แต่มีคำถามว่าขณะนี้กรมอุทยานยังไม่มีเครื่องมือในการจัดการคือการทำแนวเขตที่ชัดเจน รวมทั้งขั้นตอนในการอนุมัติอนุญาต ต้องถามว่าใครจะเป็นคนดำเนินการ ถ้าต้องให้ชุมชนในเขตป่าทั่วประเทศ มาต่อใบอนุญาตให้อยู่ในป่า 5 ปีต่อครั้ง

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกว่า เรื่องที่ต้องพิจารณาคือการยึดหลักความเป็นจริง เป็นธรรม และเป็นไปได้ โดยมองว่ากรณีที่ชุมชนอยู่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ควรมีกฎหมายคุ้มครองชุมชนเหล่านั้น ให้อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ต่อไป ภายใต้การบริหารจัดการบนพื้นฐานการรักษาคุณค่าของระบบนิเวศและหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ขณะเดียวกันชุมชนที่ได้สิทธิในการอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าต้องไม่บุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มด้วย หมายความว่ารัฐต้องมีกระบวนการทำงานกับชุมชนอย่างเป็นมิตร ทำข้อตกลงอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งเรื่องนี้กรมอุทยานฯสามารถใช้คำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 มาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการ

 

 

แนะใช้คำสั่งคสช.เร่งทำแนวเขตหลังปี 57 สกัดบุกรุกเพิ่ม


“ผมคิดว่า ระยะสั้นต้องมีแนวเขตกับชุมชนเพื่อไม่เกิดการบุกรุกใหม่ โดยสามารถใช้คำสั่งคสช.ที่ 66/2557 ที่ชัดเจนว่าไม่ว่าจะเป็นคนจน หรือนายทุนที่เข้ามาหลังมติ ครม.30 มิ.ย.2541 และหลังปี 2545-2557 จับหมด แต่ต้องตรวจสอบ และสแกนพื้นที่บุกรุกหลังปี 2557 เพื่อให้ได้แนวเขตที่ชัดเจน แต่ถ้ากลัวกระทบคนจน ก็ใช้มติครม.ปี2545 มาทาบกับคำสั่งคสช.ปี 2557 โดยในช่วงที่อยู่ระหว่างปี 2545-57 ใช้ระเบียบตรวจสอบว่าเป็นชุมชนดั้งเดิม หรือเป็นนายทุนที่เข้ามาสวมสิทธิ์ จากนั้นยึดคืนพื้นที่มาใช้ฟื้นฟูป่าทั้งหมด ”

เสนอมาตรา 46 ยึดอสังหาริมทรัพย์สกัด"ฮั้วนายทุน"

ด้านนายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกว่า สำหรับมาตรา 46 เรื่องการริบทรัพย์สิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่บุกรุกพื้นที่ป่า เนื่องจากบรรดาอสังหาริมทรัพย์จำพวกสิ่งปลูกสร้าง ของรีสอร์ท บ้านพักอาศัยต่างๆที่ได้มา ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้กระทำความผิดที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว อาจนำมาใช้ประโยชน์ในภารกิจของกรมอุทยานฯ


ในมาตรการนี้ วิเคราะห์ว่า 1.หากริบทรัพย์สินมาแล้วทำลาย ทุบทิ้งจะไม่มีปัญหา แต่ถ้านำมาใช้ประโยชน์จะขัดต่อเจตนารมย์ของอุทยาน และควรต้องฟื้นฟูในพื้นที่บุกรุก เช่นทำศูนย์ฝึกอบรม แต่หากไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บริการเดิมเป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ และกรณีที่ 2 มาตรานี้ถ้ามองแบบเลวร้ายสุดหากถึงขั้นเพิกถอนพื้นที่แล้วยกที่ให้กับราชพัสดุไปดูแล ก็น่าเป็นห่วงสุด เพราะอาจเป็นช่องทางให้นายทุนกลับมาฮั้วประมูลในการใช้พื้นที่ และอสังหาริมทรัพย์

โดยเห็นว่ากฎหมายควรที่จะระบุให้ชัดเจนว่า อาคารสิ่งปลูกสร้างที่จะยึดได้ต้องนำไปทำลายเท่านั้น ไม่ควรเปิดช่องให้มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เพราะอาจจะเกิดการฮั้วกันในอนาคต โดยเฉพาะอุทยานที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ได้แก่อุทยานสิรินาถ จ.ภูเก็ต เขตอุทยานทับลาน และที่ดินในวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง

 


ดังนั้นนายศศิน จึงเสนอว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ ต้องเปิดโอกาสให้มีการสำรวจแนวเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยการตั้งคณะกรรมการในระดับพื้นที่ ที่มีชาวบ้านร่วมในการพิจารณาตัดสินใจด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะแก้ปัญหาการบุกรุกป่าไม่ได้ โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ทำหนังสือถึงพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)เพื่อขอให้นำเสนอทบทวนเนื้อหาใน 2 มาตราคือมาตรา 46 และมาตรา 52 ให้ดีก่อน เพราะเชื่อว่ายังมีเวลาในการทบทวนเนื้อหากฎหมายก่อนเข้าสู่การพิจารณาตามขั้นตอน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง