จ่อประกาศ "เกาะไข่" พังงา ห้ามถุงพลาสติกขึ้นเกาะ

สิ่งแวดล้อม
14 ก.พ. 60
13:43
963
Logo Thai PBS
จ่อประกาศ "เกาะไข่" พังงา ห้ามถุงพลาสติกขึ้นเกาะ
ทส.เตรียมงัดมาตรการกฎหมายลดขยะทะเลจากต้นทาง นำร่องใช้มาตรา 17 งดนำถุงพลาสติกขึ้นเกาะ หลังไทยติด 1 ใน 6 ของโลกที่สร้างขยะลงทะเล 5 แสนตันต่อปี พร้อมศึกษารูปแบบภาษีถุงพลาสติกเก็บจากผู้บริโภค ศึกษารูปแบบจากหลายชาติก่อนบังคับใช้อีก 1 ปี

วันนี้ (14 ก.พ.2560) น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเก็บกู้แพขยะทะเล ความยาวกว่า 1 กิโลเมตร บริเวณทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งหลังจากลงพื้นที่เมื่อวันที่ 9-10 ก.พ.ที่ผ่านมาโดยใช้เรือ ต 803 เรือขนาดเล็ก และเรือประมง เบื้องต้นสามารถเก็บขยะได้แล้ว 5,500 ตัน ในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติกมากกว่า 80,000 ชิ้น พบว่าขยะส่วนใหญ่เป็นขยะชุมชน เช่น ขวดพลาสติก เศษขันพลาสติก และถุงพลาสติก ซึ่งได้ประสานทางจังหวัดนำขยะไปคัดแยกและฝังกลบในพื้นที่ที่เตรียมไว้ต่อไป

 

น.ส.สุทธิลักษณ์ บอกว่า แต่เนื่องจากเกิดมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้แพขยะแจกกระจัดกระจายในทัองทะเลเป็นวงกว้าง จึงให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ปริมาณขยะกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด เพราะกระแสคลื่นลมแรงอาจตีขยะกระจายในวงกว้างขึ้นได้ โดยยังไม่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังและชายหาดสำคัญ แต่อาจสร้างผลกระทบต่อโลมา วาฬ และเต่าทะเลที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว พร้อมกันนี้ยังพบปริมาณขยะในทะเลบริเวณจังหวัดสงขลา และนครศรีธรรมราชที่มาจากปัญหาอุทกภัยในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาแล้วไหลลงทะเลจำนวนหนึ่ง อยู่ระหว่างดำเนินการเก็บกู้มากำจัดบนฝั่ง

ไทยติดอันดับ 6 ผลิตขยะทะเลของโลก

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้กำชับให้ ทช.ศึกษาติดตามถึงแหล่งที่มาของขยะทะเลเพื่อกำหนดมาตรการลดขยะทะเลอย่างจริงจังเป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ.2559-2564 ของรัฐบาล เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก ที่มีขยะตกค้างไม่ได้รับการจัดเก็บอย่างถูกต้องบริเวณพื้นที่จังหวัดชายทะเลมากกว่า 500,000 ตันต่อปี หรือพบว่า จะถูกชะและพัดพาลงสู่ทะเลประมาณร้อยละ 10 ของขยะที่ลงทะเล หรือราว 50,000 ตัน เป็นขยะพลาสติก หรือประมาณ 750 ล้านชิ้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในทะเล ดังนั้นจึงตั้งเป้าที่ประเทศไทยจะลดอันดับลงให้ได้ภายใน 1 ปี

จ่อนำร่อง "เกาะไข่"พังงา ใช้ระเบียบห้ามถุงพลาสติกขึ้นเกาะ

อธิบดี ทช. บอกว่า ขณะนี้กำลังมีแนวคิดที่จะลดขยะตั้งแต่ต้นทาง เบื้องต้นทช.มีกฎหมายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในมาตรา 17 ที่ประกาศห้ามกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อปะการังในพื้นที่เกาะไข่ เกาะไข่นอก และไข่นุ้ย จ.พังงาไว้แล้ว โดยจะมีการออกข้อห้ามเพิ่มเติมเรื่องการงดนำถุงพลาสติก และขยะอื่นๆ ขึ้นบนเกาะอย่างเด็ดขาด เพราะปัจจุบันมีตัวเลขขยะจากนักท่องเที่ยวจำนวน 3,000-4,000 คนต่อวันเท่ากับมีปริมาณขยะสูงถึงเกือบ 3,000 กิโลกรัม ทั้งนี้จะมีการรือกับผู้ประกอบจากหน่วยงานท้องถิ่น ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวเพื่อนำร่องเป็นพื้นที่แรก โดยคาดว่าอย่างช้าไม่เกิน 6 เดือนนี้

เตรียมใช้ "ภาษีถุงพลาสติก" คาดนำร่อง 3 จังหวัดท่องเที่ยว

ด้านนายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม บอกว่า จากปัญหาขยะทะเลที่เกิดขึ้น โดยมีตัวเลขการผลิตถุงพลาสติกถึงวันละ 5,300 ตันต่อวันทำให้มีถุงพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก ดังนั้นจึงเตรียมออกมาตรการด้านภาษีเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกลง โดยนำร่องใน 3 จังหวัดท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงเกิดขยะพลาสติกมากที่สุด คือ สุราษฎร์ธานี กระบี่ และภูเก็ต โดยมาตรการการเก็บภาษีถุงพลาสติกจะเก็บทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่พบว่าส่วนใหญ่จะเก็บจากผู้บริโภคจะได้ผลมากกว่า สามารถลดขยะลงได้อย่างมาก

ทั้งนี้ จากการศึกษาผลของต่างประเทศที่ใช้มาตรการนี้ พบว่าที่ประเทศไอซ์แลนด์ ลดขยะพลาสติกได้ถึงร้อยละ 90 โดยเก็บภาษีถุงพลาสติกใบละ 9 บาท และที่ไต้หวันลดได้ถึงร้อยละ 80 เก็บภาษีถุงพลาสติกใบละ 1-3.50 บาท อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเราจะทำแบบสอบถามความคิดเห็นของประชาชนใน 3 จังหวัดดังกล่าวถึงความพร้อมและความสมัครใจก่อนที่จะประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งอัตราภาษียังไม่ได้ระบุชัดเจน ต้องรอผลศึกษาเปรียบเทียบจากประเทศเพื่อนบ้านก่อน


ส่วนการออกกฎหมายห้ามไม่ให้ใช้ถุงพลาสติกนั้นถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการระยะยาว ซึ่งในประเทศจีนมีการออกกฎหมายนี้ โดยห้ามไม่ให้ผลิตถุงพลาสติกที่ผลิตจากโพลีเอทธีลีนความหนาแน่นสูง ซึ่งผู้ประกอบการที่ให้ถุงพลาสติกแก่ลูกค้าฟรี จะต้องจ่ายค่าปรับถึง 10,000 หยวน หรือคิดเป็นเงินไทยถึง 50,000 บาท มาตรการนี้ในจีนสามารถลดขยะลงได้ร้อยละ 66 ขณะที่ประเทศอิตาลี ก็ใช้มาตรการนี้เช่นกัน ขณะที่ประเทศไทยวางกรอบการศึกษาเรื่องนี้ไว้ 6 เดือนคาดว่าจะได้ข้อสรุป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง