ทช.สั่งเบรก "กรมเจ้าท่า" ขุดลอกโคลนทิ้งทะเล ใกล้เขตพระราชฐาน

สิ่งแวดล้อม
13 มี.ค. 60
16:51
1,777
Logo Thai PBS
ทช.สั่งเบรก "กรมเจ้าท่า" ขุดลอกโคลนทิ้งทะเล ใกล้เขตพระราชฐาน
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่ตรวจปัญหากรมเจ้าท่าขุดลอกขนดินโคลนทิ้งลงทะเล กังวลกระทบแนวปะการังเทียม และชายหาดเขาตะเกียบใกล้เขตพระราชฐานที่สำคัญ สั่งระงับ พร้อมชี้แจงและสำรวจผลกระทบใต้ทะเล14 มี.ค.นี้

วันนี้ ( 13 มี.ค.2560) น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหรือ ทช. กล่าวว่า จากข้อร้องเรียนกรณีกรมเจ้าท่า ขุดลอกร่องน้ำ บริเวณปากคลองบ้านหัวดอน เขาตะเกียบ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และนำตะกอนดินโคลนใส่เรือนำไปปล่อยทิ้งในทะเล ห่างชาย ฝั่ง 3.6 กิโลเมตร ชาวบ้านกังวลจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายแนวปะการังเทียม

ทางทช. มอบหมายให้สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 (สบทช.3) และ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ศวทก.) ลงพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านกลุ่มชาวประมงบ้านหัวดอน พบการขุดลอกบริเวณท่าเรือเฟอร์รี่หัวหิน-พัทยา บ้านเขาตะเกียบ อ.หัวหิน 2 บริเวณดังกล่าวไม่อยู่ในเขตป่าชายเลนตามมติ ครม. พื้นที่อยู่ห่างจากแนวปะการังประมาณ 25 ไร่ สภาพเสียหาย-เสียหายมาก บริเวณกลุ่มเกาะทราย เกาะสะเดา เกาะขี้นก ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุดประมาณ 4-5 กิโลเมตร และไม่พบทรัพยากรแหล่งหญ้าทะเลในรัศมี 30 กิโลเมตร


อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บอกว่า นอกจากนี้ยัง ได้นำเรือทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้าตรวจสอบขั้นตอนการขุดลอก ขั้นตอนการขนถ่ายดินโคลน และวิธีการทิ้งในจุดทิ้งตามที่กรมเจ้าท่ากำหนด และได้นำเรือออกไปตรวจสอบจุดที่ทิ้งตะกอนตามข้อร้องเรียนพิกัด รวมทั้ง ได้เก็บตัวอย่างน้ำทะเล รวม 3 จุด คือ จุดที่มีการขุดลอก จุดที่มีการทิ้งตะกอน และจุดกองปะการังเทียม เพื่อให้ ศวทก.วิเคราะห์หาปริมาณตะกอนแขวนลอยในน้ำทะเลในห้องปฏิบัติการด้วยแล้ว

“ขณะนี้ทางสบทช.3 ได้ประสานงานทางโทรศัพท์กับผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 6 (สุราษฎร์ธานี) ผู้รับผิดชอบโครงการขุดลอกร่องน้ำว่า ขณะนี้ได้สั่งระงับการขุดลอกร่องน้ำไว้ก่อนแล้ว โดยจะนัดประชุมชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในวันที่ 14 มี.ค.นี้ ท่าเทียบเรือเฟอรี่ หัวหิน เพราะมีความเห็นว่าหากมีการทิ้งดินโคลนลงในทะเลระยะไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรทางทางทะเลและชายฝั่ง เช่น แนวปะการังเทียมที่ได้วางไว้ 3 แนว ในระยะห่างประมาณ 1 2 และ 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งทะเล และตะกอนดินโคลนอาจถูกซัดเข้าปกคลุมแนวปะการัง และซัดเข้าสู่บริเวณชายหาดเขาตะเกียบ หัวหิน ซึ่งเป็นชายหาดที่สำคัญ ใกล้เขตพระราชฐานที่สำคัญ โดยจะดำน้ำสำรวจ หากพบว่ามีผลกระทบต่อทรัพยากร ทช. จะได้มีหนังสือแจ้งกรมเจ้าท่าเพื่อพิจารณาจุดทิ้งดินโคลนที่เหมาะสมต่อไป” อธิบดีทช.กล่าว

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง