วันนี้ (1 พ.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้เวลา 21.30 น. ตามเวลาประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้โทรศัพท์พูดคุยกับนายโดนัลด์ ทรัมพ์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นเวลาประมาณ 5 นาที เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง พร้อมทั้งกล่าวแสดงความเสียใจต่อการสิ้นพระชนม์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 รวมทั้งกล่าวย้ำถึงความเป็นพันธมิตรที่ยาวนานของทั้ง 2 ประเทศ และยืนยันถึงความร่วมมือในอนาคต โดยเตรียมส่งคณะทำงานด้านการค้ามาหารือขยายความร่วมมือระหว่างกันในเวลาอันใกล้
พล.ท.วีรชน ระบุว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงความกังวลเรื่องสถานการณ์ทะเลจีนใต้และเกาหลีเหนือ แต่ไม่ได้หารือในรายละเอียด โดยผู้นำสหรัฐฯ ได้เชิญนายกรัฐมนตรีให้เดินทางเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีตอบรับคำเชิญการเดินทางเยือน โดยจะประสานเพื่อกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ยังไม่ทราบเรื่องการหารือจากนายกรัฐมนตรี แต่เห็นว่าการเข้าไปร่วมประชุมเป็นเรื่องที่ดีต่อภาพรวมของโลกที่ทุกประเทศจะช่วยกันแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดสันติภาพ โดยไม่ได้มองว่าเป็นการถูกดึงเข้าไปเป็นแนวร่วมของสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ นายเรียนซ์ พรีบัส ประธานเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ยืนยันว่าได้เชิญผู้นำไทยและสิงคโปร์ เยือนทำเนียบขาวเพื่อหารือกับมิตรประเทศในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ในช่วงที่มีความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐ ต้องการเพิ่มความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรในภูมิภาคเป็นสองเท่า เพื่อให้มั่นใจว่าพันธมิตรในภูมิภาคเดินไปในทิศทางเดียวกัน และให้การสนับสนุนแผนปฏิบัติการของสหรัฐฯ ในกรณีที่เกิดปัญหากับเกาหลีเหนือ
นอกจากนี้ มีรายงานว่าทำเนียบขาวได้ออกหนังสือสรุปการหารือระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับผู้นำไทย โดยระบุว่า ประธานาธิบดีสหรัฐ ยืนยันกับนายกรัฐมนตรีไทยถึงความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศที่ยาวนาน และต่างต้องการสันติสุขและความมีเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก พร้อมทั้งยืนยันว่า รัฐบาลภายใต้การนำของเขายึดมั่นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทนำในภูมิภาคเอเชีย และร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรและหุ้นส่วนสำคัญเช่นประเทศไทย
ส่วนการหารือกับนายลี เสียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์นั้น ผู้นำสหรัฐก็ได้ตอกย้ำถึงความร่วมมือในฐานะพันธมิตรเช่นกัน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน ความร่วมมือด้านความมั่นคง และแก้ไขปัญหาท้าทายในภูมิภาค และในโลก