วันที่ 10 พ.ค.2560 พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงมาตรการป้องกันและปราบปรามแชร์ลูกโซ่ ว่า ดีเอสไอเตรียมเปิดตัวแอพพลิเคชั่น ประมวลผลแชร์ลูกโซ่บนแอพพลิเคชั่น ดีเอสไอแมปเอกซ์เทรนด์ ซึ่งจะแสดงไอคอนของแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบต่างๆ ให้ประชาชนกดเพื่อประมวลผล
โดยแอพพลิเคชั่นดังกล่าว จะเชื่อมข้อมูลที่ระบุพิกัด การอบรมสัมมนาแผนการตลาดแชร์ลูกโซ่ ส่งต่อไปยังศูนย์ดำรงธรรม เพื่อสั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่เข้าดำเนินการได้ทันที ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้
นอกจากนี้ ดีเอสไอจะเชื่อมต่อฐานข้อมูลกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และองค์การอาหารและยา (อย.). เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบแผนการตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการขายตรง และสามารถตรวจสอบเลข อย.ของผลิตภัณฑ์ที่นำมาประกอบการเชิญชวนให้ลงทุนว่า เลข อย.ตรงหรือไม่ เนื่องจากในคดีแชร์ลูกโซ่ต่างๆ ที่รับไว้สอบสวน พบว่าสินค้าที่เป็นแชร์ลูกโซ่จะใช้เลข อย.ปลอม ติดแสดงในผลิตภัณฑ์
ดีเอสไอยังได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ผ่านเวบไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ถึง 7 วิธีการหลอกลวงของขบวนการแชร์ลูกโซ่ ได้แก่ 1.ผู้ชักชวนมักเป็นบุคคลใกล้ชิด 2.จะอ้างบุคคลหรือผู้ที่มีขื่อเสียงในสังคมเข้าร่วมกิจกรรม 3.อ้างหลักฐานผลประโยชน์และเงินมหาศาลที่จะได้รับ 4.ใช้โฆษณาชวนเชื่อ 5.แสดงผลการลงทุนน้อยแต่ประโยชน์ตอบแทนสูงในระยะเวลาอันรวดเร็ว 6.จัดฉากการอบรมสัมมนาอย่างยิ่งใหญ่ และ 7.พูดจาหว่านล้อมกดดันให้เหยื่อรีบตัดสินใจ หากพบพฤติการชักชวนลงทุนเข้า 7 ลักษณะดังกล่าว ขอให้ประชาชนรีบแจ้งความดำเนินคดีทันที
ทั้งนี้ รูปแบบและวิธีการหลอกลวงจะปรับเปลี่ยนไปตามกระแสนิยมและกลุ่มเหยื่อเป้าหมาย ซึ่งมีเกือบทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มเกษตรกร ชนชั้นกลาง พนักงานออฟฟิศ กลุ่มเศรษฐี และผู้มีการศึกษาดี โดยระดับความเสียหายแต่ละวงแชร์เฉลี่ยตั้งแต่หลักหมื่นบาทถึงหลักล้านบาท อาทิ แชร์น้ำมันกฤษณา แชร์ข้าวสาร แชร์เฟรนไซน์ แชร์ทองคำ แชร์น้ำมัน แชร์เทรดหุ้นเทรดเงิน ซึ่งวิธีการหลักของแชร์ลูกโซ่ คือไม่ใช่การซื้อขายจริง แต่ผู้ร่วมทุนจะได้ถือเอกสารสัญญาแทนสินค้า จ่ายเงินปันผลทุกสัปดาห์ ทุก 15 วัน หรือทุก 30 วัน เมื่อหลงเชื่อร่วมลงทุนจะได้รับปันผลใน 1-2 งวดแรก เพื่อจูงใจให้เหยื่อเพิ่มเงินลงทุน หลังจากนั้นไม่เกิน 3-6 เดือน จะหยุดจ่ายเงินปันผล อ้างขาดทุนก่อนจะปิดเว็บไซต์ หรือปิดกิจการหนี