“รอยยิ้ม” ความสุขที่ได้ทั้งผู้ให้และผู้รับ จากโครงการ Happy Gloves "ถุงมือปันสุข เพื่อน้อง เพื่อโลก" ซึ่งเป็นโครงการด้านนวัตกรรมที่คิดค้นและพัฒนาโดยนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่ถุงมือสำหรับเด็กพิการทางสมอง ช่วยลดการบาดเจ็บจากอาการบีบเกร็งมือ ป้องกันกระดูกนิ้วและข้อมือหักหรือคดงอ อีกทั้งยังเป็น “ของเล่น” เสริมสร้างพัฒนาการ การเรียนรู้ของเด็กพิการทางสมอง

ขณะศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มน้อง ๆ 4 คน คือ นายสุภชีพ สหกิจรุ่งเรือง, น.ส.ณิชมน สุภัทรเกียรติ, น.ส.ไอริณรยา โสตางกูร และนายศุภวิชญ์ วรรณดิลก ที่ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ริเริ่มโครงการดังกล่าว ภายใต้การดูแลของ อ.จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม เพื่อเข้าประกวดนวัตกรรมนานาชาติที่ประเทศเกาหลีใต้ Korea International Youth Olympiad – KIYO 2017 และสามารถคว้าเหรียญเงินมาครองได้สำเร็จ
ทีมน้อง ๆ ยังคงต่อยอดผลงาน สร้างความแตกต่างจากถุงมือทางการแพทย์อื่น ๆ ที่มีสีเดียว เพิ่มลูกเล่นด้วยดีไซน์ตุ๊กตา และติดต่อบริษัทของเล่นเด็ก ซึ่งได้ซื้อไอเดียนี้และนำไปผลิตแบบต้นแบบ จากนั้นได้มีการระดมทุนผ่านเทใจ ได้เงิน 1 ล้านบาท ผลิตถุงมือดังกล่าว 2,000 ชิ้น แจกจ่ายเด็กพิการทางสมอง
น.ส.ณิชมน เล่าว่า เราได้ร่วมกันคิดค้นและออกแบบอุปกรณ์ถุงมือเพื่อช่วยลดการเกร็งที่เล็บจะจิกเข้าไปในฝ่ามือ ทำให้เกิดรอยแผล หรือทำให้มือเปื่อย และป้องกันข้อมือหัก จากนั้นนำถุงมือต้นแบบไปทดลองใช้งานจริงกับน้องผู้พิการทางสมองผ่านทางศูนย์การเรียนรู้คนพิการแม่นกและโรงพยาบาลจุฬา เพื่อเก็บข้อมูลและนำมาปรับปรุงจนเป็นถุงมือต้นแบบที่เหมาะสม

หลังจากที่น้อง ๆ ได้ลองถุงมือ ก็มีความสุขขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมีการสร้างสรรค์อุปกรณ์รักษาในรูปแบบของเล่น ประกอบไปด้วยด้วยเหล็กดามข้อมือเพื่อบรรเทาอาการเกร็ง และมีตุ๊กตาตรงกลางรองรับเวลาที่นิ้วจิกเข้าไป อีกทั้งถุงมือเป็นแบบฟรีไซส์ น้องๆ สามารถใช้ได้กับทุกช่วงวัย
ยินดีเป็นอย่างมากที่นวัตกรรมของเราสร้างความสุขให้เด็กพิการทางสมอง ทำให้น้อง ๆ ยิ้มได้อีกครั้ง และเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยจริง ๆ
เช่นเดียวกับนายสุภชีพ ที่บอกว่า สนใจทำนวัตกรรมช่วยคนพิการทางสมอง โดยเฉพาะในเด็ก เพราะเป็นกลุ่มที่หลายคนมองข้าม ด้วยลักษณะข้อมือของเด็กงอผิดรูป หากปล่อยไว้นานจะกลายเป็นงอไปตลอดชีวิต และเมื่อเกร็งมือเล็บก็จะจิกไปในเนื้อ ทำให้เชื้อราขึ้น และอาจมีโรคติดต่อได้ สู่นวัตกรรมใช้ถุงมือผ้าที่มีเหล็กดามฝ่าข้อมือน้อง ๆ ให้ตั้งตรงได้ ไม่ให้เล็บจิกฝ่ามือ และเพิ่มสีสันสดใสด้วยตุ๊กตา
คอนเซ็ปไม่ใช่แค่ถุงมือแก้อาการเจ็บปวด แต่อยากให้เป็นของเล่นด้วย จึงออกแบบให้สีสันสดใส และเพิ่มตุ๊กตาน่ารัก
นายสุภชีพ อธิบายการทำงานของถุงมือผ้านี้ ว่า รูปแบบตุ๊กตา เป็น "เต่า" ที่ส่งเสียง "ปี๊บ ๆ" ได้ และ "ไก่" ที่มีไข่หลุดออกมาจากตัวพร้อมเสียงกระดิ่ง เตือนผู้ดูแลเมื่อน้อง ๆ บีบแรงจนเกินไป เพื่อให้เข้ามาดูและคลายนิ้วให้ อีกทั้งเป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก
ได้เห็นรอยยิ้มและความร่าเริงของน้องขณะใช้ ผมรู้สึกมีความสุขมาก ๆ ที่ใช้แล้วได้ผล

นายสุภชีพ บอกเล่าความรู้สึกหลังผู้ปกครองของเด็กพิการทางสมองได้โพสต์ข้อมูลและภาพการใช้งานจริง ซึ่งเห็นชัดเจนว่าก่อนใช้มือของน้องชุ่มและเหมือนจะมีราขึ้น แต่เมื่อใช้ถุงมือนี้ 2-3 วัน พบว่ามือแห้งขึ้น ที่สำคัญเห็นรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความสุขของน้อง
ขณะที่ ศ.ดร.พญ.กัญญา ศุภปีติพร หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้กล่าวขอบคุณแทนน้อง ๆ ซึ่งเด็กบางคนอาจรู้สึกกลัวการใช้ถุงมือแบบธรรมดา เพราะต้องการของเล่น จึงเป็นการออกแบบนวัตกรรมโดยคำนึงผู้ใช้งานจริง สร้างรอยยิ้ม ความสุขใจ และความประทับใจ รวมถึงกระตุ้นพัฒนาการด้านความเคลื่อนไหวของเด็กพิการทางสมอง จึงอยากให้ขยายผล "ถุงมือปันสุข" ไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ
เด็ก ๆ ยิ้ม จับแล้วอยากเล่น ทั้งผู้ให้และผู้รับต่างมีความสุข

ด้าน มร.โยชิทาเกะ วาคากุวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงการสนับสนุนโครงการ ว่า ยูนิโคล่สานต่อพันธกิจด้านความยั่งยืนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของเสื้อผ้าที่ไม่สามารถนำไปบริจาคได้ จะนำมารีไซเคิลเป็นผ้าใหม่เพื่อยืดอายุการใช้งาน และมอบให้เป็นวัสดุหลักสำหรับผลิตถุงมือ Happy Gloves เพื่อเด็กพิการทางสมอง พร้อมส่งมอบถุงมือ จำนวน 1,000 ชุด ให้แก่โรงพยาบาลจุฬาฯ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อมอบให้แก่เด็กพิการทางสมองที่ต้องการต่อไป
สำหรับผู้ป่วยเด็กพิการทางสมอง หรือ Cerebral Palsy เป็นโรคความผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดในทารกและเด็กเล็ก ส่งผลต่อพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และมักมีอาการเกร็ง จนอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดกระดูกและข้อต่อผิดรูป

ผู้ป่วยเด็กเหล่านี้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มทักษะในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก และการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน
ปัจจุบันมีเด็กพิการทางสมองประมาณ อัตรา 0.61 ต่อ 1,000 คน ต่อประชากรเด็กเกิดใหม่ หรือประมาณ 6,600 – 12,600 คน (จากค่าเฉลี่ย 0.61)* แต่อุปกรณ์ในการช่วยเหลือเด็กพิการกลุ่มนี้ยังมีน้อยอยู่มาก และยังคงต้องการความช่วยเหลือสำหรับผู้ป่วยเด็กพิการทางสมองในทุกด้านอีกมาก
อ่านข่าว : อัปเดต สวัสดิการแห่งรัฐเดือนกรกฎาคม 2568 จ่ายอะไรบ้าง
ครม.ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท พื้นที่ กทม.- โรงแรม-สถานบริการ