กรณีนายโดนัลด์ ทรัมพ์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส หรือข้อตกลงลดภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้ผู้นำหลายประเทศทั่วโลกกังวลต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากสหรัฐอเมริกา ถือเป็นอันดับ 2 ของโลกที่ปลดปล่อยก๊าซมากที่สุด
วันนี้ (3 มิ.ย.2560) นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่า การประ กาศ ถอนตัวของสหรัฐฯออกจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หรือข้อตกลงปารีส เมื่อเดือนธันวาคม 2559 ไม่กระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แต่ภาพรวมจะกระทบต่อเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของโลก เพราะทุกประ เทศจะต้องช่วยเฉลี่ยตัวเลขก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากมีเป้าหมายต้องไม่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส

นางประเสริฐสุข บอกว่า การประกาศของทรัมพ์จะทำให้สหรัฐฯ หมดความเป็นผู้นำและเสียโอกาสในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ผู้นำของจีน รวมทั้งนายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และยุโรปก็ออกมาตอบโต้ทันที กับท่าทีเพิกเฉยต่อความรับผิดชอบของทรัมพ์ ผู้นำสหรัฐฯ ทั้งนี้ประเมินว่าการประชุมโลกร้อน หรือ COP-23 ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพ.ย.นี้ที่กรุงบอนด์ ประเทศเยอรมันนี และมีประเทศฟิจิเป็นเจ้าภาพชาติสมาชิกกว่า 190 ชาติจะต้องมาพูดคุยเพื่อทบทวนตัวเลขต่างๆ กันอย่างดุเดือด
ส่วนของไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมลงสัตยาบันข้อตกลงปารีสแล้ว และมีการประกาศในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 ณ กรุงปารีส โดยไทยมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20- 25 ภายในปี 2573 และจะยังเดินตามกรอบงานที่วางไว้โดยปัจจุบันไทยลดก๊าซเรือนกระจกเกินเป้าหมายอยู่ที่ 30 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์จากเป้าหมายที่กำหนดไว้24ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และในอีก 13 ปีจะลดให้ได้ 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์
