ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบครั้งแรก ยานอนหลับ "อีทิโซแลม" ระบาดในไทย

สังคม
13 พ.ย. 60
17:34
7,807
Logo Thai PBS
พบครั้งแรก ยานอนหลับ "อีทิโซแลม" ระบาดในไทย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจพบยานอนหลับชนิดใหม่ "อีทิโซแลม" ครั้งแรกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนมากกว่ายานอนหลับไดอาซีแพม 10 เท่า ชี้อาจทำให้เสียชีวิตได้ ขณะเดียวกันยังพบว่ามีการนำมาใช้ทดแทนยาเสพติด

วันนี้ (13 พ.ย.2560) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวการตรวจพบยานอนหลับชนิดใหม่อีทิโซแลม (Etizolam) ได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดย นพ.สุขุม ระบุว่า เมื่อช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค.2560 สำนักยาและวัตถุเสพติด และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ร่วมกันตรวจวิเคราะห์ของกลางที่ส่งตรวจจากสถานีตำรวจภูธร 7 แห่งในเขต จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา รวม 10 ตัวอย่าง

โดยยาดังกล่าวมีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบน สีส้ม ด้านหนึ่งมีตัวพิมพ์ "5" และอีกด้านเป็นสัญลักษณ์ "4 แฉกพร้อมตัวพิมพ์ 028" บรรจุในแผงอลูมิเนียมสีเงินและสีแดง แผงละ 10 เม็ด บนแผงพิมพ์ภาษาอังกฤษระบุผลิตในประเทศญี่ปุ่น และชื่อยา "Erimin 5" พบว่าเป็นยาปลอม เนื่องจากตรวจไม่พบส่วนประกอบที่เป็นยาไนเมตาซีแพม (Nimetazepam) ที่ปกติจะพบอยู่ในยา Erimin 5 และจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 มักนำไปใช้ทดแทนยาเสพติด ซึ่งมีการแพร่ระบาดมากในสถานบันเทิงเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ สามารถยืนยันการตรวจของกลางทั้ง 10 ตัวอย่าง พบว่าเป็นยาอีทิโซแลม (Etizolam) ซึ่งเป็นยานอนหลับชนิดใหม่ที่เพิ่งตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย

 

นพ.สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า ยาอีทิโซแลม มีสูตรโครงสร้างทางเคมีและการออกฤทธิ์คล้ายกับยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอาซีปีนส์ เป็นยากลุ่มกดประสาทที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม โดยในประเทศญี่ปุ่น อิตาลีและอินเดีย อนุญาตให้ใช้เป็นยาสำหรับรักษาโรควิตกกังวลที่มีภาวะซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับ แต่ก็มีอาการไม่พึงประสงค์และอาการข้างเคียง เช่น ทำให้ง่วงซึมระหว่างวัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดจาเลอะเลือน เดินเซ ง่วงนอน อาจมีอาการกล้ามเนื้อรอบดวงตาหดเกร็งตัว ในผู้ป่วยที่ใช้ยามากกว่า 1 เดือนจะกดระบบหายใจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังทำให้เสพติดและมีการนำไปใช้ทดแทนยาอี ขณะที่หลายประเทศได้ตระหนักถึงอันตรายและแนวโน้มการนำไปใช้ในทางที่ผิดของยาชนิดนี้ จึงกำหนดให้เป็นสารที่ต้องควบคุมตามกฎหมาย เช่น ประเทศเดนมาร์ก เยอรมนี สหรัฐอเมริกาในรัฐฟลอริดา อลาบามา เวอร์จิเนีย เท็กซัส เป็นต้น

 

ล่าสุด มีรายงานข่าวกรณีมีผู้เสียชีวิตจำนวน 6 คนในสกอตแลนด์ เมื่อปี พ.ศ.2559 เนื่องจากใช้ยาไดอาซีแพมปลอมที่บางตัวอย่างมีส่วนผสมของยาอีทิโซแลม โดยสหราชอาณาจักรประกาศให้เป็นยาควบคุมกลุ่ม C ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับการควบคุมวัตถุออกฤทธิ์ชนิดอัลปราโซแลม (Alprazolam) และไดอาซีแพม (Diazepam) นอกจากนี้ยาดังกล่าวเป็น 1 ใน 16 ชนิดที่องค์การสหประชาชาติจะมีการทบทวนและพิจารณาการควบคุมทางกฎหมายระดับสากล ในการประชุม ECDD (Expert Committee on Drug Dependence) ครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 16-20 พ.ย.2560

สำหรับในประเทศไทย เนื่องจากยาดังกล่าวไม่มีจำหน่าย หรือไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนในประเทศ จึงยังไม่ถูกควบคุมหรือประกาศให้เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ยาอีทิโซแลมเริ่มมีการแพร่ระบาดและมีแนวโน้มนำไปใช้ในทางที่ผิดในประเทศไทย ซึ่งเป็นการตรวจพบครั้งแรก จึงทำให้ต้องมีการเฝ้าระวัง ปราบปรามและพิจารณทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบถึงอันตราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง