ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตำนาน "ผีตามคน" สู่งานบุญศักดิ์สิทธิ์แห่งด่านซ้าย "แห่ผีตาโขน"

ไลฟ์สไตล์
12:34
180
ตำนาน "ผีตามคน" สู่งานบุญศักดิ์สิทธิ์แห่งด่านซ้าย "แห่ผีตาโขน"
อ่านให้ฟัง
08:52อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน อ.ด่านซ้าย จ.เลย ปิดฉากลงอย่างยิ่งใหญ่ ผู้คนต่างหลั่งไหลร่วมสืบสานตำนาน "ผีตาโขน" หน้ากากสีสันสดใสสะท้อนภูมิปัญญาชาวบ้าน สร้างความคึกคักและตอกย้ำคุณค่ามรดกวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่คู่เมืองเลย

"ประเพณีผีตาโขน" เป็นเทศกาลสำคัญประจำท้องถิ่นและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของไทย เป็นส่วนหนึ่งของ "งานบุญหลวง" โดยเอางาน "บุญผะเหวด" และ "บุญบั้งไฟ" เข้าไว้เป็นงานบุญเดียวกัน จัดขึ้นเพียงครั้งเดียวต่อปี ที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย ช่วงปลายเดือน มิ.ย. ถึงต้นเดือน ก.ค. ตรงกับช่วงหลังวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติ

สำหรับปีนี้ งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย.2568 โดยบรรยากาศตลอด 3 วัน เต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมหาศาล ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาร่วมสัมผัสความงดงามทางวัฒนธรรม ในวันเปิดงานมีผีตาโขนกว่า 50 กลุ่ม ออกมาวาดลวดลายให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพและร่วมสนุก ขณะที่พิธีสู่ขวัญพระเวสสันดรก็คึกคัก ประกอบด้วยนางรำกว่า 300 คน การจัดงานครั้งนี้คาดการณ์ว่ามีนักท่องเที่ยวมาร่วมงานกว่า 100,000 คน และจะสร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่กว่า 150 ล้านบาท

ต้นกำเนิดตำนาน จาก "ผีตามคน" สู่ "ผีตาโขน"

ตามคำบอกเล่า การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรี กำลังเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมือง แต่ด้วยความรักและอาลัย เหล่าผีป่าและสัตว์นานาชนิด จึงพากันแฝงตัวมากับชาวบ้านเพื่อส่งเสด็จ เดิมทีเรียกขานว่า "ผีตามคน" หรือ "ผีตาขน" ก่อนที่จะเพี้ยนเสียงกลายเป็น "ผีตาโขน" ในปัจจุบัน

ความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัตินี้สะท้อนวิถีชีวิตในสังคมเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ และเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษ ช่วงเวลาของการจัดงานมักอยู่ในราวเดือน 7-8 ซึ่งเป็นรอยต่อของฤดูกาลทำนา หากฝนทิ้งช่วงอาจส่งผลกระทบต่อข้าวกล้าในนาได้

การละเล่นผีตาโขนจึงถูกมองว่าเป็นวิธีหนึ่งในการขอฝน และเมื่อพุทธศาสนาเข้ามามีบทบาท ผีตาโขนก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมบุญหลวง โดยมีหน้าที่สำคัญคือการหลอกล่อสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ให้เพลิดเพลินกับการละเล่น จนลืมที่จะสร้างความวุ่นวายหรือขัดขวางพิธีกรรมต่าง ๆ ทำให้งานดำเนินไปอย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม แม้การละเล่นผีตาโขนจะมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน แต่ยังไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใด

"หน้ากากผีตาโขน" อัตลักษณ์แห่งสีสันและภูมิปัญญาชาวบ้าน

จุดเด่นของงานคือ ขบวนแห่ผีตาโขน ที่ผู้เข้าร่วมจะแต่งกายคล้ายผีและปีศาจ สวมหน้ากากขนาดใหญ่ที่มีลวดลาย สีสันงดงาม ประดิษฐ์จากหวดนึ่งข้าวเหนียวกับกาบมะพร้าวและเศษผ้ามาประกอบเป็นหัวผีตาโขน ซึ่งสะท้อนภูมิปัญญาของ "ชาวไทด่าน"

ผีตาโขนแบ่งเป็น 2 ประเภท

  1. ผีตาโขนใหญ่ เป็นหุ่นไม้ไผ่สานขนาดใหญ่กว่าคนทั่วไป 2 เท่า ทำขึ้นปีละ 2 ตัว ชาย-หญิง
  2. ผีตาโขนเล็ก เป็นการละเล่นของเด็กและผู้ใหญ่ทั่วไป ทุกคนมีสิทธิ์เข้าร่วมสนุกได้

3 วัน พิธีกรรม "งานบุญหลวง"

งานบุญหลวง และ การละเล่นผีตาโขน ในปีนี้จัดเต็ม 3 วัน ตามขนบธรรมเนียมโบราณ

วันแรก พิธีเบิกพระอุปคุต

  • พิธีการบวชพราหมณ์ เพื่อเชิญพระอุปคุต
  • พิธีแห่จากวัดโพนชัยไปริมฝั่งแม่น้ำหมันเพื่อเชิญพระอุปคุต
  • พิธีงมพระอุปคุตจากแม่น้ำหมันอัญเชิญขึ้นประดิษฐานหออุปคุต วัดโพนชัย
  • พิธีเบิกพระอุปคุต พร้อมยิงปืนทั้ง 4 ทิศ
  • พิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม

วันที่สอง วันแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง หรือ ขบวนแห่ผีตาโขน

  • พิธีสู่ขวัญพระเวสสันดร อัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง
  • ขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง ขบวนแห่ผีตาโขน
  • เจ้าพ่อกวนและคณะนำขบวนแห่ไปวัดโพนชัยแห่รอบโบสถ์ 3 รอบ
  • เจ้าพ่อกวนและคณะจุดบั้งไฟขอฝน
  • คณะผู้เล่นบุญหลวงนำหน้ากากผีตาโขนน้อยและผีตาโขนใหญ่ทิ้งลงแม่น้ำหมัน

วันสุดท้าย ฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์

  • พิธีกัณฑ์หลอน ทำบุญฟังธรรมะ ไม่มีการละเล่นผีตาโขนในวันนี้

จุดประสงค์การละเล่น "ผีตาโขน" ของชาว อ.ด่านซ้าย มีหลากหลาย ทั้งเพื่อถวายดวงวิญญาณศักดิ์สิทธ์ที่มีอำนาจในการปกครองสูงสุดในเมืองด่านซ้าย เพื่อร่วมขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองอันเป็นความเชื่อทางพุทธศาสนา เพื่อร่วมขบวนในการแห่บุญเดือนหก (บุญบั้งไฟ) หรือการแห่ขอฝน เพื่อความสนุกสนาน อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าจะช่วยให้สิ่งที่ไม่ดีที่เคยกระทำด้วยกาย วาจา ใจ รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ให้ติดไปกับผีตาโขน โดยการนำไปล่องลำน้ำหมัน

ศิลปะ "หน้ากาก" ในวัฒนธรรมโลก

นอกจากผีตาโขนของไทย วัฒนธรรม "หน้ากาก" ยังเป็นศิลปะที่แพร่หลายมาหลายพันปีทั่วโลก แต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการออกแบบและการใช้งาน ไม่ว่าจะใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา สงคราม หรือพิธีศพ ทำให้หน้ากากเป็นวัฒนธรรมสากลที่สะท้อนคุณค่าและเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของแต่ละชนชาติ เช่น

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปู่เยอ-ย่าเยอ เป็นหน้ากากหุ่นเทวดาผู้เฒ่า ใช้ประกอบพิธีกรรมที่ชาวหลวงพระบางให้ความเคารพนับถือ จะถูกแห่พร้อม สิงห์แก้ว-สิงห์คำ ในช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ลาว โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อแสดงความเคารพต่อผีบรรพบุรุษและขอความคุ้มครองให้กับตนเอง ครอบครัว และชุมชน

อินโดนีเซีย หน้ากาก "โทเป็ง" ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในการแสดงประกอบพิธีกรรม โดยผู้สวมหน้ากากจะร่ายรำโดยไม่มีบทพูด นอกจากนี้ยังมีการแสดง "ระบาบาร็อง" ที่ผู้แสดงสวมหน้ากากและชุดเพื่อสื่อถึงการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่ว

ปาปัวนิวกินี หน้ากากมีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมและพิธีการต่าง ๆ เชื่อว่าเป็นสื่อกลางสำหรับวิญญาณบรรพบุรุษหรือเทพเจ้า ผู้สวมใส่จะกลายเป็นวิญญาณนั้น ๆ เช่น "หน้ากากเต้นรำ" ที่ใช้เรียกพลังวิญญาณเพื่อการล่าสัตว์หรือการเก็บเกี่ยว "หน้ากากบรรพบุรุษ" ที่นำดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับมาสู่หมู่เครือญาติ หรือ "หน้ากาก Asaro Mud" ซึ่งโดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ที่น่าเกรงขาม ทำจากดินเหนียวสีขาว มีใบหน้าที่บิดเบี้ยวผิดรูป เชื่อว่าใช้หลอกล่อศัตรูให้เข้าใจผิดว่าเป็นผีและขับไล่สิ่งชั่วร้าย

การละเล่นผีตาโขน อันเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีบุญหลวงของไทย ได้รับความนิยมไปทั่วโลก มีผู้คนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้าร่วมอย่างคับคั่ง และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ.2556 โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

ดังนั้นงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน จึงเป็นภาพสะท้อนอันงดงามของจิตวิญญาณไทย ที่มีความหมายและเต็มไปด้วยความสนุกสนาน อันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทยที่ดึงดูดใจจากผู้คนทั่วทุกมุมโลก

แหล่งที่มา:

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขนวุฒิสภาสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเลยผีตาโซนนิยามและความหมายเบื้องหลังหน้ากาก