ภาคประชาชน ยื่นหนังสือ ก.ล.ต.- กทม. สอบ “อิตาเลียนไทย” ตัดต้นไม้

สังคม
8 มี.ค. 61
08:03
542
Logo Thai PBS
ภาคประชาชน ยื่นหนังสือ ก.ล.ต.- กทม. สอบ “อิตาเลียนไทย” ตัดต้นไม้
ตัวแทนภาคประชาชน ยื่นหนังสือถึง ก.ล.ต.ให้ตรวจสอบธรรมาภิบาล บมจ.อิตาเลียนไทย กรณีตัดต้นไม้หน้า ม.เกษตรฯ และเรียกร้องให้ กทม. ทบทวนมาตรการปฏิบัติต่อต้นไม้ในเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า

วันนี้ ( 8 มี.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มตัวแทนภาคประชาชนที่เห็นความสำคัญของต้นไม้ในเมือง ประกอบด้วย เครือข่ายต้นไม้ในเมือง นำโดย น.ส.ช่อผกา วิริยานนท์ กลุ่ม Big trees นำโดย นางอรยา สูตะบุตร สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เพจเฮ้ยนี่มันฟุตบาทไทยแลนด์ อาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ ม.เกษตรศาสตร์ กลุ่มจตุจักรโมเดล ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ม.เกษตรศาสตร์ และเพจกรุงเทพเดินสบาย เข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานรัฐให้ดำเนินมาตรการต่อ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) กรณีตัดต้นไม้ริมทางเท้าหน้า ม.เกษตรศาสตร์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ในวันที่ 7 มี.ค.2561

เวลา 13.00น. เดินทางไปยื่นหนังสือต่อประธานกรรมการ ก.ล.ต. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยเรียกร้องให้ตรวจสอบธรรมาภิบาลของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน)

ตอนหนึ่งในหนังสือระบุว่า จากเหตุการณ์ในข่าวที่เกิดขึ้นนี้เป็นเหตุให้สงสัยว่า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ได้กระทำการที่แสดงว่าเป็นองค์กรที่ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่เคารพในกฎกติกาของสังคม ไม่รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และไม่เคารพในทรัพย์สมบัติที่เป็นของสาธารณะหรือไม่ จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการ ก.ล.ต.ทำการตรวจสอบกรณีดังกล่าวว่าเข้าข่ายหรือไม่ และหากเข้าข่ายซึ่งสาธารณชนเห็นพ้องว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม

ขอให้ ก.ล.ต.ได้พิจารณาให้เกิดบทลงโทษ อาทิ คำสั่งหยุดการซื้อขาย เป็นต้น พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางปฏิบัติในอนาคตที่จะบังคับใช้ให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะได้รับคุณได้รับโทษอย่างเป็นรูปธรรม ในประเด็นด้านธรรมาภิบาล ที่ทั่วโลกและรัฐบาลไทยกล่าวอ้างถึงอย่างสม่ำเสมอต่อไป

จากนั้น เวลา 15.00 น. ตัวแทนภาคประชาชนได้เดินทางไปยี่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมขอเรียกร้องให้ทบทวนมาตรการปฏิบัติต่อต้นไม้ในเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.ขอให้เปิดเผยข้อมูลต้นไม้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายตลอดโครงการ และเปิดเผยแผนการปฏิบัติที่กำหนดไว้เดิม (ตามสิทธิใน พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ)

2.ขอให้มีการตัดและล้อมย้ายต้นไม้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้มืออาชีพมากำกับดูแลการทำงาน

3.ขอให้ทำการตรวจสอบต้นไม้ที่มีการขุดล้อมย้ายไปก่อนหน้านี้ ว่ายังปกติดีหรือไม่ หรือตายไปหมดแล้ว หรือถูกนำไปปลูกยังบ้านผู้บริหารหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือไม่

4.ขอให้มีจุดปลูกเสริม หากจำเป็นต้องมีการตัดทิ้งหรือย้ายต้นไม้

5.ขอให้สร้างวิธีการที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบได้ ว่าหน่วยงานของท่านได้ดำเนินการตามนั้นจริง

6.ขอให้มีการจัดตั้งตัวแทน 4 ฝ่ายเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติต่อต้นไม้ คือตัวแทนจาก กทม. ตัวแทนบริษัทผู้รับเหมา ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน และตัวแทนภาควิชาการ มาหารือร่วมกันว่าควรหรือไม่ที่จะตัดหรือย้ายต้นไม้ต้นไหน อย่างไร และกำหนดแนวทางการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้

7.ขอให้ทบทวนแนวทางการประเมินคุณค่าของต้นไม้ กรณีที่ต้องถูกตัดทำลายลง เพราะอัตราค่าปรับตามที่กฎหมายกำหนดนั้นเทียบไม่ได้กับคุณค่าของต้นไม้ในเมืองแต่ละต้น ที่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้คนเมืองได้มากมหาศาล ทั้งการเป็นเครื่องปรับอากาศจำนวนมาก และเป็นเครื่องฟอกอากาศที่ดูดซับก๊าซพิษ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเครื่องจักรใดๆ มาทำหน้าที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศให้กับคนเมืองแทนต้นไม้ในเมืองได้

ทั้งนี้ ในวันที่ 12 มี.ค.2561 กลุ่มตัวแทนภาคประชาชนที่เห็นความสำคัญของต้นไม้ในเมือง จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ณ ที่ทำการศาลปกครอง ศูนย์ราชการ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง