ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กระตุ้นรัฐผลักดัน กม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หลังถูกดองนานกว่า 2 ปี

สังคม
21 เม.ย. 61
15:04
390
Logo Thai PBS
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กระตุ้นรัฐผลักดัน กม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หลังถูกดองนานกว่า 2 ปี
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำลูกค้าทรูมูฟเอชฯ แจ้งความ หลัง 11,400 เบอร์ รั่วไหล พร้อมเตือนให้ตื่นตัวตรวจสอบความเสี่ยงการนำสำเนาบัตร ปชช.ทำธุรกรรม เสนอรัฐบาล เร่งผลักดัน กม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หลังจากถูกดองมานานกว่า 2 ปี

วันนี้ (21 เม.ย.2561) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า กลุ่มลูกค้าที่ได้รับกระทบ จะต้องเริ่มรู้ตัวว่าอาจมีปัญหาในอนาคต หรือมีความเสี่ยงในการนำบัตรประชาชนไปใช้ทำอย่างอื่น โดยเฉพาะบุคคลที่ซื้อซิมไม่ได้ขีดฆ่าในสำเนาบัตรว่าใช้ซื้อซิมออนไลน์เท่านั้น และต้องไม่ลืมว่า สำเนาบัตรประชาชนสามารถนำไปใช้ในการเปิดบัญชีธนาคาร เสียภาษี หรือแสดงความเป็นตัวตนได้หลายประเภทธุรกรรม ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ต้องตื่นตัว ระมัดระวังความไม่ชอบมาพากลที่อาจเกิดขึ้น หากมีความผิดปกติต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่

ส่วนประเด็นที่บริษัททรูมูฟเอชเสนอมาตรการเยียวยานั้น ให้สังเกตว่าข้อเสนอที่บริษัทเสนอให้นั้น มีความเป็นธรรมกับผู้ใช้งานหรือไม่ เช่น สมมติว่าเสนอให้ใช้โทรศัพท์ หรือ อินเทอร์เน็ตฟรี 2 เดือน หรือ ถ้าพบว่ามีการนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของลูกค้าที่ลงทะเบียนในกลุ่มนี้ไว้ ไปใช้ผิดประเภทหรือเกิดความเสียหาย ทางบริษททรูฯ ยินดีรับผิดชอบทุกอย่าง เป็นข้อเสนอที่เพียงพอหรือไม่

นอกจากนี้ ทาง กสทช.ต้องพิจารณาด้วยว่ามาตรการเหล่านี้เพียงพอหรือไม่ เป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่ ถ้าไม่เป็นธรรม กสทช.มีสิทธิ์ให้บริษัทกลับไปแก้ไขมาตรการเยียวยาใหม่ ก่อนที่จะอนุมัติ

“เรื่องนี้จริงๆ มองว่า บริษัททรูมูฟฯ มีความผิดที่ปล่อยให้บริษัทในเครือของตัวเอง (ไอทรูมาร์ท) เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค ผิดเงื่อนไขของผู้รับใบอนุญาต เพราะการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการ หรือ โอเปอเรเตอร์ ที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการเท่านั้น ไม่แปลกที่จะมีบริษัทอื่นๆ ขายซิมโทรศัพท์ได้ แต่ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ต้องถูกจัดเก็บโดยบริษัททรูฯ ที่ได้รับใบอนุญาตจากกสทช.เท่านั้น ประเด็นนี้ กสทช. ยังไม่ได้พูดเลยว่าจะจัดการลงโทษประเด็นนี้อย่างไร”

ส่วนแผนงานที่บริษัทรูฯ เสนอนั้น จะต้องมีมาตรการที่ป้องกันในอนาคตด้วยว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผู้เชี่ยวชาญไซเบอร์ไปตรวจสอบพบและแจ้งให้ทราบ แต่ขณะนี้ไม่มีทางทราบได้ว่าบุคคลอื่นๆ ที่มีลักษณะเข้าถึงข้อมูลกลุ่มลูกค้าทรูฯ เหล่านี้ ในช่วงเกิดเหตุขณะนั้น มีโอกาสเข้าไปดูหรือนำข้อมูลลูกค้ากลุ่มนี้ไปใช้ประโยชน์หรือไม่

ปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องการเสนอให้ กสทช.ตั้งคณะบุคคล หรือ ผู้เชี่ยวชาญ หรือ นักวิชาการร่วมด้วยประมาณ 2-3 คน ช่วยเข้าไปตรวจสอบร่วมกับการตรวจสอบของกสทช. ไม่เช่นนั้นจะสร้างความไม่มั่นใจให้ผู้บริโภค ถ้าให้บริษัททรูมูฟฯ ชี้แจงฝ่ายเดียว โดยไม่มีการตรวจสอบที่เป็นกลางและน่าเชื่อถือ ซึ่งกรณีข้อมูลรั่วเคยเกิดปัญหากับเครือข่าย AIS มาแล้ว กสทช.จึงต้องสร้างความมั่นใจกับให้ผู้บริโภค และที่สำคัญบริษัททรูมูฟฯ ต้องยินยอมให้ตรวจสอบ

นางสาวสารี กล่าวว่า การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลปัจจุบันเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เสนอโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และหลายฝ่ายร่วมเสนอไปนานกว่า 2 ปีแล้ว แต่รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยังไม่พิจารณา

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีปัญหาเกี่ยวกับความล้าหลังในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มองว่า เมื่อข้อรั่วไหลไม่ใช่ความผิด ทั้งๆ ที่ข้อมูลที่รั่วถือเป็นทรัพย์สิน เป็นข้อมูลส่วนบุคคล ควรได้รับการคุ้มครอง ซี่งกลุ่มประเทศยุโรปเขาถือว่าข้อมูลที่รั่วไหล เป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลแล้ว เพราะแม้จะไม่ได้เอาข้อมูลไปใช้เพื่อการค้า หรือสร้างความเสียหาย แต่ก็มีกฎหมายคุ้มครองชัดเจน

“คนไทยในฐานะผู้บริโภคเอง ก็ต้องตระหนักและสนใจเกี่ยวกับประเด็นข้อมูลส่วนบุคคลให้มาก ไม่ใช่ว่าข้อมูลรั่วแล้ว เราเห็นหลายคนให้สัมภาษณ์ว่า ข้อมูลรั่วแล้วไม่เป็นไร ไม่ได้รู้สึกอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะบัตรประชาชน คือ ทุกอย่างของเรา เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ ไม่ใช่วันนี้เราไปฝากเงินธนาคาร แล้ววันรุ่งนี้มีคนโทรมาขายของทันที เพราะเลขหมายของเราถูกเอาไปเป็นกองกลางให้คนไปใช้ประโยชน์ นำไปใช้ทำมาหากิน มันละเมิดความเป็นส่วนตัว”

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง