ชีวิตแท็กซี่ออนไลน์

เศรษฐกิจ
10 พ.ค. 61
07:10
1,797
Logo Thai PBS
ชีวิตแท็กซี่ออนไลน์
ในโลกดิจิทัลเเค่มีสมาร์ทโฟน 1 เครื่องสามารถทำได้หลายอย่าง ซึ่งรวมถึงเรียกเเท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน เเน่นอนว่าหลายคนสะดวกสบาย เเต่ต้องเเลกกับค่าเรียกใช้บริการ ขณะที่คนขับเเท็กซี่บางส่วนสะท้อนว่ารายได้ดีขึ้นกว่าเเต่ก่อน

วันนี้ (10 พ.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทุกเช้าก่อนออกให้บริการ นายสมบัติ เมรัตน์ คนขับรถแท็กซี่จะทำความสะอาดรถ ที่สำคัญเปิดโหมดออนไลน์บนแอปพลิเคชัน เพื่อรอผู้โดยสารเรียกผ่านสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ในเวลาเพียง 3 วัน เขาสามารถทำเงินได้มากกว่า 10,000 บาท

นายสมบัติ กล่าวว่า บริษัทจะหักค่าธรรมเนียมจากการรับงานผ่านแอปฯ ครั้งละ 10 บาท เท่ากับค่าใช้จ่ายจากค่ายแกร็บ แท็กซี่ ยกเว้นบริการ จัส แกร็บ คนขับจะถูกหัก 25 เปอร์เซ็นต์ของค่าโดยสาร ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์

ผู้โดยสารเรียกแท็กซี่ได้หลายแอปฯ เขาจึงสมัครเป็นสมาชิกคนขับหลายค่าย โดยไม่ผิดข้อตกลง และเลือกที่จะเปิดออนไลน์ให้บริการกับบริษัทที่จ่ายเงินพิเศษ หรืออินเทนซีฟ ที่สูงกว่า เช่น รับงาน 4 ครั้ง ได้เงินกินเปล่าทันที 300 บาท ไปจนถึง 11 ครั้ง 1,300 บาท ไม่รวมค่าโดยสาร

ทุกวันนี้ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 40,000-50,000 บาท หักจ่ายค่างวดรถให้สหกรณ์เดือนละ 17,000 บาท ยังเหลือเงินเก็บออมให้ครอบครัว

ด้านนายพชรศศิ ช่างพิมพ์ ผู้จัดการ สหกรณ์แท็กซี่สยาม กล่าวว่า ในปัจจุบัน คนเรียกใช้บริการเเท็กซี่ผ่านเเอปฯ มากขึ้น จึงต้องปรับตัว ร่วมให้บริการกับบริษัท ไลน์ ประเทศไทย ให้บริการแท็กซี่ออนไลน์ ซึ่งยังมีอีกหลายเเอปฯ ที่ติดต่อมาทางสหกรณ์ เพื่อให้เข้าร่วมบริการ จึงทำให้เชื่อว่าธุรกิจนี้ไม่น่าจะมีใครผูกขาด

ทั้งนี้ จำนวนแท็กซี่ในกรุงเทพฯ มีไม่ต่ำกว่า 90,000 คัน แบ่งเป็น แท็กซี่ส่วนบุคคล หรือ เขียว-เหลือง, แท็กซี่นิติบุคคล ซึ่งจดทะเบียนในรูปห้างหุ้นส่วนจำกัด และสหกรณ์แท็กซี่ ซึ่งเป็นเครือข่ายแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุด มากกว่า 60,000 คัน

ในแต่ละปีจะมีแท็กซี่ปลดระวาง ปีนี้จะเหลือให้บริการ 70,000 คัน ในจำนวนนี้ แกร็บ แท็กซี่ ถือครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ร้อยละ 95 มีสมาชิกประมาณ 40,000-50,000 คัน ไม่รวมรถบุคคล รองลงมา คือไลน์ แท็กซี่ 10,000 คัน และออล ไทย แท็กซี่ 500 คัน

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง