วันนี้ (5 มิ.ย.2561) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือ สส. จัดกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งตรงกับ 5 มิ.ย.ของทุกปี และปี 2561 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กำหนดประเด็นเรื่องขยะพลาสติก เป็นประเด็นหลักในการรณรงค์ว่า “Beat Plastic Pollution : If you can’t reuse it, refuse it” หรือ “รักษ์โลก เลิกพลาสติก” รณรงค์ให้ประชาชนลด ละ เลิกขยะพลาสติก
เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณปีละ 2 ล้านตัน มีการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์เพียงปีละ 0.5 ล้านตัน ยังคงเหลืออีก 1.5 ล้านตัน และส่วนใหญ่เป็นเศษขยะถุงพลาสติกที่ปนเปื้อน ทั้งยังย่อยสลายได้ยากในสิ่งแวดล้อม ต้องใช้ระยะเวลานานนับร้อยปีในการย่อยสลาย ขยะเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้นแต่ยังส่งผลถึงเศรษฐ กิจของประเทศโดยรวมอีกด้วย
ขยะพลาสติกวิกฤติสิ่งแวดล้อมโลก
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ปัญหาขยะพลาสติก กลายเป็นวิกฤตสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งนานาชาติให้ความสำคัญ และถูกหยิบยกขึ้นมาหารือควบคู่กันในการประชุมระดับนานาชาติ จากหลักฐาน ที่ปรากฏชัดมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ทั้งภาพแพขยะในมหาสมุทร ภาพผลกระทบของขยะพลาสติกที่มีต่อนกทะเล สัตว์ทะเล เช่น เต่าทะเล โลมา วาฬ และสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ขยะพลาส ติกกำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงมากขึ้น
เฉพาะในปี 2559 มีขยะมากถึง 27 ล้านตัน จำนวนนี้เป็นขยะพลาสติกเฉลี่ย 3.2 ล้านตัน สอดคล้องกับข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า แต่ละปีทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบ และครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ช้อม ส้อม แก้วน้ำพลาสติก นอกจากนี้แต่ละปี มีปริมาณขยะพลาสติกกว่า 13 ล้านตันไหลลงสู่ทะเล ซึ่งประเทศไทยได้ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดในโลก
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องช่วยกันลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งไม่ว่าในเมืองใหญ่หรือชุมชนในชนบท ถุงพลาสติกก็เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เพราะอำนวยความสะดวกสบายให้ทุกคน เมื่อต้องไปจับจ่ายสินค้าตามห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าชุมชน รวมทั้งใช้ใส่อาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ประเทศไทยมีขยะถุงพลาสติกเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
20 กระทรวง-เอกชน Kick Off ลดถุงขยะ-โฟม
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้เห็นชอบให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ ภาคเอกชนเองก็ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ และตอบรับร่วมมือดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกเป็นอย่างดี ช่วยกันทำให้ปริมาณการใช้ถุงพลาสติก และการเกิดขยะพลาสติกลดน้อยลง ซึ่งกระทรวงได้สื่อสาร และรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักให้กับประชาชนเรื่องการลดใช้ถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติก กระทั่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ17 เม.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ ทส. กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งบริษัท ห้างร้าน สถานประกอบการต่างเข้ามามีส่วนร่วมในการลดใช้วัสดุจากพลาสติกเนื่องจากจะกลายเป็นขยะตกค้างที่ย่อยสลายได้ยาก
วันนี้ทส.จึงใช้วันสิ่งแวดล้อมโลกในการประกาศเจตนารมณ์ การลดใช้ถุงพลาสติกแบบหูหิ้วและโฟม ภายในหน่วยงานราชการทั้ง 20 กระทรวง เป็นต้นแบบดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วน ในปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคไปในทางที่ไม่ก่อให้เกิดขยะจากถุงพลาสติกแบบหูหิ้วและโฟมอย่างไม่จำเป็นเนื่องจากสูงถึง 45,000 ล้านชิ้นต่อปี นอกจากนี้ภาพรวมไทยยังคงมีอัตราการผลิตขยะเฉลี่ยต่อคนสูงที่สุดในอาเซียน 1.76 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน
ด้านนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ ยังมีกิจกรรมวิ่งปันรักษ์ให้โลก Run For Nature 2018 บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนคร ศรีอยุธยา เพื่อกระตุ้นให้เกิดโมเดลการวิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งการวิ่งเก็บขยะแบบ Plogging และการลดขยะพลาสติก โดยเฉพาะแก้วน้ำพลาสติก โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะมอบให้แก่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และ มูลนิธิผู้พิทักษ์ป่าต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
หยุดทิ้งเถอะ ! สัตว์ไม่รู้ว่าพลาสติก “กินไม่ได้”
ชีวิตสัตว์ทะเลพิการ เหยื่อขยะพลาสติก