ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กสทช.ลดค่าเช่า MUX "Thai PBS-ช่อง5-กรมประชาสัมพันธ์" 22-26%

สังคม
13 มิ.ย. 61
15:28
1,216
Logo Thai PBS
กสทช.ลดค่าเช่า MUX "Thai PBS-ช่อง5-กรมประชาสัมพันธ์"  22-26%
กสทช.มีมติอนุมัติปรับลดค่าเช่า MUX ของThai PBS สถานีโทรทัศน์กองทัพบกและกรมประชาสัมพันธ์ ลงจากเดิมร้อยละ 22-26 พร้อมมีมติอนุมัติคืนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไม่เต็มกลุ่มได้ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (13 มิ.ย.2561) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช.มีมติเห็นชอบให้ปรับลดอัตราค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล หรือ MUX ของสถานีโทรทัศน์กองทัพบก องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) และกรมประชาสัมพันธ์ จากอัตราเดิมที่ใช้อยู่ ตามมติที่ประชุมอนุกรรมการกลั่นกรองงาน กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามข้อเสนอของผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ดังนี้

1.สถานีโทรทัศน์กองทัพบก อัตราค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ช่องรายการประเภทความคมชัดปกติ (SD) 3.5 ล้านบาท/เดือน และช่องรายการประเภทความคมชัดสูง (HD) 10.5 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการปรับลดจากอัตราเดิมที่ อัตราค่าเช่าฯ ช่องรายการประเภทความคมชัดปกติ (SD) อยู่ที่ 4.72 ล้านบาท/เดือน และช่องรายการประเภทความคมชัดสูง (HD) 14.16 ล้านบาท/เดือน เท่ากับปรับลดลง 26%

2. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) อัตราค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ช่องรายการประเภทความคมชัดปกติ (SD) 3.6 ล้านบาท/เดือน และช่องรายการประเภทความคมชัดสูง (HD) 10.8 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการปรับลดจากอัตราเดิมที่ อัตราค่าเช่าฯ ช่องรายการประเภทความคมชัดปกติ (SD) อยู่ที่ 4.6 ล้านบาท/เดือน และช่องรายการประเภทความคมชัดสูง (HD) 13.8 ล้านบาท/เดือน เท่ากับปรับลดลง 22%

3. กรมประชาสัมพันธ์ อัตราค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ช่องรายการประเภทความคมชัดปกติ (SD) 3.6 ล้านบาท/เดือน และช่องรายการประเภทความคมชัดสูง (HD) 10.8 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการปรับลดจากอัตราเดิมที่ อัตราค่าเช่าฯ ช่องรายการประเภทความคมชัดปกติ (SD) อยู่ที่ 4.65 ล้านบาท/เดือน และช่องรายการประเภทความคมชัดสูง (HD) 13.95 ล้านบาท/เดือน เท่ากับปรับลดลง 23%

4. อัตราค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลตามข้อ 1-3 ให้ใช้บังคับเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานด้านการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 และให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการทบทวนอัตราเช่าใช้บริการโครงข่ายฯ ให้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรมตามข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไป หรือตามที่คณะกรรมการกำหนด

สำหรับ กรณีของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) อยู่ในขั้นตอนของการนำส่งข้อมูล ซึ่งหากบริษัทฯ ไม่นำส่งข้อมูลภายในระยะเวลาที่กำหนด กสทช. จะดำเนินการพิจารณากำหนดอัตราค่าตอบแทนการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลให้ โดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ประกอบการพิจารณากำหนดอัตราค่าตอบแทนการเช่าใช้โครงข่ายฯ ทั้งนี้ เป็นไปตามมติ กสทช. ครั้งที่ 10/2561 วันที่ 30 พ.ค.2561 แต่หากบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) นำส่งข้อมูลเข้ามาให้สำนักงาน กสทช. ก็จะมีการพิจารณากำหนดอัตราค่าตอบแทนการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลก่อนที่จะมีการชำระค่าโครงข่ายให้แล้วเสร็จ

ขณะที่ที่ประชุม กสทช.ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการพิจารณารับคืนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไม่เต็มกลุ่ม กรณีเป็นเลขหมายที่มีผู้ใช้บริการ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการเลขหมายโทรคมนาคม โดยให้มีการกำหนดเงื่อนไขการรับคืนกลุ่มเลขหมายดังกล่าวเพิ่มเติม ดังนี้

1. ผู้ส่งคืนเลขหมายฯ จะต้องชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายสำหรับแต่ละเดือนให้ครบถ้วนจนกว่าการคืนเลขหมายจะมีผลสมบูรณ์ และจะต้องวางหนังสือค้ำประกัน (Bank Guarantee) ของค่าธรรมเนียมเลขหมายตามจำนวนที่ส่งคืนให้สำนักงาน กสทช. เป็นระยะเวลา 4 เดือน เพื่อเป็นหลักประกันในการดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดให้ครบถ้วน โดยสำนักงาน กสทช. จะคืนหนังสือค้ำประกันดังกล่าว ภายหลังจากที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย บริษัท ศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด และสำนักงาน กสทช. ดำเนินการจัดทำระบบเพื่อรองรับการคืนเลขหมายฯ แล้วเสร็จพร้อมใช้งาน

2. ให้สำนักงาน กสทช. จัดให้มีบุคคลที่ 3 (Third Party) ตรวจสอบรายละเอียดของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ส่งคืนให้กับสำนักงาน กสทช. โดยหากสำนักงาน กสทช. หรือบุคคลที่ 3 (Third Party) ตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้ส่งคืนเลขหมายฯ แจ้งรายละเอียดของเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ส่งคืนให้กับสำนักงาน กสทช. ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน หรือพบว่าเลขหมายที่ส่งคืนยังมีการใช้งานอยู่แม้เพียง 1 เลขหมาย จะถือว่าการส่งคืนเลขหมายฯ ดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลนับแต่วันที่ผู้ส่งคืนเลขหมายมีหนังสือยืนยันยอมรับเงื่อนไข และสำนักงาน กสทช. จะส่งคืนกลุ่มเลขหมายฯ กลับไปยังผู้ส่งคืนเลขหมายฯ ต่อไป

โดยผู้ส่งคืนเลขหมายฯ จะต้องดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายกลุ่มที่ส่งคืนดังกล่าวย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ผู้ส่งคืนเลขหมายมีหนังสือยืนยันยอมรับเงื่อนไข และจะต้องชำระค่าปรับทางปกครองตามขั้นตอนของกฎหมายตาม ม. 66 พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 รวมทั้งมีความรับผิดทางอาญาตามที่กำหนดไว้ใน ม. 14 ประกอบ ม. 68 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ด้วย

3. ผู้ส่งคืนเลขหมายฯ จะต้องดำเนินการจัดทำระบบเพื่อให้สามารถนำเลขหมายที่สำนักงาน กสทช. รับคืนไว้ มาจัดสรรให้กับผู้ให้บริการรายอื่นได้ในอนาคต โดยหากมีบริษัทในเครือของผู้ส่งคืนเลขหมายฯ มายื่นขอรับการจัดสรรเลขหมาย จะมีการจัดสรรกลุ่มเลขหมายดังกล่าวให้กับบริษัทในเครือก่อนลำดับแรก ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวจะต้องสามารถบริหารจัดการร่วมกับระบบฐานข้อมูลของสำนักงาน กสทช. ได้ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

4. ผู้ส่งคืนเลขหมายฯ จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่สำนักงาน กสทช. จะต้องใช้ในการตรวจสอบรายละเอียดเลขหมายที่มีการส่งคืน และเตรียมสำหรับการบริหารจัดการกลุ่มเลขหมายดังกล่าวในอนาคต

ทั้งนี้ ให้การรับคืนเลขหมายฯ จะมีผลสมบูรณ์เมื่อ กสทช. มีมติรับคืน และสำนักงาน กสทช.ได้รับหนังสือยืนยันยอมรับเงื่อนไขจากผู้ที่ส่งคืนเลขหมายแล้ว โดยที่ประชุมยังได้มีมติให้เร่งรัดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย และบริษัท ศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด ดำเนินการจัดทำระบบเพื่อรองรับการส่งคืนกลุ่มเลขหมายที่แบบไม่เต็มกลุ่มกรณีที่มีผู้ใช้บริการ ตามแนวทางและวิธีการที่สำนักงาน กสทช. เสนอ โดยจะต้องเป็นระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและสามารถบริหารจัดการผลกระทบต่อผู้ใช้บริการได้ ให้แล้วเสร็จภายในไม่เกิน 4 เดือน นับตั้งแต่วันที่ กสทช. มีมติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง