ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดเบื้องหลัง ร้องเรียน "ทุจริตกล้าไม้"

สิ่งแวดล้อม
19 มิ.ย. 61
19:12
1,197
Logo Thai PBS
เปิดเบื้องหลัง ร้องเรียน "ทุจริตกล้าไม้"
กรมอุทยาน ลั่น "ธัญญา"ไร้ทุริตเรียกเงินทอนเพาะกล้าไม้ 53 ล้านกล้าเมื่อปี 2553 คาดเจตนาสร้างความเสียหาย และเสื่อมเสียในสังคม ระบุไม่ใช่ครั้งแรกในช่วงก่อนการโยกย้าย เคยมีคดีฟ้องกลับอดีตข้าราชการรายเก่าที่ร้องเรียนเรื่องเดิม มั่นใจมีเอกสารหลักฐานแจงโปร่งใส

กรณีที่มีผู้ร้องเรียนนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่มีการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณบุคลากรไปเพาะชำกล้าไม้ จำนวน 53 ล้านกล้า และมีการเรียกเงินทอน 50 เปอร์เซ็นต์กล้า เมื่อปี 2553 เมื่อครั้งอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ 

วันนี้(19 มิ.ย.2561) นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นตัว แทนของนายธัญญา ชี้แจงกรณีข้อเท็จจริง โดยยอมรับว่าเรื่องมีการร้องเรียนมาที่กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แต่เป็นเรื่องเก่าผ่านมาประมาณ 8 ปี ที่มีผู้ยื่นร้อง เรียนมาใหม่ โดยอ้างข้อความเป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งสอบผ่านหนังสือร้องเรียน ยังไม่ใช่เอกสารที่วินิจฉัยว่าถูกหรือผิด

จากการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้นได้ดำเนินงานตามขั้นตอนและกระบวนการอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้จริง คือ ช่วงเวลาดังกล่าวกรมป่าไม้ ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพาะชำกล้าไม้ไม่เพียงพอ จึงเสนอโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายจากงบเหลือจ่ายของกรมป่าไม้ประจำปี 2553 จำนวนกว่า 103 ล้านบาท ไปเป็นแผนงานอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

 

สมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานฯ

สมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานฯ

สมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานฯ

 

กรมป่าไม้ได้ดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณดังกล่าว โดยจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ ทั้งสิ้น 221 หน่วยงาน เพาะชำกล้าไม้ทั่วไป จำนวน 51 ล้านต้น เพาะชำกล้าไม้ใหญ่จำนวนกว่า 9 แสนต้น รวมงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 103 ล้านบาท กระจายให้กับประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพาะปลูก จากนั้นจะแจกจ่ายกล้าไม้ในปีถัดไป เพื่อให้แข็งแรงและมีอัตราการรอดถึงร้อยละ 90 ไม่ใช่กำหนดให้แจกจ่ายให้หมดภายในเวลา 1 เดือน

แต่ละขั้นตอนทำด้วยความรอบคอบรัดกุม มีการหารือร่วมกันระหว่างสำนักบริหารกลาง สำนักแผนงานและสารสนเทศ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า ผ่านการพิจารณาจากรองอธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้น ถึง 2 ท่าน และรองอธิบดีกรมป่าไม้ได้มีบันทึกลงวันที่ 3 ส.ค.2553 เพื่อขออนุมัติตามขั้นตอนของทางราชการ ซึ่งต่อมาอธิบดีกรมป่าไม้จึงได้พิจารณาอนุมัติในหลักการตามหนังสือที่เสนอ ดังนั้นอำนาจในการอนุมัติเพื่อโอนเปลี่ยนแปลงงบ จึงเป็นอำนาจของอธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งนายธัญญา เป็นเพียงผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการปลูกป่า เมื่อได้รับข้อสั่งการจากอธิบดีฯ จึงได้ดำเนินการเสนอหนังสือตามขั้นตอนของทางราชการเท่านั้น

 

ส่วนข้อเท็จจริงกรณีเทคนิค และวิธีการ การเพาะชำกล้าไม้ ได้มีการทำโรงเรือนเพาะชำ จะใช้ระบบแบบมีหลังคาซึ่งสามารถป้องกันน้ำฝน ป้องกันการไหลรวมของเมล็ดสามารถป้องกันเมล็ดเป็นเชื้อรา และรากเน่าได้ โดยกล้าไม้ที่นำมาเพาะ เป็นกล้าไม้ที่สำนักวิจัยฯกรมป่าไม้ ได้เก็บสะสมไว้ก่อนเป็นจำนวนมากเพื่องานทดลองศึกษาทางวิชาการ จึงสามารถสนับสนุนเมล็ดไม้สำหรับการเพาะชำในช่วงเวลาดังกล่าวได้ในทันที สำหรับกล้าไม้ที่เพาะไว้ ก็ไม่ได้ดำเนินการแจกจ่ายในทันทีทันใด หรือต้องแจกจ่ายให้หมดภายในระยะเวลา 1 เดือน แต่จะเพาะไว้สำหรับการแจกจ่ายในปีถัดไป 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เรื่องนี้มีการร้องเรียนมาแล้วหลายครั้ง การแก้ไข การอธิบายข้อร้องเรียนทำมาหลายครั้งไม่ใช่ ที่หน่วยงานต้องชี้แจง เป็นเรื่องเก่าทั้งหมด แต่มีการร่องเรียนใหม่ และนายธัญญา ยืนยันว่าไม่ห่วงเรื่องนี้ และบางครั้งที่เคยถูกร้องเรียนก็ได้มีการฟ้องกลับ


เมื่อถามว่าขณะนี้เห็นหนังสือหนังสือร้องเรียนหรือยัง นายสมโภชน์ บอกว่า หนังสือร้องเรียนมีจริง แต่ถ้าจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบในเรื่องนี้ ก็พร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบ เนื่องจากมั่นใจว่ากระบวนการทุกอย่างได้ดำเนินการโดยสุจริต โปร่งใส และถูกต้องตามขั้นตอน และยืนยันว่า ไม่มีการทุจริตเงินทอน 50% ตามที่เป็นข่าวอย่างแน่นอน หากนายธัญญา เป็นคนทุจริตคงไม่มีรายได้เพิ่ม สูง 2,000-3,000 ล้านบาท

ส่วนคำถามที่ว่าในการปลัดมีปัญหากับอธิบดีอุทยานฯหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่า ปลัดคงไม่จงใจสอบอธิบดี แต่เรื่องนี้มาจากการร้องเรียนก็ต้องตรวจสอบ ขณะนี้คงส่งหนังสือถึงรักษาการณ์อธิบดีกรมป่าไม้แล้วซึ่งรายละเอียดทั้งหมด มีการเตรียมประสานขอข้อมูลจากกรมป่าไม้ ทั้งอัตราการรอด ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่นำไปปลูก กล้า ราคาและเอกสารหลักฐานต่างๆเพราะเป็นระบบราชการ หนังสือยังต้องมีอยู่ และพร้อมจะนำไปชี้แจง มั่นใจในจุดนี้เอกสารข้อมูลมีเพียงพอ

เช่นเดียวกับคำถามที่ว่าเรื่องมีนัยหรือไม่ที่บอกว่าร้องเรียนหลายครั้ง แต่ก็ยังถูกหยิบยก เรื่องนี้สื่อรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น วิเคราะห์ได้ และเป็นเรื่องส่วนตัวที่คนเดิมๆ ที่ร้องเรียน แต่ทุกครั้งมีการตรวจสอบ มองว่าการที่ผู้บริหารให้ความโปร่งใสเป็นเรื่องที่ดีสิ่ง ทั้งรัฐบาลและรัฐมนตรีทส.ให้ความสำคัญมาก 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  สำหรับในช่วงที่เกิดปัญหาปี 2553 ตามที่ถูกร้องเรียนมีนายสมชัย เพียรสถาพร เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ และมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรัฐมนตรีทส.

ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลยังพบว่าก่อนหน้านี้ นายธัญญา เคยฟ้องร้องนายสมัคร ดอนนาปี บุคคลที่เคยกล่าวหาเรื่องการทุจริตเพาะชำกล้าไม้มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยได้มีการแจ้งความดำเนินคดีอาญาไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2560 ดังนั้นกรมอุทยานฯ กำลังพิจารณาว่าเนื้อหาเป็นการเจตนาที่มุ่งหวังเพื่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงและเป็นการสร้างความเข้าใจผิดแก่สังคมหรือไม่หากเป็นการจงใจเจตนาให้เกิดความเสียหายก็จะพิจารณาฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้อง 

 อ่านข่าวเพิ่มเติม

"นายกรัฐมนตรี"สั่งตรวจสอบเงินทอนทุจริตเพาะกล้าไม้

ทส.สั่งสอบ "อธิบดีกรมอุทยานฯ" ปมทุจริตงบปลูกป่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง