ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมทรัพยากรธรณี วิเคราะห์ความหนาถ้ำหลวง "เจาะผนังถ้ำ”

สังคม
27 มิ.ย. 61
11:24
13,738
Logo Thai PBS
กรมทรัพยากรธรณี วิเคราะห์ความหนาถ้ำหลวง "เจาะผนังถ้ำ”
ข่าวดีทีมสำรวจเจอโพรงถ้ำปากปล่องใหม่แล้ว ลงสำรวจอย่างละเอียด แต่ยังไม่ยืนยันจะเชื่อมต่อกับจุดของผู้สูญหายทั้ง 13 คนได้หรือไม่ ด้านกรมทรัพยากรธรณี -นักวิชาการ เร่งประเมินความหนาผนังถ้ำ เพื่อให้ทีมเอกชนทดลองหาทางเจาะเข้าช่วยเหลือ

วันนี้ (27 มิ.ย.2561) นายสุวิทย์ โควสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี กล่าววว่า ขณะนี้ทีมนักธรณีวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ ร่วมประชุมตั้ง แต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา เพื่อจัดเตรียมข้อมูลทางด้านธรณีวิทยาและสภาพพื้นที่ของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เข้าช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย ที่ติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังจากเมื่อวานนี้ (26 มิ.ย.) กรมทรัพยากรธรณี ได้เสนอให้ใช้โพรงถ้ำอย่างน้อย 2 จุดในตำแหน่ง A และ B ของถ้ำหลวง เพื่อเข้าช่วยเหลือทั้ง 13 คน พร้อมกับเสนอแนว ทางความเป็นไปได้ในการเจาะปล่องถ้ำ ซึ่งลักษณะทางธรณีวิทยาเขาหินปูนมีศักยภาพในการเจาะได้

ขณะนี้กำลังวิเคราะห์ความหนาของผนังถ้ำ และธรณีสัณฐานของถ้ำหลวงว่ามีความหนาระดับไหนเพื่อส่งต่อให้กับผู้เชี่ยวชาญในการขุดเจาะถ้ำ ตอนนี้มีหลายบริษัทที่มีศักยภาพและอาสาเข้าช่วยเหลือในการขุดเจาะแล้ว  

นายสุวิทย์ ระบุว่าในทางเทคนิคธรณีวิทยาของเขาหินปูนของถ้ำหลวง สามารถใช้วิธีการขุดเจาะได้ง่าย ไม่เสี่ยงที่จะถล่ม แต่ต้องเลือกจุดที่ไม่ใกล้หินงอก หินย้อยในถ้ำ เพราะอาจจะเสียหายได้ ขณะนี้ความเป็นไปได้สูงของจุดที่จะเจาะปล่องถ้ำในตำแหน่ง B แต่ต้องร่วมกับการสำรวจเชิงพื้นที่

ข้อมูลเวลา 15.00 น. ล่าสุด ทีมกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่าขณะนี้กำลังเร่งทำภาพจำลอง 3 มิติจุดโพรงถ้ำจุด เอ และบี และโพรงถ้ำเหนือถ้ำหลวงที่สำรวจพบล่าสุด เพื่อวิเคราะห์ความหนาของผนังถ้ำ เพื่อส่งต่อว่าจุดไหนที่มีความเหมาะสมที่จะเจาะมากที่สุด รวมทั้งหาแนวทางเบนน้ำท่วมถ้ำหลวง โดยเร่งทำให้เสร็จ เพื่อส่งต่อข้อมูลให้กับทีมธรณีในพื้นที่ใช้วางแผนเจาะถ้ำต่อไป

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 9.35 น.ทีมสำรวจของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ร่วมกับ ตชด.เดินเท้าสำรวจปล่องเหนือโพรงถ้ำหลวงแล้ว เดินเข้าพื้นที่ประมาณ 2 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ลองลงไปสำรวจแล้วลึก 10 เมตร พบว่าทางด้านล่างสามารถไปต่อได้ พื้นเป็นทรายชื้น แต่ยังไม่ยืนยันว่าเส้นทางนี้จะทะลุไปถึงถ้ำที่คาดว่าผู้สูญหายติดอยู่ได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้คาดว่าจะมีความสูง 70-80 เมตร เบื้องต้นในการเดินทางยังพบว่าฝนตกหนักเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก 

ทั้งนี้มีรายงานว่า จุดโพรงถ้ำดังกล่าว อาจอยู่บริเวณช่วงโถงพัทยา ลักษณะความกว้างวงรี 30-50  เซนติเมตร ส่วนความลึกเจ้าหน้าที่ใช้ไฟฉายส่อง ยังไม่ระบุได้เพราะมีความมืด ล่าสุดเจ้าหน้าที่นำเชือกยาว 120 ฟุต จำนวน 9 เส้น และอาหารเตรียมเข้าช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิต

 

 

นักวิชาการแนะนำขุดเจาะถ้ำ-ทำได้ไม่เสี่ยงถล่ม

ด้านผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ทีมงานพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือในการเจาะหินหรือเพดานถ้ำบริเวณโถงต่างๆ โดยใช้เสาเข็มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6-8 นิ้ว ซึ่งโดยปกติใช้เพื่อสำรวจหาแร่ ดูลักษณะชั้นหิน ชั้นดิน มีสมรรถนะเจาะได้เร็ว 50 เมตร ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ในระยะทาง 100 เมตร ใช้เวลาเจาะไม่ถึงครึ่งวันแน่นอน

ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ระบุว่า ขณะนี้จีสดา (GISTDA) ทำแผนที่ความละเอียดสูงขึ้นมา เสร็จเมื่อช่วงเวลา 01.00-02.00 น. ส่งเข้าไปในพื้นที่แล้ว เมื่อมีแผนที่ความละเอียดสูง พิกัดต่างๆ ก็จะแม่นยำมากขึ้น หากทีมงานทราบตำแหน่งที่ชัดเจน จะสามารถเจาะได้

โดยใช้เส้นผ่าศูนย์กลางที่เล็กเจาะในแนวดิ่ง เพื่อไม่ให้ถ้ำถล่ม โดยหากเจาะแล้วเจอโถงถ้ำ จะสามารถส่องแสงสว่างเข้าไปเพื่อให้ผู้สูญหายรับรู้ถึงการเข้าช่วยเหลือได้ หรือใส่กล้องขนาดเล็กลอดเข้าไปเพื่อตรวจสอบดูว่ามีผู้สูญหายอยู่หรือไม่ อีกทั้งยังสามารถส่งอาหารเล็ก ๆ ลงไปได้ แต่ต้องดูความปลอดภัยว่าต้องเจาะตำแหน่งไหน ซึ่งลักษณะของตัวถ้ำอยู่ใต้ดินความเสี่ยงที่จะถล่มลงมามีน้อยมาก

 

 

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

กู้ภัยกรมอุทยาน-ตชด.เตรียมโรยตัวลงโพรงถ้ำช่วย 13 ชีวิต

ค้นหาตลอดคืน! ภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงวันที่ 5

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง