ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จี้ 4 นักลงทุน “ขอโทษ-ยุติ-ชดเชยชาวลาว” เซเปียนแตก

ภัยพิบัติ
9 ส.ค. 61
12:51
1,656
Logo Thai PBS
จี้ 4 นักลงทุน “ขอโทษ-ยุติ-ชดเชยชาวลาว” เซเปียนแตก
ไทย-เกาหลี จัดเวทีคู่ขนาน ออกแถลงการณ์ 3 ข้อจี้บริษัทลงทุนสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แตกในลาว ออกมาขอโทษประชาชนอย่างเป็นทางการ พร้อมต้องยุติเดินหน้าสร้างเขื่อนต่อ และชดเชยความสูญเสียให้ประชาชนอย่างเป็นธรรม

วันนี้ (9 ส.ค.2561) เวทีสนทนาประชาชนเขื่อนในลาว (แต่)ไม่ใช่เขื่อนลาว จัดโดยเครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว (LDIM) โดยมีตัวแทนชาวบ้าน นักวิชาการร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น โดยวันนี้ภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ ได้จัดเวทีคู่ขนานที่กรุงโซล และเวทีของไทย เพื่อออกแถลงการณ์ 3 ข้อกรณีข้อเสนอแนะเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในลาวแตก

โดยขอให้หยุดการก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งไม่มีความชอบธรรมที่จะเดินหน้าสร้างให้แล้วเสร็จ เพื่อผลิตไฟฟ้าขายส่งในไทย เนื่องจากคร่าชีวิตคน 35 ชีวิตถือเป็นสัญลักษณ์แห่งโศกนาฏกรรมและรัฐบาลลาวต้องทบทวนการลงทุนใหม่ ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลลาวจะประกาศเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมาว่าจะตรวจสอบเขื่อนทั้งหมด ทบทวนยุทธศาสตร์โรงไฟฟ้าพลังน้ำแต่ยังไมรู้ว่าถึงขั้นตอนไหน

 



ประเด็นที่ 2 ต้องการให้บริษัทผู้ลงทุนสร้างเขื่อนแห่งนี้คือเกาหลี 2 แห่ง ไทย รัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว ต้องออกมากล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการ เพื่อแสดงการยอมรับในความรับผิดชอบของบริษัทที่รับประโยชน์จากการลงทุนที่มีต่อชาวลาว และทรัพยากรที่เสียหาย และประเด็นที่ 3 การจ่ายชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแตกอย่างเป็นธรรมเพราะท่าทีในตอนนี้คือการปฏิเสธและผลักภาระบริษัทให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ

ผลกระทบเขื่อนแตกรุนแรง-ไร้คำเตือนน้ำท่วมกัมพูชา

นางสมปอง เวียงจันทร์ ผู้นำชาวบ้านกรณีเขื่อนปากมูล กล่าวว่า เคยเดินทางไปเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยน้อยในช่วงระหว่างก่อสร้าง พบปัญหาที่คนลาวเจอคือการปิดกั้นข้อมูล ทำให้ไม่มีการออกมาคัดค้านเขื่อน สาเหตุเพราะกลัวต่ออำนาจของรัฐบาล

นายเมียด เมียน ชาวบ้านในลุ่มน้ำเซกอง เซซาน และสเรป็อก ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า เนื่องจากเมืองเซียมปาง อยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำเซกอง และเป็นเขตต่อกับแขวงอัตตะปือ ของลาว ทำให้มีผลกระทบกับชาวบ้านประมาณ 4,000 คนใน 17 หมู่บ้านได้รับความเสียหายจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยของลาวแตก

 

 

ชาวบ้านไม่ได้รับการแจ้งเตือนจากทางการลาว และทางกัมพูชา แต่บางคนที่รู้ข่าวใช้การโทรศัพท์มาแจ้งกัน ทำให้ไม่มีคนเสียชีวิต แต่พื้นที่การเกษตร สัตว์เลี้ยงได้รับความเสียหาย เพราะระดับน้ำไหลแรงและท่วมสูง ไหลเข้าถึงเมืองเชียมปางตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.-2 ส.ค.ที่ผ่านมาระดับน้ำเพิ่งลดลง และการเยียวยาความเสียหายยังไม่ชัดเจน

นายเมียด เมียน ระบุว่า ในอนาคตอยากให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ต้องมีระบบการเตือนภัยเขื่อนแตกในลุ่มน้ำโขง รวมทั้งอยากให้รัฐบาลลาว ควรต้องตัดสินใจสร้างเขื่อนโดยคำนึงถึงผลกระทบกับประเทศในลุ่มน้ำโขงมากกว่านี้ โดยเฉพาะผลกระทบกับคนลาว ที่อาจต้องอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่นๆ หลังจากมีน้ำท่วมมีคนตาย

 

 

ชี้เขื่อนตกยุค-จี้บริษัทรับผิดชอบเขื่อนลาวแตก


ส่วนนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า การก่อสร้างเขื่อนถือว่าตกยุคแล้วในปัจจุบัน กรณีเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก กระบวนการออกมาแสดงความรับผิดชอบ และดูแลจากทางบริษัททั้ง 4 แห่งที่เป็นเจ้าของโครงการยังแย่มาก โดยเฉพาะกรณีบริษัทของไทย ที่ออกมาพูดหลังเขื่อนแตกไม่นาน บอกว่าจุดที่แตกยังทำต่อได้ การสร้างต่อเป็นการส่งสัญญาณว่ากลุ่มผู้สร้างเขื่อนคิดอะไรมีความเป็นมนุษย์หรือไม่ คนกำลังตายน้ำท่วมบ้านเมือง แต่ยังบอกว่าจะสร้างต่อ อยากถามว่าธรรมาภิบาลบริษัทอยู่ที่ไหน แค่บอกว่าจะเดินหน้าต่อตรงนี้ถือว่าแย่ที่สุดแล้ว

 

เขื่อนฆ่าพ่อแม่พี่น้องของเขา ทำลายแผ่นดินเกิด แต่ยังบอกว่ากลับมาสร้างได้อีกหรือ ถ้ารัฐบาลลาวยังปล่อยให้กลับมาสร้างได้อีก นี่ไม่ใช้รัฐบาลลาวแล้วแต่เป็นรัฐบาลของบริษัท ตอนนี้บริษัทต้องออกมารับผิดชอบ และหยุด และบอกว่าจะรับผิดชอบ จะฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายที่เกิดกับชีวิต และฐานทรัพยากรที่สูญเสียอย่างไร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง