ธุรกิจลิสซิ่ง (เช่าซื้อรถยนต์) แฟกตอริ่ง (ซื้อหนี้ลูกหนี้การค้า) สินเชื่อทะเบียนรถ และ พิโกไฟแนนซ์ อาจเรียกรวมๆ ว่า “นอนแบงก์” ที่หลายคนเชื่อว่าเสียดอกเบี้ยต่ำกว่ากู้นอกระบบ และกู้ได้สะดวก แค่เอาทะเบียนรถไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันก็เบิกเงินสดไปได้
แต่ในความเป็นจริงดอกเบี้ยที่จ่ายกลับแพง ไม่ต่างจากหนี้นอกระบบ เพราะใช้วิธีคำนวณดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมซับซ้อน จนบางทีคนกู้จ่ายแพงเกินไปโดยไม่รู้ตัว แม่มีการร้องเรียนกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. แต่กลับได้รับคำตอบว่า ดูแลแต่สัญญาเช่าซื้อ ไม่ได้ดูแลธุรกิจให้กู้เงินสด
ธุรกิจนอนแบงก์ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด แต่ไร้กรอบและกฎกำกับดูแลชัดเจน รัฐจึงต้องการเข้ามากำหนดกติกาให้ตรงไปตรงมา คนกู้ไม่สับสน กระทรวงคลังจึงต้องยกร่างกฎหมายมาคุม
อะไรที่ต้องกำหนดในกฎหมาย
ชัดเจนเลย คือ การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับธุรกิจ ค่าปรับ ค่าทวงถามหนี้ ต้องลดลง และอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ จำเป็นต้องบวกอะไรเพิ่มหรือไม่ต้องกำหนดไว้เลย มีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล ตั้งสำนักงานมาขับเคลื่อน ดูแลอย่างเป็นธรรม ที่สำคัญ คือ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องขึ้นทะเบียนและต้องได้รับอนุญาตจึงจะประกอบธุรกิจได้
การให้ขึ้นทะเบียนยังทำให้ภาครัฐได้ข้อมูลสำคัญ อะไรที่เคยอยู่นอกระบบก็จะมาอยู่ในระบบ ได้ข้อมูลผู้ให้กู้ ได้ข้อมูลผู้กู้ เป็นประโยชน์กับการใช้ข้อมูลในอนาคต เพื่อวางนโยบายให้ตรงกับข้อเท็จจริง
ไม่ต้องห่วง...ธุรกิจให้กู้
ถ้ากฎหมายออกมา กำหนดบังคับดอกเบี้ยกับค่าธรรมเนียม คนปล่อยกู้รายย่อยคงมีรายได้น้อยลงแน่ แต่ถ้ารายใหญ่ที่รับรู้มานานว่าจะมีกฎหมายนี้ เตรียมทางหนีทีไล่เรียบร้อยแล้ว
อุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส อธิบายยกตัวอย่างจริงกับธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ เป็นบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่
จากเดิมบางรายมีรายได้จากดอกเบี้ย 15% บวกค่าธรรมเนียมอื่นอีก 8% รวมเป็น 23% หาวิธีทำอย่างไรให้รายได้ไม่ลด ไม่ให้เกิดคำถามจากผู้ถือหุ้น อาจพอยกตัวอย่างแบบนี้
แบบแรก...สินเชื่อถูกโยกไปให้บริษัทเงินทุน หรือ บง.ที่เป็นบริษัทในเครือปล่อยกู้แทน โดยเป็นบริษัทภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้ทะเบียนรถค้ำประกันเหมือนเดิม จุดดี คือไม่ถูกกำหนดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ เปิดช่องให้ยังรักษารายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
แบบที่สอง...ปล่อยสินเชื่อโดยแยกกู้เงินสองสัญญา สัญญาแรกกู้ยืมด้วยดอกเบี้ย 15%ตามกฎหมาย ใช้ทะเบียนรถค้ำประกัน อีกสัญญาเป็นการกู้แบบนาโนไฟแนนซ์ ไม่ต้องมีหลักประกัน แต่เพดานดอกเบี้ยขยายได้ถึง 36% ตามระบบนาโนไฟแนนซ์
สองรูปแบบนี้ เริ่มใช้จริงแล้ว บริษัทใหญ่ เตรียมการพร้อมรับกฎหมายใหม่ทันที และยังมีช่องทางกำไรได้ไม่ต่างจากเดิม และ “กำไรคือการชาร์จจากลูกค้า”
ตัวอย่างที่ยกขึ้นมา ชี้ให้เห็นช่องทางวิธีการเลี่ยง หรือการคำนวณที่ซับซ้อน ของธุรกิจให้กกู้ในกลุ่มนอนแบงก์ แม้จะมี พ.ร.บ.มาควบคุม ธุรกิจก็ยังมีช่องทางรีดดอกเบี้ยเกินควรอยู่ดี อย่างไรก็ตาม การมี พ.ร.บ.ยังมีข้อดี อย่างน้อยเป็นการกำหนดเจ้าภาพ หรือคณะกรรมการมาควบคุมชัดเจน ในอนาคตน่าจะมาดูแลอย่างจริงจัง พอเป็นความหวังว่าจะช่วยสกัดกั้นกลยุทธ์หลีกเลี่ยงกฎหมาย เพื่อไม่ให้ลูกค้า ถูกเอาเปรียบมากเกินไป
พิมพิมล ปัญญานะ @pim_punyana