"ชุดเหยี่ยวดง" บุกยึดสัตว์ป่าคุ้มครองกว่า 20 ตัว

Logo Thai PBS
"ชุดเหยี่ยวดง" บุกยึดสัตว์ป่าคุ้มครองกว่า 20 ตัว
"ชุดเหยี่ยวดง" ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บุกยึดสัตว์ป่าหายากกว่า 20 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์เผือกที่คนบางกลุ่มนิยมครอบครอง แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามหยุดขบวนการค้าสัตว์ป่าออนไลน์ แต่สถานการณ์ค้าสัตว์ป่าออนไลน์ยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (5 ต.ค.2561) แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแต่ความนิยมเรื่องการครอบครองสัตว์ป่า ไม่ได้หมดไป ตรงกันข้ามการค้าซื้อขายสัตว์ป่าทางออนไลน์ยิ่งเติบโตขึ้น เมื่อวานนี้ชุดเหยี่ยวดงของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตรวจค้นบริษัทแห่งหนึ่งพบสัตว์ป่ามากกว่า 20 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์เผือกที่คนบางกลุ่มนิยมครอบครองเพราะหายาก ทั้งๆที่พวกมันจะอ่อนแอกว่าสัตว์เป็นปกติ


ลิงแสมเผือก 2 ตัว เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดพันธุ์แรกจาก 9 ชนิดพันธุ์ที่ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า หรือ เหยี่ยวดง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตรวจพบ หลังจากเข้าตรวจค้นบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางนา กรุงเทพ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา


ภายในบริษัทเจ้าหน้าที่พบสัตว์ป่าคุ้มครอง รวม 21 ตัว มีเม่น 1 ตัว , อีกาเผือก 1 ตัว กาเหว่าเผือก 2 ตัว นกเอี้ยงสาริกาเผือก 1 ตัว นกเอื้ยงหงอนเผือก 1 ตัว เต่าบัว 7 ตัว เต่าหับ 1 ตัว นอกจากนั้นยังพบนกปรอดหัวโขน 5 ตัว


ก่อนส่งลิงแสมเผือกให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ ต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจหาโรค ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานตามขั้นตอน หลังจากตรวจยึดสัตว์ป่าของกลาง

เนื่องจากผู้จัดการบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นผู้นำตรวจค้นให้การกับเจ้าหน้าที่ว่า ไม่มีเอกสารการอนุญาตให้ครอบครองสัตว์ป่า จึงถุกแจ้งข้อหาฐานมีสัตว์ป่าคุ้มครอง มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และยึดสัตว์ป่าทั้งหมดเป็นของกลาง


นุวรรต ลีลาพตะ รองหัวหน้าชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง บอกว่า ปกติสัตว์เผือกมักไม่แข็งแรง หรือโครโมโซมผิดปกติ แต่ลิงแสมเผือก 2 ตัวนี้แข็งแรงดีมากและสัตว์เผือกโดยเฉพาะสัตว์ป่ามักมีราคาซื้อขายสูงกว่าสัตว์ทั่วไปถึง 2 เท่าตัว ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้สูงนิยมหามาครอบครอง

ภารกิจหลักของชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง คือ การปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าทั้งในตลาดมือดและในสื่อออนไลน์


ข้อมูลจากองค์กรต่อต้านอาชญากรรมสัตว์ป่าและการค้าสัตว์ป่า หรือ ทราฟฟิก ระบุว่า จากการสำรวจพบว่า ตลาดค้าสัตว์ป่าออนไลน์ในประเทศไทยเฟื่องฟูมาก และไทยได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของการค้าสัตว์ป่ามานาน

ทั้งนี้ 2 ปีที่ผ่านมามี 12 กลุ่มในเฟซบุ๊กที่มีความเคลื่อนไหวประกาศค้าขายสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง สมาชิกในกลุ่มโพสขายสัตว์ป่าทั้งชนิดพันธุ์คุ้มครองและไม่คุ้มครองตามกฎหมาย รวมถึงชนิดพันธุ์ต่างประเทส โดยมีบางกลุ่มเปลี่ยนสถานะเป็นกลุ่มปิดจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง