สิ้นตำนานนักปั้นนางงาม "ศรีเวียง ตันฉาย"

Logo Thai PBS
สิ้นตำนานนักปั้นนางงาม "ศรีเวียง ตันฉาย"
วงการนางงามเพิ่งสูญเสียนักปั้นนางงามคนสำคัญ "ศรีเวียง ตันฉาย" ที่จากไปด้วยในวัย 80 ปี ผลงานกว่า 30 ปี ปั้นสาวงามมาประดับวงการนางงามมากมาย ทำให้ "ศรีเวียง" เป็นที่ยอมรับในฐานะนักปั้นคนสำคัญผู้มีสายตาแหลมคม

แม้ว่าอยู่กับป้าศรีเวียงเพียงไม่กี่ปี แต่สิ่งที่ "ป้าศรีเวียง ตันฉาย" ถ่ายทอดให้อดีตนางงามในสังกัดจากลพบุรีคนนี้ ทั้งฝึกเดิน ไหว้ ยืน และฝึกมารยาท ไปจนถึงให้วิธีคิด ทำให้ "ฉัตรวิไล สินธุไชย" ไปถึงฝั่งฝันด้วยการคว้าตำแหน่งนางสาวเชียงใหม่ ปี 2543 เป็นความประทับใจและระลึกถึงเสมอ นี่จึงเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้มาแสดงความอาลัยในงานสวดพระอภิธรรมของนักปั้นนางงามคนสำคัญที่วัดลาดพร้าว ความรักในบทบาทนักปั้นนางงาม ยังสะท้อนผ่านลูกๆ ที่เห็นแม่ทุ่มเทให้กับการส่งนางงามประกวด ตั้งแต่เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ด้วยสายตาอันแหลมคม เฟ้นหาช้างเผือกมาโดดเด่นบนเวทีนางงาม ทำให้ได้ฉายา "อินทรีย์อีสาน" ไม่เพียงสอนปรับบุคลิก "ป้าศรีเวียง" ยังทุ่มเทตัดเย็บและปักชุดประกวด รวมถึงแต่งหน้าให้นางงามของตัวเองแทบทุกคน โดยมี ลูกสาว บุษบา เป็นลูกมือ และลูกชายช่วยขับรถเมื่อครั้งเดินสายประกวดทั้ง 4 ภาค

มีคนบันเทิงไม่น้อยที่เคยผ่านมือ "ศรีเวียง ตันฉาย" ในฐานะครูฝึกบุคลิกก่อนเข้าวงการ ทั้ง "เอ๊ะ อิศริยา" รวมถึงอดีตนางงามที่หันไปเป็นนักแสดง เช่น "ดวงเดือน จิไธสงค์" รองอันดับ 1 นางสาวไทย ปี 2530 และ "รักษ์สุดา สินวัฒนา" โดยจุดเด่นของการส่งนางงามค่าย "ป้าศรีเวียง" คือจะเลือกเด็กสาวที่ "สูงมาก่อนสวย" เพื่อให้ดูโดดเด่นบนเวที และจะส่งนางงามทีละหลายคน ซึ่งมักเข้ารอบลึกอยู่เสมอ และยังได้ชื่อว่าเป็นนักปั้นนางงามที่เก่งในเชิงพาณิชย์ด้วย เนื่องจากนางงามในสังกัดมักได้คาดสายสะพายสปอนเซอร์เวทีอยู่บ่อยๆ

ฉายานักปั้นนางงาม "ศรีเวียงอินทรีย์อีสาน" มาเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการส่งนางงามในสังกัดคว้าตำแหน่งชนะเลิศ และรองอันดับ 1 บนเวทีเดียวกัน คือเวทีนางสาวไทยปี 2533 ไม่เพียงเป็นนักปั้นมือทอง แต่ "ป้าศรีเวียง" ยังมีกลยุทธ์ทำให้นางงามเป็นที่จดจำได้ง่ายขึ้น ด้วยการตั้งฉายา เห็นได้จากนางสาวไทย ปี 2533 "ภัสราภรณ์ ชัยมงคล" ปีนั้น ป้าศรีเวียง ตั้งฉายาให้ว่า "หมวยอินเตอร์" เพราะมีใบหน้าหมวยๆ และเตรียมบินไปประกวดที่ต่างประเทศ ปีนั้นสื่อมวลชนในไทยให้ความสนใจมาก และเมื่อบินไปเก็บตัวที่ในเวทีนางงามจักรวาลปี 2533 ก็กลายเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลพิเศษ คือ "ขวัญใจช่างภาพ"

ป้าศรีเวียง มักพูดเสมอว่า การส่งนางงามประกวดไม่เพียงหวังชัยชนะเท่านั้น แต่มองว่านี่เป็นการสร้างโอกาสให้กับคนที่ต้องการโอกาส ด้วยการเอา "ช้างเผือกในป่ามาประกวดบนเวทีสาวงาม" ซึ่งเรื่องของระเบียบวินัยเป็นสิ่งที่ "ป้าศรีเวียง" ให้ความสำคัญที่สุด นางงามทุกคนในค่ายต้องเรียนหนังสือ และฝึกฝนวินัยด้วยการมาเก็บตัวกับป้าศรีเวียงที่บ้านพักย่านโชคชัย 4 จนใกล้ชิดผูกพันเหมือนคนในครอบครัว

หลังจากนี้ ครอบครัวของป้าศรีเวียง จะรวบรวมถ้วยรางวัลจากเวทีประกวดที่ป้าศรีเวียงเก็บไว้ และชุดราตรี ชุดไทย ที่ตัดเย็บให้นางงามใส่บนเวที เป็นห้องจัดแสดงภายในบ้าน เพื่อให้ลูกหลานและคนในวงการนางงามได้มาระลึกถึง สำหรับพิธีสวดพระอภิธรรมศพ จะมีถึงวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายนนี้ และฌาปนกิจในวันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน ที่วัดลาดพร้าว

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง