ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ประธาน ส.อ.ท. ขอหยุดหาเสียง "เพิ่มค่าแรง" เศรษฐกิจดีค่าแรงจะสูงขึ้นเอง

การเมือง
18 มี.ค. 62
19:45
844
Logo Thai PBS
ประธาน ส.อ.ท. ขอหยุดหาเสียง "เพิ่มค่าแรง" เศรษฐกิจดีค่าแรงจะสูงขึ้นเอง
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่าพรรคการเมืองต้องยกเลิกนำการปรับขึ้นค่าแรงมาใช้ในการหาเสียง เพราะกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ต้องปิดกิจการเนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหว

วันนี้ (18 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง หลายพรรคการเมืองแสดงวิสัยทัศน์ชูแนวคิดเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวระหว่างเวทีดีเบตทิศทางอุตสาหกรรมไทย ว่านโยบายพรรคจะเดินหน้าปฎิรูปภาคอุตสาหกรรมสู่เทคโนโลยีอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟ้า ควบคู่กับอุตสาหกรรมสีเขียว และเสนอนโยบายประกันรายได้ลูกจ้างอยู่ได้ นายจ้างไม่เดือดร้อน จะให้คูปองและนโยบายภาษีจูงใจผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมจ้างงานนักอาชีวะจบใหม่

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่าต้องการปรับระบบราชการ ปราบคอร์รัปชันและการแก้ขไกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อโรงงาน รวมถึงวางยุทธศาสตร์เจรจาการค้าระหว่างประเทศ พร้อมพัฒนาทักษะแรงงานมีฝีมือและเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทและขึ้นเงินเดือน 18,000 บาท สำหรับปริญญาตรี

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เสนอว่าแรงงานต้องเพิ่มทักษะรองรับเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มค่าแรงแบบไต่ระดับจาก 325 บาทไปสู่ 425 บาทภายใน 3 ปี รวมทั้งผลักดันการยกเลิกภาษีผู้ประกอบการออนไลน์ รวมทั้งนักศึกษาจบใหม่ไม่ต้องเสียภาษี 5 ปีแรก

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า จะตั้งคณะทำงานศึกษาวิจัยค้นคว้าเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป เพื่อสร้างให้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกได้ภายใน 10 ปี ข้างหน้า และจะสร้างธุรกิจใหม่ทั้งรถเมล์และรถไฟฟ้าที่ภาคอีสาน ทำให้เกิดการจ้างงาน เกิดการกระจายรายได้

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองประธานงานแรงงาน ส.อ.ท. ระบุว่าไม่ต้องการให้นำนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างมาเป็นนโยบายหาเสียง เพราะส่งผลกระทบกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างแบบลอยตัวตามทักษะแรงงาน

เรามองว่าเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ มันเป็นประเด็นของการเมืองมาโดยตลอด ต้องยอมรับว่าทุกพรรคก็ให้นโยบายนี้ แต่เรามองว่าค่าแรงจะสูงขึ้นไม่ได้เกิดจากการกำหนด แต่เกิดจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ถ้าเศรษฐกิจดี ค่าแรงจะสูงขึ้นเอง

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำต้องดูผลกระทบต่อธุรกิจด้วย โดยเฉพาะธุรกิจพลาสติก สิ่งทอ รองเท้า เครื่องแต่งกายและเครื่องหนัง เพราะยังใช้การผลิตแบบเดิม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง