เลือกตั้ง 2562 : กกต.ชี้แจงตัวเลขปริศนา เลือกตั้ง' 62

การเมือง
29 มี.ค. 62
20:03
3,744
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง 2562 : กกต.ชี้แจงตัวเลขปริศนา เลือกตั้ง' 62
หลัง กกต.แถลงตัวเลขเกี่ยวกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ ทั้งพรรคการเมืองและประชาชนต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเลข 4 ชุด ล่าสุด พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่าตัวเลขดังกล่าวอาจเกิดจากการนับคะแนนคลาดเคลื่อนแต่ยืนยันว่า กกต.ไม่ได้ตกแต่งตัวเลข
  • ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 38,268,375 - บัตรใช้เลือกตั้ง 38,268,366
    = บัตรที่ใช้เลือกตั้งหายไป 9 ใบ
  • บัตรที่ใช้เลือกตั้ง 38,268,366 - (บัตรดี 35,532,645 + บัตรเสีย 2,130,327 + บัตรไม่เลือกใคร 605,392
    บัตรที่ใช้เลือกตั้งหายไป 2 ใบ 
  • คะแนนรวมทุกพรรค 35,532,647 - บัตรดี 35,532,645 
    จำนวนคะแนนเกินจำนวนบัตร 2 คะแนน
  • ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง (28 มี.ค. 62) 38,268,375 - ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง (24 มี.ค. 62) 33,775,230
    เพิ่มขึ้นจากที่แถลงวันที่ 24 มี.ค. 4,493,145 คน

จากกรณีบัตรคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงถึงตัวเลขเกี่ยวกับการเลือกตั้งวานนี้ พบว่า ทั้งพรรคการเมืองและประชาชนต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเลข 4 ชุด โดยเฉพาะตัวเลขผู้มาใช้สิทธิกับตัวเลขบัตรที่ถูกใช้ไปไม่ตรงกัน คือ ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 38,268,375 คน ขณะที่จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ 38,268,366 ใบ ซึ่ง จำนวน 9 ใบ ซึ่งนายกฤช เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจงว่า อาจเป็นบัตรเขย่ง

ล่าสุด วันนี้ (29 มี.ค.2562) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า กรณีตัวเลขผู้มาใช้สิทธิกับบัตรเลือกตั้งที่ใช้มีส่วนต่างกันในจำนวน 9 ใบ อาจเป็นไปได้ว่าตัวเลขของการนับมีความคลาดเคลื่อน แต่ยืนยันว่า กกต.ไม่ได้ตกแต่งตัวเลข และไม่มีผลกระทบต่อคะแนนผู้สมัคร ก่อนจะย้ำว่าจะมีการตรวจสอบหากความผิดพลาดและแก้ไขต่อไป


ด้านนางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์เกี่ยวกับกรณีนี้ โดยระบุว่า กรณีบัตรเขย่งนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งทั้งปี 2550 และ 2554 ซึ่งเป็นกรณีที่อาจเกิดจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเข้าคูหา กาบัตรแล้ว แต่ไม่ได้หย่อนบัตรเลือกตั้งลงหีบ จึงทำให้ตัวเลขต้นขั้วบัตรกับบัตรเลือกตั้งในหีบนั้นไม่เท่ากัน

ก่อนหน้านี้แม้จะเกิดกรณีบัตรเขย่งขึ้นแต่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก เนื่องจากการคิดคะแนนของ ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อแยกกันอย่างชัดเจน คะแนนของผู้ที่ได้อันดับ 1 ของ ส.ส.เขตมีความสำคัญมากที่สุด แต่ครั้งนี้แตกต่างกัน

เมื่อก่อนแต่ละหน่วยนับคะแนน หากผู้ที่ได้ที่ 1 คะแนนห่างจากที่ 2 หลักหมื่น บัตรหายไป 1-2 ใบก็อาจไม่ส่งผล แต่ครั้งนี้ หายไป 9 ใบ ก็มีความหมายกับเก้าอี้ ส.ส. เพราะต้องนำคะแนนจากผู้สมัครทุกคนมาคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

สำหรับกรณีนี้ผู้ที่นำบัตรเลือกตั้งออกจากคูหานั้นเป็นการกระทำผิดกฎหมาย แต่อาจไม่สามารถหาผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่นำบัตรออกไปจากคูหาได้ ขณะที่กรรมการประจำหน่วยอาจมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากในวันเลือกตั้งอาจไม่ได้ตรวจสอบและดูแลหน่วยเลือกตั้งอย่างมีประสิทธิภาพ

กกต.ต้องสอบถามไปที่เขต จังหวัด ให้ตรวจสอบโดยละเอียด อาจนับคะแนนใหม่เนื่องจากบัตรอาจพับซ้อนกันอยู่ หรืออาจตกค้างอยู่ในหีบเลือกตั้ง


ส่วนกรณีตัวเลขอื่นๆ ที่ไม่ตรงกัน ทั้งตัวเลขผลรวมของบัตรดี บัตรเสีย และบัตรไม่เลือกผู้สมัครคนใด ต่างจากบัตรที่ใช้ในการเลือกตั้งทั้งหมดอยู่ 2 ใบ รวมทั้งคะแนนรวมของทุกพรรคการเมืองมากกว่าบัตรดีอยู่ 2 คะแนนนั้น นางสดศรี ระบุว่า อาจมีการพิมพ์ข้อมูลผิด ซึ่งก่อนแถลงข่าว กกต.ควรตรวจสอบข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อน ไม่ควรปล่อยให้ตัวเลขผิด แต่หากบอกว่ากระบวนการนับคะแนนบกพร่อง ต้องตรวจสอบอีกครั้งว่ามีความผิดพลาดในส่วนใด

ผู้ใช้สิทธิเพิ่มขึ้นกว่า 4 ล้านคนได้หรือ ?

ตัวเลขที่เป็นประเด็นคำถามจากทั้งพรรคการเมืองรวมถึงประชาชนอีกชุด วันนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ได้ชี้แจงว่า ตัวเลขบัตรเลือกตั้งที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น 4,493,145 ฉบับ มาจากการคิดคำนวนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต-ในเขต และนอกราชอาณาจักร ซึ่งนำมารวมกันร้อยละ 7 ที่เหลือ 

ไทยพีบีเอสตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังเมื่อวันที่ 22 มี.ค. หลังการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 17 มี.ค. พบว่า กกต.แถลงจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า จำนวน 2,289,555 คน ขณะที่เมื่อวันที่ 24 มี.ค.กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 94 แห่ง 67 ประเทศ เป็นจำนวน 101,003 คน ซึ่งเป็นอัตราส่วนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ หากนำมารวมกันพบว่า มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกราชอาณาจักร จำนวน 2,390,558 คน ซึ่งต่ำกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นมา 2,102,587 ใบ

(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : กกต.แจงปมผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเพิ่มกว่า 4 ล้านคน)

ขณะที่ นางสดศรี ระบุว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาของไทยนั้น หลังจากปิดหีบจะมีการประกาศตัวเลขผู้มาใช้สิทธิ 100% เพราะบัตรเลือกตั้งทั้งหมดต้องนำมานับคะแนนพร้อมกัน ทั้งนี้ สิ่งสำคัญ คือ การสื่อสารระหว่าง กกต.กับประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา กกต.ชุดปัจจุบันอาจไม่ได้สื่อสารข้อมูลให้ประชาชนได้ทราบทั้งหมด แต่ชี้แจงเพียงบางส่วนเท่านั้น จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวจากทางภาคประชาชน โดยเฉพาะการยื่นถอดถอน กกต. ซึ่งในกรณีนี้ หากมีการถอดถอนจริง อาจไม่ส่งผลกระทบถึงขั้นเลือกตั้งเป็นโมฆะ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องค้างอยู่อย่างนี้ไปกับรัฐบาล คสช.

ประชาชนหวังจะเห็นการเลือกตั้งครั้งนี้สำเร็จ และอยากให้เกิดรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมา แต่คีย์แมนสำคัญที่จะทำให้การเลือกตั้งดำเนินต่อไปจนสำเร็จได้ ก็คือ กกต. 

กกต.เป็นหน่วยงานสาธารณะที่ต้องพร้อมจะให้ข้อมูลแก่ประชาชนได้อย่างถูกต้องและชัดเจน อธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่า 1+1 เป็น 2 ไม่ใช่ 1+1 เป็น 20 หากไม่เช่นนั้นความไม่พอใจของประชาชนจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ย้อนรอยรายงานผลเลือกตั้งในอดีต ทำไมไม่มีปัญหา?

ก่อนหน้านี้ได้มีการวางแผนเพื่อจัดทำการรายงานผลนับคะแนนอย่างรวดเร็วไว้ แต่เมื่อปีนี้นำมาใช้จริง กกต.ควรทดสอบระบบก่อนวันเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชนก่อน ว่าระบบรายงานผลคะแนนดังกล่าวมีประสิทธิภาพ ไม่ควรนำมาใช้จริงในวันเลือกตั้ง จนเมื่อเกิดระบบขัดข้องก็ทำให้การรายงานผลคะแนนมีปัญหาในบางชวง

ขณะที่สมัยก่อน กกต.จะจ้างหน่วยงานอื่นรายงานผลไปควบคู่กับการรายงานผลของ กกต.ทั้งองค์กรเอกชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถาบันการศึกษาหลายสถาบันต้องร่วมกันรายงานผล เพื่อจะได้สามารถตรวจสอบตัวเลขกันได้

เมื่อก่อนรายงานกันทางโทรศัพท์ กกต.ประจำหน่วยจะโทรมารายงานที่ศูนย์ กกต.ทุกๆ 1 นาที บางส่วนก็ส่งแฟกซ์มา บางครั้งระบบคอมพ์อาจไม่อัพเดตหรือยังไม่มีสมรรถภาพเพียงพอ ใช้ระบบโบราณอาจจะดีกว่า

นอกจากนี้ อดีต กกต.ยังระบุว่า การทำงานในวันเลือกตั้งเมื่อปี 2550 และปี 2554 จะมีชาวต่างชาติมารับรองการทำงานและผลการเลือกตั้งทั้งองค์กรอิสระต่างๆ และเจ้าหน้าที่จากสถานทูต ขณะที่ กกต.ประจำหน่วยจะเซ็นรับรองไว้ และมีการตรวจสอบผลโดยมนุษย์ทุกขั้นตอน 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง2562 : กกต.ไขข้อข้องใจ "บัตรเขย่ง" 

ศรีสุวรรณ ชี้ "บัตรเขย่ง" ไม่มีในกฎหมาย

เลือกตั้ง 2562 : กกต.เปิดคะแนนดิบ 81 พรรค 100 %

เลือกตั้ง 2562: เช็กด่วน! กกต.ประกาศคะแนน ส.ส.รายจังหวัด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง